กรุงเทพฯ--24 มี.ค.--ปตท.
วันนี้ (วันที่ 24 มีนาคม 2551) พลโท หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตรวจเยี่ยมการดำเนินโครงการขยายสถานีบริการ NGV และ โครงข่าย City Gas ของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยมี นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ ผู้บริหารระดับสูงของ ปตท. ให้การต้อนรับ
เวลา 10.00 น. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เดินทางไปยังสถานีบริการ NGV ลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานขยายสถานีบริการ NGV ในแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติ หรือ สถานีแม่ (Mother Station) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย บนพื้นที่ถึง 20 ไร่ และเป็นสถานีบริการหลักสำหรับจ่ายก๊าซฯ ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการจ่ายก๊าซฯ อยู่ที่ 290 ตันต่อวัน เมื่อการดำเนินงานขยายสถานีฯ แล้วเสร็จ ในเดือนกรกฎาคม 2551กำลังการจ่ายก๊าซจะเพิ่มเป็น 640 ตันต่อวัน และยังได้เยี่ยมชมการรับ-จ่ายก๊าซของสถานีบริการ NGV นอกแนวท่อส่งก๊าซฯ หรือ สถานีลูก (Daughter Station) บริเวณถนนพระราม 5 อีกด้วย
ต่อจากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เดินทางไปชมการก่อสร้างสถานี NGV นอกแนวท่อส่งก๊าซฯ (Super Station) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ตั้งอยู่ในบริเวณสถานีขนส่งสายใต้แห่งใหม่ บนถนนบรมราชชนนี มีตู้เติมก๊าซฯ ไม่ต่ำกว่า 27 ตู้ ด้วยความสามารถในการเติมก๊าซฯ ได้สูงถึง 245 ตันต่อวัน โดย ปตท. มีแผนการเปิดให้บริการสถานีแห่งนี้เป็น 2 ระยะ ระยะแรกให้บริการกับรถโดยสาร มีตู้เติมก๊าซฯ 7 ตู้ ด้วยกำลังการเติมก๊าซฯ ได้ 65 ตันต่อวัน ซึ่งจะเปิดให้บริการในเดือนพฤษภาคม 2551 ส่วนในระยะที่สอง เพิ่มตู้เติมก๊าซฯ อีก 20 ตู้ ด้วยกำลังการให้บริการเติมก๊าซฯ ได้ 180 ตันต่อวัน คาดว่าจะเปิดให้บริการได้เต็มรูปแบบกับรถ NGV ทุกประเภทในเดือนตุลาคม 2551
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากการตรวจเยี่ยมการดำเนินโครงการขยายสถานีบริการ NGV และ โครงข่าย City Gas ของ ปตท. ในวันนี้ทำให้เห็นถึงความตั้งใจจริงและศักยภาพของ ปตท. ในการดำเนินงานส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกที่มีบทบาทสำคัญในการลดผลกระทบ ในภาวะที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นและมีความผันผวนตามสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลก โดยนอกจาก ปตท. จะสามารถจัดหาก๊าซธรรมชาติให้เพียงพอกับความต้องการของประเทศแล้ว ปตท. ยังเร่งขยายโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เพื่อนำก๊าซธรรมชาติไปใช้เป็นเชื้อเพลิงทั้งในภาคการผลิตกระแสไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรม ภาคพาณิชยกรรม และภาคการขนส่ง
