กระทรวงพลังงาน ผนึกกำลัง ปตท. ปตท. สผ. และ ดีเอ็มจี จัดงานประชุมระดับอาเซียน "ฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี เอเชีย" และ "ฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย" ดึงรัฐ-เอกชนจาก 50 ชาติ ร่วมรับมือความต้องการพลังงานสูงขึ้นในอนาคต
กระทรวงพลังงาน ร่วมกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ดีเอ็มจี อีเวนท์ จำกัด ร่วมเดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลังงาน ครั้งสำคัญ จัดงาน "ฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี เอเชีย" (Future Energy Asia) และ "ฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย" (Future Mobility Asia) ประจำปี 2565 การประชุมด้านพลังงานและยานยนต์พลังงานสะอาด และการจัดแสดงนิทรรศการ สุดยอดนวัตกรรมระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างวันที่ 20-22 กรกฎาคม 2565 ณ ฮอลล์ 98 - 99 ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา กรุงเทพฯ โดยเป็นการรวมตัวของรัฐมนตรี ผู้กำหนดนโยบาย ตลอดจนผู้บริหารระดับสูง ในอุตสาหกรรม และนักลงทุนจากนานาชาติกว่า 50 ประเทศที่จะมาร่วมจุดประกายการประชุมหารือเชิงกลยุทธ์และทางเทคนิค รวมถึงการจัดแสดงนวัตกรรมพลังงานสะอาด และยานยนต์พลังงานสะอาดชั้นนำของโลก
นางเปรมฤทัย วินัยแพทย์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า "เห็นได้ชัดว่าขณะนี้เรากำลังเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้านพลังงานควบคู่ไปกับการระบาดใหญ่ของโควิดและสถานการณ์วิกฤตพลังงานของโลกในปัจจุบัน โดยภายในการประชุมสุดยอดผู้นำ COP26 Leader's Summit ประเทศไทยได้ประกาศตั้งเป้าหมายในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ภายในปี พ.ศ. 2608 ทั้งนี้ ประเทศไทยกำลังเดินหน้ากำหนด 'แผนพลังงานแห่งชาติ 2565' เพื่อมุ่งสู่อนาคตแห่งพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิดรักษ์โลก พร้อมกับความมั่นคงและการแข่งขันด้านพลังงานเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน โดยดำเนินงานตามนโยบาย 4D ซึ่งประกอบด้วย การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) การผลิตไฟฟ้าแบบกระจายตัว และความยืดหยุ่นของระบบไฟฟ้า (Decentralization) การเปิดเสรีภาพพลังงานเพื่อกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม และการแข่งขันอย่างเป็นธรรม (Deregulation) และ Digitalization การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ร่วมกับเทคโนโลยีด้านพลังงาน (Deregulation)"
"ปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนยานยนต์ที่สำคัญระดับโลก โดยคณะกรรมการนโยบายรถยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้อนุมัติเป้าหมายในการส่งเสริมยานยนต์ไร้มลพิษ (Zero Emission Vehicle หรือ ZEV) ซึ่งเรียกว่านโยบาย 30@30 เพื่อส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้ได้ถึงร้อยละ 30 ของการผลิตทั้งหมดภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งภายใต้นโยบายดังกล่าว มีมาตรการสนับสนุนและข้อเสนอจูงใจหลายประการในการกระตุ้นตลาดยานยนต์ไฟฟ้า อาทิ การสนับสนุนการลงทุนสร้างเครือข่ายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า การกำหนดมาตรฐานและข้อบังคับสำหรับการขอใบอนุญาต และการพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลยานยนต์ไฟฟ้า ในขณะที่อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาโรงงานให้มีขนาดกำลังการผลิตอยู่ที่ 40 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ต่อปี ภายในปี พ.ศ. 2573 รวมถึงวางแผนติดตั้งสถานีฟาสต์ ชาร์จจิ้ง (Fast Charging) ให้ได้ 12,000 ยูนิตทั่วประเทศ" นางเปรมฤทัยกล่าว
