นางสาวนิติยา พงษ์พานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน "ปลูกป่า ปลูกเห็ด" ซึ่ง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และเครือข่ายพันธมิตร จัดขึ้น ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 ณ ห้องประชุม มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ ตำบลแม่ทราย อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ โดยกิจกรรมในงานประกอบด้วย การบรรยายเรื่อง เทคโนโลยีการเพาะเห็ดป่าไมคอร์ไรซา การเสวนาเรื่อง การปลูกป่า ปลูกเห็ด โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานภาครัฐและผู้แทนเกษตรกร รวมทั้งการเยี่ยมชมนิทรรศการผลงานการเพาะเห็ดป่าไมคอร์ไรซาและแปลงสาธิตต้นแบบเทคโนโลยีการผลิตเห็ดตับเต่า เห็ดเผาะและเห็ดเศรษฐกิจ
นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวอยู่ภายใต้การดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเห็ดไมคอร์ไรซา (เห็ดตับเต่า เห็ดเผาะ เห็ดระโงก) และเห็ดตีนแรด เพื่อสร้างต้นแบบสวนป่าสวนเห็ดครัวเรือนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน (ปีที่ 1) และการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเห็ดป่าไมคอร์ไรซาในสภาพพื้นที่ป่าและการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเห็ดระโงกในสภาพพื้นที่ไร่แบบธรรมชาติ (ปีที่ 2) ซึ่ง วว. โดยศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ ได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. โดยได้ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดแพร่-น่าน ซึ่งได้รับผลสำเร็จเป็นอย่างดีในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดการชะล้างพังทลายของดินบนพื้นที่ลาดชัน ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ สำหรับการจัดงานปลูกป่าปลูกเห็ดในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงผลสำเร็จของการขับเคลื่อนงานภายใต้โครงการฯ เพื่อนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้เกษตรกรผู้สนใจได้เรียนรู้เทคโนโลยีและร่วมฝึกปฏิบัติการเพาะเห็ดป่าไมคอร์ไรซา
"?วว. ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ โดยได้ส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตพืชผลทางการเกษตร ซึ่งมีบทบาทในการสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นเป้าหมายให้ดีขึ้น ผ่านการสร้างอาชีพโดยการเพาะเห็ดไมคอร์ไรซาที่มีการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการรักษาและเพิ่มพื้นที่สีเขียว พร้อมทั้ง อนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงวิถีชีวิตพื้นถิ่นบนฐานธรรมชาติและฐานวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน วว. และ สวก. จึงได้ดำเนินโครงการการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเห็ดไมคอร์ไรซาฯ และการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเห็ดป่าไมคอร์ไรซาในสภาพพื้นที่ป่าและการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเห็ดระโงกในสภาพพื้นที่ไร่แบบธรรมชาติฯ เพื่อขยายผลองค์ความรู้จากงานวิจัยเดิมและเทคโนโลยีการเพาะเห็ดป่าไมคอร์ไรซา แบบไม่ต้องอาศัยโรงเรือนไปสู่แปลงสาธิตต้นแบบในพื้นที่เป้าหมาย และนำองค์ความรู้ที่ได้ศึกษามาไปต่อยอดในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเห็ดป่าไมคอร์ไรซาในสภาพพื้นที่ป่า การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเห็ดระโงกในสภาพพื้นที่ไร่แบบธรรมชาติ พร้อมทั้งสร้างแปลงสาธิตต้นแบบในพื้นที่ และสร้างเกษตรกรต้นแบบผู้ผลิตเห็ดป่าไมคอร์ไรซา ในปีที่ 2 ดำเนินการในพื้นที่นำร่อง 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแพร่ และจังหวัดน่าน เพื่อเป็นต้นแบบและขยายผลไปยังพื้นที่อื่นในปีต่อๆ ไป..." นายสายันต์ ตันพานิช กล่าว