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสภาวะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราคาน้ำมันทุกชนิดมีราคาไม่ต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับประชาชนผู้ใช้รถยนต์ ผู้ใช้รถจำนวนมากหันมาใช้พลังงานทางเลือก ในปี 2551 นี้มีจำนวนรถ NGV เพิ่มขึ้นกว่า 11,000 คันภายในระยะเวลาเพียง 2 เดือนครึ่งเท่านั้น ทำให้มีรถ NGV มีจำนวนสะสมกว่า 67,000 คัน ในขณะที่ยอดการใช้ NGV สูงกว่า 1,450 ตันต่อวัน (18 มีนาคม 2551) ปัจจุบันมีจำนวนสถานีบริการ NGV ที่เปิดให้บริการแล้วจำนวน 181 แห่งทั่วประเทศ (รวมสถานีจ่ายก๊าซฯ หรือสถานีแม่ 13 แห่ง) ทั้งนี้มีเพียงจำนวน 30 แห่งที่เป็นสถานีบริการที่อยู่ตามแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติ (Conventional Station) และโดยส่วนใหญ่เป็นสถานีบริการที่อยู่นอกแนวท่อก๊าซฯ จำนวน 130 แห่ง นอกจากนี้ ปตท. ยังมีสถานีบริการ NGV ที่สร้างแล้วเสร็จและรอเปิดให้บริการอีกไม่ต่ำกว่า 40 แห่ง และเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้รถ NGV ปตท. จึงเร่งขยายสถานีแม่เดิม (Mother Station) ที่อยู่ทั่วประเทศ และสร้างเพิ่มสถานีแม่แห่งใหม่ ซึ่งจะทำให้สิ้นปี 2551 สถานีแม่ทั้งหมดจะสามารถจ่ายก๊าซฯ ได้สูงถึง 3,800 ตันต่อวัน และจากการที่ NGV มีราคาเพียง 1 ใน 3 ของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนั้นในปี 2550 ที่ผ่านมา ปตท. สามารถช่วยให้ประเทศประหยัดเงินตราจากการนำเข้าน้ำมันกว่า 250 ล้านลิตร หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 4,400 ล้านบาท (คิดจากราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 91 ที่ 28.34 บาทต่อลิตร ราคาน้ำมันดีเซลที่ 25.68 บาทต่อลิตร และราคา NGV ที่ 8.50 บาทต่อกิโลกรัม)
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ไทรน้อย-โรงไฟฟ้าพระนครใต้ ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปลายปี 2549 โดยส่งก๊าซฯ ป้อนให้โรงไฟฟ้าพระนครใต้ เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าทดแทนน้ำมันเตาได้ถึงปีละ 2,400 ล้านลิตรต่อปี นั้น ปัจจุบัน ปตท. ได้ดำเนินโครงการวางท่อฯย่อยในเขตเมือง (City Gas) จากระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ไทรน้อย-โรงไฟฟ้าพระนครใต้ จำนวน 4 เส้น ได้แก่ ท่อสุขสวัสดิ์ ท่อเอกชัย-พระราม 2 ท่อบางจาก-ปู่เจ้าสมิงพราย และ ท่อสายใต้ใหม่ สำหรับท่อสุขสวัสดิ์ได้เริ่มส่งก๊าซฯ ป้อนให้โรงงานอุตสาหกรรมเพื่อเป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันเตาและ LPG แล้วจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ จำกัด , บ.ไทยอาซาฮีเคมีภัณฑ์ , บ.ไทยเซ็นทรัลเคมี และ บ.เหล่าธงสิงห์ ซึ่งสามารถทดแทนการใช้น้ำมันเตารวมกันได้ประมาณ 21 ล้านลิตรต่อปี โดย บ.อายิโนะโมะโต๊ะ ยังมีการใช้ก๊าซฯ ในการผลิตไฟฟ้าด้วยระบบ Cogeneration ขนาด 12 MW อีกด้วย ในเดือนพฤษภาคมนี้ จะมีโรงงานอีกจำนวน 3 แห่ง เริ่มใช้ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิง ได้แก่ บริษัท กระจกไทยอาซาฮี จำกัด บ. เหล็กกรุงเทพ และ บ. อลูมิเนียมฉื่อจิ้นฮั่ว ซึ่งจะทดแทนการใช้น้ำมันเตารวมกันได้ 48 ล้านลิตรต่อปี ทดแทนก๊าซหุงต้มรวมกันได้ 1,450 ตันต่อปี ทั้งนี้ในอนาคตมีโรงงานในแนวถนนสุขสวัสดิ์จะใช้ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิงอีกจำนวน 19 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะสามารถทดแทนการใช้น้ำมันเตารวมกันได้ประมาณ 45 ล้านลิตรต่อปี ทดแทนก๊าซหุงต้มรวมกันได้ 268 ตันต่อปี