กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือ DITP เดินหน้าผลักดันและส่งเสริมแบรนด์ ไทยจากโครงการ IDEA LAB, FUTURE LAB, T Mark รวมถึงแบรนด์ที่มีศักยภาพสู่ตลาดสากล พร้อมพาเจาะตลาดอินเดีย คู่ค้าอันดับที่ 1 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ กับ"โครงการส่งเสริมแบรนด์ไทยสู่สากล" หวังสร้างโอกาสขยายเครือข่ายและต่อยอดทางธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม
นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือ DITP กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ภาวะเศรษฐกิจซบเซาและการปรับราคาของน้ำมันในตลาดโลกที่ยังไม่ แน่นอน ตลอดจนอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศ ณ ขณะนี้ ส่งผลต่อความผันผวนทางเศรษฐกิจและกดดัน ปริมาณการใช้จ่ายของผู้บริโภค ดังนั้นธุรกิจที่ต้องการหาทางรอด ฝ่าฟันให้ผ่านวิกฤตในครั้งนี้และเติบโตได้อย่างยั่งยืน จำเป็นต้องปรับตัวและพัฒนาแบรนด์ให้แข็งแกร่ง สร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก ที่สำคัญคือตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า กลุ่มเป้าหมาย สามารถขยายตลาดและช่องทางการจำหน่ายอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศ
"กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ดำเนินการตามนโยบายกระทรวงพาณิชย์ ของรองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) โดยมีการวางแผนให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านการสร้าง ขีดความสามารถในการแข่งขันในด้านการค้าระหว่างประเทศของไทย ผลักดันให้ไทยเป็น 1 ใน 5 ของเอเชียในปี พ.ศ. 2570 สร้างจุดแข็งให้กับสินค้าและบริการไทยด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการ Megatrends และยุค Next Normal โดยเน้นพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไทยในการประกอบธุรกิจระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการ ส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ให้มีศักยภาพในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของตนเอง ด้วยองค์ความรู้ด้าน การสร้างแบรนด์ การออกแบบ นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ อย่างเป็นระบบและครบวงจรเพื่อให้มีความพร้อมด้าน การค้าและเศรษฐกิจยุคใหม่ ยกระดับผู้ประกอบท้องถิ่นในทุกภูมิภาคของประเทศสู่ตลาดโลก และสร้างผู้ส่งออกรายใหม่ (New Faces)
กรมจึงได้จัด "โครงการส่งเสริมแบรนด์ไทยสู่สากล" ขึ้น ดำเนินงานโดยสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาผู้ประกอบการด้านการสร้างแบรนด์สู่สากล ส่งเสริมแบรนด์ที่มีศักยภาพ และสร้างโอกาสในการเข้าถึงตลาดเป้าหมายทั้งในและต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นเจาะตลาดในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตลาดอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรสูงเป็นอันดับที่ 2 ของโลก และยังเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ โครงการดังกล่าวถือเป็นกลยุทธ์เสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันทางการค้าของผู้ประกอบการไทย ควบคู่ไปกับการผลักดัน ให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ทางการค้าที่ดี เป็นที่เชื่อมั่นของผู้บริโภคทั่วโลก"
โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการแบรนด์ไทยที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะแบรนด์ไทย หรือ IDEA LAB รุ่นที่ 1-5 ที่ผ่านมา โครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการไทยที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมสู่สากล หรือ FUTURE LAB ผู้ประกอบการสมาชิก Thailand Trust Mark (T Mark) และผู้ประกอบการแบรนด์ไทยที่มีศักยภาพในต่างประเทศที่เป็นสินค้ากลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและสปา ของใช้ในบ้าน และเครื่องใช้ในครัวเรือน เข้าร่วม โครงการ
สำหรับ กิจกรรมแรกภายใต้โครงการที่จะเกิดขึ้นนั้น คือ การจัดอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการ โดยแบ่งเป็นสำหรับผู้ประกอบการกิจกรรมต่อยอดแบรนด์ไทย ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมให้ความรู้และแนวทางการสร้างแบรนด์ อาทิ นางปารีสา จาตนิลพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายพัฒนาธุรกิจค้าปลีก บริษัท สยามพิวรรธน์รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด, นายทรงพล เนรกัณฐี นักรังสรรค์แบรนด์และนักการตลาดเชิงกลยุทธ์, นางสาวภัณฑิลา เทพาคำ ผู้บริหารแบรนด์เทพาและแบรนด์สามเกลอเสมอใจ และ นางสาวฐิตาภา ตันสกุล ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Stories of Silver & Silk เป็นต้น และสำหรับผู้ประกอบการกิจกรรมเจาะตลาดอินเดีย ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญ อาทิ นางสุพัตรา แสวงศรี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย และนายประเสริฐ ปิยะสัจจะเดช รองประธานชมรมธุรกิจไทยอินเดีย และอุปนายกสมาคมการค้าส่งเสริมการส่งออกและการลงทุน เป็นต้น
หลังจากนี้ จะมีการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 30 ราย เพื่อเข้าร่วมจัดกิจกรรมนิทรรศการต่อยอดแบรนด์ ไทยสู่ตลาดสากล (Thai Brand Festival) ณ สยามดิสคัฟเวอรี่ วันที่ 17-21 สิงหาคม 2565 ควบคู่ไปกับการจำหน่ายสินค้าผ่านแอปพลิเคชัน ONESIAM นอกจากนี้ สคต. ณ เมืองมุมไบ ได้คัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ 20 ราย ให้จัดส่งสินค้าตัวอย่างไปเข้าร่วมการจัดกิจกรรมนิทรรศการแบรนด์ไทย ณ ห้างสรรพสินค้า Jio World Drive เมืองมุมไบ สาธารณรัฐอินเดีย วันที่ 19-26 สิงหาคม 2565 และสุดท้ายจะเป็นการจัดกิจกรรมจับคู่เจรจาการค้าออนไลน์ระหว่างผู้ประกอบการไทยที่เข้าร่วมกิจกรรมและผู้นำเข้าต่างประเทศ
"เป็นที่น่ายินดีที่มีผู้ประกอบการแบรนด์ไทยสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 35 บริษัท โดยกิจกรรมที่กรมได้เตรียมไว้ให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการนั้น ค่อนข้างครบทุกกระบวนการตั้งแต่การมอบองค์ความรู้ด้านการสร้าง แบรนด์ เพื่อให้มีลักษณะเฉพาะและเกิดความโดดเด่นในตลาดในประเทศและต่างประเทศ สร้างประสบการณ์การต่อยอดแบรนด์ สร้างเครือข่ายทางธุรกิจทั้งกับผู้ประกอบการในประเทศและผู้นำเข้าสินค้าต่างประเทศ และมีการขยายธุรกิจในต่างประเทศได้อย่างยั่งยืนเป็นรูปธรรม ซึ่งเชื่อว่าจะสร้างประโยชน์ทางการค้าให้กับผู้ประกอบการและกระตุ้นการส่งออกสินค้าสู่ตลาดต่างประเทศได้เป็นอย่างดี" นายเอกฉัตร กล่าว