จุดมุ่งหมายในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและยานยนต์พลังงานสะอาดนั้นเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก ซึ่งนอกจากประเทศไทยแล้ว ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างกำลังผลักดันให้เกิดแนวปฏิบัติด้านพลังงานในทิศทางเดียวกัน โดยประเทศในภูมิภาคอาเซียนเตรียมมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในระหว่างปี พ.ศ. 2593 - 2613
การรวมตัวสุดยอดผู้นำระดับโลก ในงาน "ฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี เอเชีย" และ "ฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย"
ภายในงานนิทรรศการและการประชุมสุดยอดในงาน ฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี เอเชีย พบกับผู้นำด้านอุตสาหกรรมพลังงานระดับโลกกว่า 130 ท่าน ที่จะมาร่วมเป็นวิทยากรในการแลกเปลี่ยนความรู้ พร้อมผนึกกำลังเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานระดับนโยบาย โดยเป็นการรวมตัวของกลุ่มผู้นำและผู้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในอุตสาหกรรมที่ทรงอิทธิพลที่สุดนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี 2561 อาทิ คุณอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) มร. เติงกู มูฮัมหมัด เทาฟิค ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ปิโตรนาส, มร. อนาโตลเฟย์กิน รองประธานบริหารและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์ เชเนียร์ เอนเนอร์ยี และ มร. ฟรานเซสโก ลา คาเมรา อธิบดีสำนักงานพลังงานทดแทนระหว่างประเทศ
ทางด้านงาน ฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย เป็นงานนิทรรศการและสุดยอดการประชุมที่ทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นศูนย์กลางของการเจรจาและเป็นเวทีผู้นำทางความคิดด้านยานยนต์พลังงานสะอาดระดับโลก เพื่อสนับสนุนภารกิจในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปสู่อนาคตยานยนต์พลังงานสะอาดที่เป็นอิสระและมีความเชื่อมโยงกัน ผ่านการเสวนาโดยวิทยากรจากองค์กรชั้นนำระดับโลกกว่า 80 ท่าน อาทิ มร. อาริฟิน ทาสริฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและทรัพยากรแร่แห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย, มร. ทวารัฐ สูตะบุตร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน, มร. อิซาโอะ เซกิกุจิ รองประธานฝ่ายการตลาดและการขาย นิสสัน อาเซียน, มร. ริค สเตอร์เจียน ผู้อำนวยการอาวุโส ด้านการขนส่งและเคลื่อนย้าย แดสสอล์ท ซิสเต็มส์, มร. มรุกางค์ อินัมดาร กรรมการผู้จัดการ ตะวันออกกลางและเอเชีย ไฮซัน มอเตอร์ส, คุณชนินทร์ ขาวจันทร์ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และอีกมากมาย
นิทรรศการ การจัดแสดงผลิตภัณฑ์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีสุดล้ำสมัย
นิทรรศการภายในงาน ฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี เอเชีย และ ฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย จัดขึ้นบนพื้นที่กว่า 14,000 ตารางเมตร พร้อมองค์กรผู้ร่วมจัดแสดงสินค้าและนวัตกรรมกว่า 150 ราย ครอบคลุมทั่วทั้งห่วงโซ่คุณค่าด้านพลังงานและยานยนต์พลังงานสะอาด โดย ฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี เอเชีย มีหัวใจสำคัญคือการผลักดันการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยแบ่งโซนการจัดแสดงออกเป็น 4 โซนหลัก ได้แก่ ไฮโดรเจน, ก๊าซและ LNG, เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน และพลังงานหมุนเวียน โดยมีไฮไลท์สำคัญ อาทิ กลุ่มความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์แห่งประเทศไทย (Thailand CCUS Technology Development Consortium) รวมถึงการจัดแสดงเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ, เทคโนโลยี AI และนวัตกรรมยานยนต์แห่งอนาคต โดยปตท. และ ปตท.สผ.
