ศูนย์วิจัยระบบอัตโนมัติอัจฉริยะ (Intelligent Automation Research Center) คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ม.อ. เปิดตัว 6 แพลตฟอร์ม เพิ่มศักยภาพกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ก้าวข้ามวิกฤตเศรษฐกิจ ยุคหลังวิกฤตโควิด-19 ช่วยยกระดับการบริหารจัดการ ลดต้นทุน ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย4.0 ระยะ 20 ปี นำเทคโนโลยีมาช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหลักของประเทศให้ก้าวหน้าและสามารถข้ามผ่านกับดักรายได้ปานกลางไปได้ โดยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ Value-based Economy เพิ่มคุณภาพของผลิตภัณฑ์สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ผศ.ดร.นิคม สุวรรณวร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยระบบอัตโนมัติอัจฉริยะ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า ทางศูนย์วิจัยระบบอัตโนมัติอัจฉริยะ ม.อ. ได้พัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพการดำเนินงานของกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้มีขีดความสามารถการแข่งขันและการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โดยได้ร่วมกับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม ม.อ. นำผู้ประกอบการกว่า 150 คน เข้ารับการฝึกอบรมการใช้งานแพลตฟอร์มที่ทีมงานของคณะวิศวกรรมศาสตร์พัฒนาขึ้นและสามารถนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็ง สามารถลดต้นทุนการบริหารจัดการ ซึ่งประกอบด้วย 6 แพลตฟอร์ม ได้แก่
1.) PSU E - Accom เป็นระบบบริหารจัดการโรงแรม รีสอร์ท ห้องพัก โฮมสเตย์พร้อมการสร้างเว็บไซต์ในตัว ตั้งแต่ต้นจนจบในระบบเดียว ภายใต้โครงการยกระดับและเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องเชิงสุขภาพ มีระบบจองห้องพัก เช็คอินออนไลน์ ตารางการจอง ตารางรายห้อง ปฏิทินการจองและตรวจสอบสถานการณ์จองได้ง่ายผ่านอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ ระบบลูกค้าสัมพันธ์รวมทั้งบันทึกรายการความชื่นชอบ ความสนใจของลูกค้า 2.) PSU E-Factory ระบบบริหารจัดการภายในโรงงานภาคการผลิต จัดการคลังวัตถุดิบ การเพิ่มวัตถุดิบและสินค้าเข้า/ออก สต๊อก 3.) PSU E-Worker ระบบบริหารจัดการงานภายในองค์กร เป็นระบบจัดการงานและพนักงานด้วยแอพพลิเคชั่น E-Worker สามารถเห็นความเคลื่อนไหวของพนักงาน สถิติของงานในบริษัท รวมถึง ประเมินพนักงานได้อีกด้วย
4.) PSU E - Merchant ระบบบริหารจัดการคลังสินค้า บริการและร้านค้าออนไลน์ ที่รวบรวมการขายทั้งหน้าร้านและการขายออนไลน์ผ่านเว็บไซต์เข้าด้วยกัน พร้อมระบบจัดการคลังสินค้าที่ใช้งานง่าย ระบบรองรับการชำระเงินออนไลน์ บันทึกการซื้อขายทั้งหมดของลูกค้า และ 5.) PSU E - Energy ระบบติดตามการใช้ไฟฟ้า ช่วยเฝ้าระวังค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าในองค์กร ประมาณการบิลค่าไฟฟ้า พร้อมคู่มือการใช้พลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะสำหรับผู้ควบคุมระบบ เพื่อวิเคราะห์และหาสาเหตุความผิดปกติในการใช้ไฟฟ้าในองค์กร ตรวจสอบระบบ ข้อมูลและระบบติดตามการใช้พลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะ เป็นระบบที่มีการรับข้อมูลจากมิเตอร์ไฟฟ้า เข้าสู่การประมวลผลนำมาเสนอให้กับผู้ใช้งานได้ตรวจสอบค่าตัวแปรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระแสไฟฟ้า แรงดันไฟฟ้า ความต้องการไฟฟ้า ผ่านทางคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ นอกไปจากนั้น ระบบจะนำข้อมูลมาเก็บสถิติเป็นกราฟย้อนหลัง และนำมาคำนวณค่าไฟฟ้าในรายวัน และ รายเดือนอีกด้วย และแพลตฟอร์ม ระบบการจัดการค่าน้ำประปาสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
"ขณะนี้มีผู้ประกอบการ SMEs ใช้บริการแพลตฟอร์มที่ศูนย์วิจัยระบบอัตโนมัติอัจฉริยะ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ. พัฒนาขึ้นมากกว่า 100 กิจการ เพื่อนำเทคโนโลยียกระดับการบริหารจัดการ ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน สอดคล้องแผนยุทธศาสตร์ประเทศที่ต้องการผลักดันอุตสาหกรรมไทย 4.0 โดยให้ผู้ประกอบการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการในทุกมิติ เพื่อยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการให้สามารถสร้างรายได้และลดค่าใช้จ่าย ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยโดยรวมไปสู่ Value-based Economy มีความเข้มแข็งสามารถข้ามผ่านกับดักรายได้ปานกลางไปได้ตามเป้าหมายที่วางไว้" ผศ.ดร.นิคม กล่าว