วธ.เดินหน้าจับมือ อว. เฟ้นหานวัตกรรมวัฒนธรรม วิจัย ความคิดสร้างสรรค์ ขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) สร้างภาพลักษณ์ การยอมรับ และภาคีเครือข่ายในระดับโลก เตรียมประชุมระดมความเห็นทุกภาค จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายทำแผนปฏิบัติความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมและระบบนิเวศนวัตกรรมทางวัฒนธรรมด้วยการวิจัยและนวัตกรรม (พ.ศ. ๒๕๖๕ - ๒๕๗๐)
วันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๕ นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมและระบบนิเวศนวัตกรรมวัฒนธรรมด้วยการวิจัยและนวัตกรรม ระหว่างกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยมี ดร. ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัด วธ. และศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. เป็นผู้ลงนาม ณ ห้องแกลอรี่ ๕ ชั้น ๑ หอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จากนั้นมีการเสวนา ในหัวข้อ "การพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมด้วยการวิจัย และนวัตกรรม" โดยมีวิทยากร ๔ คน ประกอบด้วย ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.), นางวิรยาร์ ชำนาญพล ผู้อำนวยการกลุ่มระบบสารสนเทศมรดกศิลปวัฒนธรรม ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศมรดกศิลปวัฒนธรรม กรมศิลปากร , นายกรกต อารมย์ดี ศิลปินศิลปาธร และ นายสุทธิพงษ์ สุริยะ นักตกแต่งอาหาร (Food Stylist) เจ้าของรางวัล Gourmand World Cookbook Awards
นายอิทธิพล กล่าวว่า จากความร่วมมือ วธ. และ อว. ได้พัฒนาแนวทางความร่วมมือและบูรณาการงานด้านศิลปวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างความตระหนักรับรู้และความเข้าใจของทุกภาคส่วนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างศิลปวัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์ ส่งเสริม อนุรักษ์ ฟื้นฟู และต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม ไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมของไทยในรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อเป็นเสาหลักในการพัฒนาสังคมและยกระดับเศรษฐกิจไทยในอนาคต ด้วยนวัตกรรมวัฒนธรรมใหม่ จึงได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมและระบบนิเวศนวัตกรรมวัฒนธรรม ด้วยการวิจัยและนวัตกรรม ระหว่าง วธ. กับ อว. (พ.ศ. ๒๕๖๕ - ๒๕๗๐) ขึ้นเพื่อเป็นหมุดหมายของบริบทใหม่ในการผสมผสานระหว่างศิลปวัฒนธรรมกับวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และเทคโนโลยี เน้นพัฒนาสถานะ บทบาท และทักษะของทรัพยากรบุคคล เพิ่มพูนความคิดสร้างสรรค์ และการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ท้องถิ่น สร้างเกียรติภูมิของประเทศ โดยใช้หลักการ "๒ ปัจจัย ๓ เป้าหมาย" กล่าวคือ ๒ ปัจจัย ได้แก่ "วัฒนธรรม" และ "นวัตกรรม" ๓ แนวทาง ประกอบด้วย ๑. พัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมวัฒนธรรม ๒. พัฒนากำลังคนในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมและผู้บริโภค และ ๓. ใช้นวัตกรรมวัฒนธรรม ขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) สร้างภาพลักษณ์ การยอมรับ และภาคีเครือข่ายในระดับโลก
"หลังจากมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ แล้ว จะมีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อระดมความเห็นของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และจะจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายส่งเสริมการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมและระบบนิเวศนวัตกรรมทางวัฒนธรรมด้วยการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุน ผลักดัน และติดตามผลการดำเนินงานในแนวทางความร่วมมือด้านต่าง ๆ ภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ รวมถึงจัดทำแผนปฏิบัติการความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมและระบบนิเวศนวัตกรรมทางวัฒนธรรมด้วยการวิจัยและนวัตกรรม (พ.ศ. ๒๕๖๕ - ๒๕๗๐) เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานและการประเมินผลการ โดยมีเป้าหมาย คือ ยกระดับประเทศไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านนวัตกรรมทางวัฒนธรรมในระดับเอเชียและระดับโลก และขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อันดับโลกด้านวัฒนธรรม Soft Power การวิจัย นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ที่สูงขึ้น" รมว.วธ. กล่าว
.