งาน ฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย ได้รับการสนับสนุนจากผู้แสดงสินค้าจากองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรม กว่า 87 ราย จากกว่า 18 ประเทศ โดยภายในงานมีกิจกรรมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้เข้าร่วมงานและอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานสะอาด อาทิ การจัดแสดงด้านยานยนต์พลังงานสะอาดของประเทศไทย นำโดยกระทรวงพลังงานและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โซนจัดแสดงนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าสุดล้ำสมัย พร้อมการสาธิตและทดลองขับยานยนต์ไฟฟ้า โดยผู้เข้าร่วมจะสามารถเข้าถึงระบบนิเวศของอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานสะอาดได้อย่างครบวงจร ซึ่งประกอบด้วยผู้ผลิตอุปกรณ์ดั้งเดิม (OEM) สำหรับรถยนต์โดยสาร รถยนต์เพื่อการพาณิชย์, ซัพพลายเออร์หลังการขาย (Aftermarket supplies), ผู้ให้บริการแบตเตอรี่ ระบบจัดเก็บพลังงาน, โครงสร้างพื้นฐานสำหรับระบบชาร์จ และเทคโนโลยีเพื่อการอำนวยความสะดวกหลายรูปแบบ โดยมีองค์กรชั้นนำที่มาร่วมสนับสนุนและจัดแสดงนิทรรศการ อาทิ แดสสอล์ท ซิสเต็มส์, อีวีโลโม, เฮกซากอน, ไซส์, อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส, จีโอแท็บ, แม็กซิออน วีลส์, ทีอี คอนเน็คทิวิตี้, เอบีม คอนซัลติ้ง, เอฟโอเอ็มเอ็ม, เกรท วอลล์ มอเตอร์, ศูนย์วิจัยยานยนต์และระบบขนส่งอัจฉริยะ, ออนไอออน โมบิลิตี้ และอื่น ๆ อีกมากมาย
ผนึกกำลังพันธมิตร สู่ศูนย์กลางความร่วมมือด้านพลังงานและยานยนต์พลังงานสะอาดแห่งอาเซียน
ตลอด 3 วัน ของการจัดงาน ฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี เอเชีย และ ฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย จะเป็นการเชื่อมโยงผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ากว่า 10,000 ราย ผ่านสุดยอดการประชุม การสร้างเครือข่าย และการทำข้อตกลงร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ โดยภายในงาน ฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี เอเชีย ได้มีการประกาศความร่วมมือระหว่างกลุ่มความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (CCUS) แห่งประเทศไทย ซึ่งก่อตั้งโดยหน่วยงานภาครัฐ และสถาบันการศึกษาชั้นนำระดับประเทศ เป้าหมายหลักของความร่วมมือในครั้งนี้ คือการร่วมสนับสนุนความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดังกล่าว ตั้งแต่ขั้นตอนการวิจัยไปจนถึงการใช้งานจริงในภาคอุตสาหกรรม
สำหรับงาน ฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย จะมีส่วนสำคัญในการร่วมเป็นสักขีพยานของพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) สองฉบับระหว่างหน่วยงานจากสิงคโปร์และไทย ได้แก่ SWAT Mobility ร่วมกับ ไปรษณีย์ไทย ดิสทริบิวชั่น เพื่อกำหนดข้อตกลงร่วมกันในการดำเนินการศึกษาการใช้ปัญญาประดิษฐ์และแมชชีนเลิร์นนิ่งในการวางแผนเส้นทาง และเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งรถไปรษณีย์ เพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนในการขับขี่ รวมถึงพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง บ้านปูเน็กซ์ เชิดชัย และ ดูราพาวเวอร์ ในการร่วมมือกันจัดตั้งบริษัทร่วมทุนผลิตระบบแบตเตอรี่ ในประเทศไทยเพื่อรองรับการเติบโตของสมาร์ท โมบิลิตี้
งาน ฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี เอเชีย และ ฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย 2022 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-22 กรกฎาคมนี้ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา กรุงเทพฯ ฮอลล์ 98 - 99 ตัวแทนและผู้เข้าร่วมประชุมสามารถลงทะเบียนและเข้าร่วมงานได้ภายในงานหรือผ่านทาง www.futureenergyasia.com และ www.future-mobility.asia