'ปิโตรแมท' รวมทีมพันธมิตรด้านสิ่งแวดล้อม รับทุน 'บพข.' ยกร่างเว็บไซต์ฐานข้อมูลการจัดการกากอุตสาหกรรม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 18, 2022 10:55 —ThaiPR.net

'ปิโตรแมท' รวมทีมพันธมิตรด้านสิ่งแวดล้อม รับทุน 'บพข.' ยกร่างเว็บไซต์ฐานข้อมูลการจัดการกากอุตสาหกรรม

'ปิโตรแมท' รวมทีมพันธมิตรด้านสิ่งแวดล้อม รับทุน 'บพข.' ยกร่างเว็บไซต์ฐานข้อมูลการจัดการกากอุตสาหกรรม หนุนการใช้ทรัพยากรตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย และกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการจัดกิจกรรม "สัมมนาระดมความคิดเห็นเพื่อออกแบบระบบการใช้งานเว็บไซต์ฐานข้อมูลการจัดการกากอุตสาหกรรม ครั้งที่ 1" ภายใต้โครงการวิจัยเรื่องแนวทางการจัดการกากอุตสาหกรรมเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เมื่อปี พ.ศ. 2564 ทั้งนี้เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มให้ข้อมูลการจัดการกากอุตสาหกรรมที่ครบถ้วนและถูกต้อง พร้อมสนับสนุนการแนวทางการนำกากอุตสาหกรรมไปใช้ประโยชน์ในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

ด้วยประเทศไทยกำลังมีการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในประเทศ ทำให้มีการนำทรัพยากรไปใช้ในภาคการผลิตในปริมาณเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้กากอุตสาหกรรมมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษระบุว่าในปี พ.ศ. 2563 มีกากของเสียจากภาคอุตสาหกรรมในปริมาณ 18.05 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 96.22 ของปริมาณกากของเสียอันตรายที่เกิดขึ้นรวมกันทั้งประเทศ โดยตลอดระยะเวลา 10 ปี ปริมาณกากอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งต้องนำไปกำจัดด้วยวิธีฝังกลบ นอกจากนี้ยังมีการลักลอบนำไปทิ้งอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษในสิ่งแวดล้อม

สาเหตุที่สำคัญของปัญหาเหล่านี้ เกิดขึ้นเนื่องจากกากอุตสาหกรรมถูกมองว่าเป็นภาระที่แต่ละโรงงานต้องจัดการกันเอง ขณะที่ประเทศไทยก็ยังขาดข้อมูลในภาพรวมเกี่ยวกับกากอุตสาหกรรมจากโรงงานภายในประเทศ ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ ทำให้เรายังไม่สามารถบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งหมดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันมีการผลักดันแนวคิดของเสียสู่บ่อฝังกลบเป็นศูนย์ (Zero Waste to Landfill) โดยสนับสนุนให้มีการลดการใช้ทรัพยากรและการนำของเสียไปใช้ประโยชน์ โดยมีหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นแนวทางสำหรับผู้ผลิตในการนำทรัพยากรไปใช้ให้เกิดความคุ้มค่า อาทิ การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สามารถนำแต่ละชิ้นส่วนไปใช้ประโยชน์ต่อได้เมื่อผลิตภัณฑ์เสื่อมสภาพ การนำของเสียไปรีไซเคิลเป็นวัตถุดิบใหม่สำหรับการผลิต การนำของเสียไปแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง เป็นต้น ทั้งนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่โรงงานในประเทศไทยจะต้องมีการบูรณาการข้อมูลกากอุตสาหกรรมร่วมกัน

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุจึงร่วมมือกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารฯ และกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อมฯ ในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลกากอุตสาหกรรมจากโรงงานจำนวนกว่า 30 โรง โดยนำเสนอข้อมูลที่ได้ในรูปแบบเว็บไซต์ ซึ่งประกอบไปด้วยข้อมูลที่ครบถ้วน เช่น รหัสและประเภทของเสีย โรงงานผู้ก่อกำเนิด วิธีการจัดการที่ถูกต้อง รวมถึงส่งเสริมแนวทางในการนำของเสียไปใช้ประโยชน์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อเป็นแพลตฟอร์มให้โรงงานอื่นทั่วประเทศ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน และประชาชนผู้สนใจ เข้าถึงข้อมูลได้โดยง่ายและสามารถนำแนวทางไปปฏิบัติให้เกิดประสิทธิผล

สัมมนาในครั้งนี้เป็นการระดมความคิดเห็นระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนกว่า 50 คน เพื่อพิจารณาร่างเว็บไซต์ฐานข้อมูลการจัดการกากอุตสาหกรรม ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ณ ห้องประชุม The Chamber ชั้น B โรงแรม S31 Sukhumvit เวลา 09.00 - 12.00 น. โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานเศรษฐกิจหมุนเวียน (บพข.) ได้นำเสนอโครงการร่วมกับนักวิจัยในโครงการนำโดย ศาสตราจารย์ ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ และนายธีระพล ติรวศิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อนำข้อสรุปที่ได้ไปปรับปรุงรูปแบบและระบบการใช้งานเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น

โครงการนี้จะยกระดับแนวทางการจัดการกากอุตสาหกรรมภายในประเทศ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน

จัดทำโดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

สอบถามข้อมูล กรุณาติดต่อผู้ประสานงานโครงการฯ ดร.ทัศชา ทรัพย์มีชัย โทร. 02-218-1848


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