CIVIL เผยทิศทางธุรกิจครึ่งปีหลัง 65 ชูกลยุทธ์บริหารงานก่อสร้าง-จัดการต้นทุน ส่งมอบงานตามแผน ทำกำไรต่อเนื่อง พร้อมเจรจาพันธมิตรสร้าง New S-Curve ธุรกิจเหมืองหินเดินหน้าเต็มกำลัง เร่งประมูลงานภาครัฐและเอกชน ดัน Backlog 15,000 - 20,000 ล้านบาท มั่นใจรายได้รวมทั้งปีเติบโตตามเป้าหมาย 6,000-6,500 ล้านบาท
นายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ CIVIL ผู้นำด้านวิศวกรรมโยธาที่ใช้เทคโนโลยีก่อสร้างแบบครบวงจรชั้นนำของไทย เปิดเผยว่า ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากสถานการณ์วิกฤติซ้อนวิกฤติ ทั้งในด้านการแพร่ระบาดของโควิด-19 แรงงานก่อสร้างขาดแคลน สงครามรัสเซีย-ยูเครน การเพิ่มขึ้นของราคาต้นทุนวัสดุก่อสร้าง และปัญหาเงินเฟ้อ ส่งผลให้หลายบริษัทในอุตสาหกรรมเริ่มประสบปัญหา อย่างไรก็ตามบริษัทมีการปรับกลยุทธ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในโครงการก่อสร้าง และการจัดการต้นทุนก่อสร้างให้สอดรับกับสถานการณ์ แม้ผลการดำเนินงานอาจมีแนวโน้มชะลอตัวเล็กน้อยเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและปัจจัยเสี่ยงที่กระทบอุตสาหกรรม แต่บริษัทยังคงสามารถดำเนินการก่อสร้างและส่งมอบงานได้ตามแผน อีกทั้งยังสามารถทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับทิศทางธุรกิจช่วงครึ่งปีหลัง 2565 บริษัทยังคงมุ่งเน้นบริหารงานพร้อมทั้งรับรู้รายได้จากงานในมืออย่างต่อเนื่อง พร้อมพัฒนาการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ควบคู่กับการจัดการต้นทุนทั้งด้านวัสดุและแรงงาน เพื่อเพิ่มศักยภาพดำเนินงานก่อสร้างให้ได้เกินกว่าแผนงานและส่งมอบงานได้ตามกรอบระยะเวลา อีกทั้งสามารถรักษาอัตรากำไรของบริษัทให้อยู่ในระดับดี รวมถึงวางแผนลงทุนในเครื่องจักรที่ทันสมัยเพื่อเสริมศักยภาพการก่อสร้าง รองรับงานที่คาดว่าจะเข้ามาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรหลายรายที่จะช่วยสร้าง New S-Curve ต่อยอดการเติบโตธุรกิจในอนาคต
ขณะที่ธุรกิจเหมืองหินจังหวัดสระบุรี ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท ซีวิล คอนสตรัคชั่น เซอร์วิส แอนด์ โปรดักส์ จำกัด (บริษัทย่อย) ได้เปิดให้บริการเต็มกำลังการผลิตเรียบร้อยแล้ว ส่งผลให้ต้นทุนวัสดุก่อสร้างของบริษัทลดลงจากการนำหินมาใช้ในโครงการก่อสร้างของ CIVIL อีกทั้งแหล่งวัตถุดิบตั้งอยู่ใกล้โครงการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ซึ่งทำให้ประหยัดต้นทุนการขนส่ง และลดความผันผวนของ Supply หิน นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการจำหน่ายหินให้กับบริษัทอื่นๆในอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยสร้างการเติบโตของกำไรให้กับบริษัท
ทั้งนี้ บริษัทมีแผนการเข้าประมูลโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐที่กำลังจะเปิดการประมูลในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 อาทิ งานก่อสร้างทางหลวงและทางพิเศษ, งานเขื่อนและระบบน้ำ, งานก่อสร้างและปรับปรุงสนามบิน, งานก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูง มูลค่ารวมกว่า 17,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันบริษัทมีแผนเตรียมเข้าประมูลงานภาคเอกชน เพื่อเพิ่มโอกาสการรับงานที่หลากหลาย ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้มูลค่างานในมือ (Backlog) ของบริษัทเติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ระดับ 15,000 - 20,000 ล้านบาท
"สิ่งที่ทำให้ CIVIL มีความแตกต่างคือการจัดการต้นทุนที่ดี และการบริหารโครงการก่อสร้างที่มีคุณภาพ คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก และดำเนินงานด้วยความรวดเร็วกว่าแผน อีกทั้งมุ่งมั่นเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ที่แม้สถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่แน่นอน แต่โครงการภาครัฐยังคงเดินหน้าและมีแผนการเปิดประมูลที่ชัดเจน ซึ่งนั่นหมายถึงโอกาสการขยายศักยภาพของบริษัทที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และจากแผนการดำเนินงานทั้งหมด คาดว่าจะสามารถสร้างการเติบโตของรายได้ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ 20-30% หรือที่ 6,000-6,500 ล้านบาท" นายปิยะดิษฐ์ กล่าวเพิ่มเติม
ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนงานก่อสร้างแบ่งเป็น งานก่อสร้างทางรถไฟและทางรถไฟความเร็วสูง 46%, งานทาง 41%, งานก่อสร้างสนามบิน 2%, งานเขื่อนและระบบน้ำ 1% และงานประเภทอื่นๆ 10%