ประสบการณ์ชีวิตสำคัญของการเป็น "ด่านหน้า" หรือบุคลากรทางการแพทย์ ต้องผ่านห้องเรียน "อาจารย์ใหญ่" หรือศึกษาจากร่างที่อุทิศเพื่อการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาแพทย์ และสาขาที่เกี่ยวข้องกันทุกคน
แต่ปัจจุบันด้วยความเจริญทางเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้นักศึกษาแพทย์สามารถเรียนผ่าน Virtual Reality จากโปรแกรมที่ออกแบบเพื่อการฝึกทักษะตามที่ต้องการ เปรียบเหมือนการมี "อาจารย์ใหญ่" ในโลกเสมือนจริง ที่ผู้เรียนสามารถเข้าไปศึกษาได้ในทุกที่ทุกเวลา
หนึ่งในผลงานที่มหาวิทยาลัยมหิดลภาคภูมิใจ ในฐานะ"ปัญญาของแผ่นดิน" ได้แก่ "โปรแกรมการจำลองการฝึกส่องกล้องภายในหัวไหล่บนเทคโนโลยี Virtual Reality" ผลงานโดยทีม VSATs (Virtual Shoulder Arthroscopy Training Simulator) ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 4 หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การสนับสนุนโดย Mahidol Bremen Medical Informatics Research Unit (MIRU)
โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.โมเรศ ปรัชญพฤทธิ์ ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีเกมและเกมมิฟิเคชัน คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.โมเรศ ปรัชญพฤทธิ์ ได้กล่าวถึงผลงานของนักศึกษาที่สร้างชื่อกลุ่มดังกล่าวว่า นับเป็นเทรนด์ใหม่ในการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์ ด้วยเทคโนโลยี Virtual Reality (VR) สามารถใช้แทนการศึกษาจากร่าง "อาจารย์ใหญ่" ซึ่งต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูงในการศึกษาแต่ละครั้ง อีกทั้งยังมีข้อจำกัดในเรื่องการนำมาศึกษาซ้ำ เนื่องจากติดอุปสรรคของการเสื่อมสภาพ
วัตถุประสงค์หลักของการสนับสนุนโดย MIRU คือการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้แก้ไขปัญหาทางการแพทย์และสาธารณสุข จึงมุ่งฝึกให้นักศึกษาทีม VSATs นำวิชาความรู้มาสร้างสรรค์เป็นชิ้นงานเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาสำหรับนักศึกษาแพทย์
โจทย์ที่ได้รับ คือ การฝึกนักศึกษาแพทย์ส่องกล้องรักษาข้อไหล่ผ่าน VR โดยพบว่า จากการออกแบบโปรแกรมให้สามารถฝึกซ้ำจนเกิดความชำนาญ เหมือนมีอาจารย์แพทย์มานั่งสอนอยู่ข้างๆ นอกจากจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนักศึกษาแพทย์แล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงสำหรับผู้ป่วยเมื่อนักศึกษาแพทย์จะต้องลงมือปฏิบัติจริงต่อไปในอนาคตอีกด้วย
ทีม VSATs นำโดย "ริว" อนาคิน พัชโรทัย รับหน้าที่หัวหน้าทีม ซึ่งนอกจากเป็นผู้ประสานหลักของกลุ่มแล้ว ยังเป็นผู้ร่วมเขียนโปรแกรม วางระบบออนไลน์สำหรับผู้เล่นหลายคน(multiplayer) ตลอดจนวางระบบเสียงสนทนา (voice chat) เพื่อให้อาจารย์แพทย์สามารถสังเกตการณ์การฝึกและให้คำแนะนำแก่นักศึกษาแพทย์แบบทางไกล รวมถึงสามารถสาธิตเทคนิคที่เหมาะสม
ในขณะที่ "แม็ก" รัฐนันท์ คัมภีรศาสตร์ รับหน้าที่ทั้งเป็นผู้ร่วมเขียนโปรแกรม ฝ่ายข้อมูล และผู้นำเสนอผลงาน และ"พาย" สฤษฎ์พงศ์ อุดมมงคลกิจ รับหน้าที่ดูแลในเรื่องความสมจริง การจัดวาง ดัดแปลง และทดสอบโมเดล
ริว และ พาย สองนักศึกษาระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 4 หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล สมาชิกของทีมVSATs ได้มีโอกาสบินลัดฟ้าไปทำโปรเจค ณ มหาวิทยาลัยเบรเมน (University of Bremen) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ก่อนสำเร็จการศึกษา
นอกจากนี้ ทีม VSATs ยังสามารถคว้ารางวัลชมเชยหมวดโปรแกรมเพื่อการศึกษาและส่งเสริมการเรียนรู้ ระดับนิสิตนักศึกษา จากการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 24 (National Software Contest 2022; NSC 2022) ไปได้อย่างน่าชื่นชม
ซึ่งผลงานดังกล่าวอยู่ระหว่างการพัฒนาให้สมบูรณ์พร้อมก่อนจะนำไปติดตั้งเพื่อใช้ศึกษาจริงสำหรับการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์ ณ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อไป
ไม่ใช่เพียงนักศึกษาแพทย์ ที่ได้รับการคาดหวังให้เติบโตขึ้นเป็นแพทย์ ซึ่งจะเป็นที่พึ่งพา และสามารถคืนชีวิตให้กับผู้ป่วย แต่เบื้องหลังของภารกิจเพื่อมวลมนุษยชาตินั้น คือผู้สร้างสรรค์เทคโนโลยีที่จะเป็นเหมือน "ลมใต้ปีก" ให้พร้อมโบยบินสู่โลกแห่งการเรียนรู้ที่ไร้ขีดจำกัด เพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
ออกแบบแบนเนอร์โดย วรรณภา อินทรประเสริฐ นักวิชาการโสตทัศนศึกษา
และ วรรณพร ยังศิริ นักวิชาการสารสนเทศ
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210