บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR ผุดไอเดียผลิตภัณฑ์ "ชานอ้อย" เสิร์ฟตรงผู้บริโภค ชูจุดเด่นรักษ์โลก ซึ่งบรรจุภัณฑ์ชานอ้อย มีจุดเด่นเป็นเยื่อไม่ฟอกย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติด้วยการฝังกลบ ไม่เกิน 45-60 วัน ไม่ทำลายหน้าดิน แถมยังต่อยอดเป็นสารอาหารในดิน ปลูกต้นไม้ได้ไม่มีปนเปื้อนสารเคมี โดย BRR ตั้งเป้าเป็นภาคเอกชนที่ทำธุรกิจไม่ส่งผลต่อสังคมในระยะยาว เพื่อสอดรับ Roadmap ภาครัฐ ในการลด-เลิกผลิตขยะพลาสติก และดำเนินธุรกิจบนหลัก ESG คือคำนึงถึง สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล
นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดแนวคิดของการทำธุรกิจเพื่อควบคู่กับการรักษ์โลก ช่วยโลกได้อย่างยั่งยืนว่า "ตลอดระยะเวลาการทำธุรกิจมากว่า 5 ทศวรรษ เราให้ความสำคัญ และคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย ไม่ว่าจะเป็น ลูกค้า, คู่ค้า, ผู้ถือหุ้น, พนักงาน และชุมชน รวมถึงสังคมโดยรวม
BRR ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการภาคเอกชนที่ทำธุรกิจในอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท มีปณิธาณที่ตั้งไว้ตลอดมาคือ กระบวนการผลิตของเราต้องไม่ทำร้ายโลก และปลอดภัยต่อสังคม และผู้บริโภคมากที่สุด ประกอบกับการสร้างความมั่นคงด้านผลผลิต พัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ควบคู่กับชุมชน สังคม และประเทศชาติ ด้วยความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย โดยใช้หลักการพัฒนานวัตกรรม และสนับสนุนด้านการวิจัย เพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กรให้เติบโตมั่นคงไปพร้อมกัน"
ในช่วงปีที่ผ่านมา ทั่วโลกเริ่มพูดถึงกระแสคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) กันอย่างแพร่หลาย ทั้งการใช้ พลังงาน การเกษตรกรรม การพัฒนาและการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมที่เป็นสาเหตุสำคัญ ของการเกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งนับวันปัญหาดังกล่าวก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ขณะเดียวกันปัญหาขยะพลาสติกล้นโลก กลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับทุกประเทศที่ต้องรับมือ ซึ่งนโยบายภาครัฐของไทยเอง ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก็ได้อนุมัติแผน Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 64 ที่ผ่านมา
โดยนำร่องลดและคัดแยกขยะในหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ ปี 2565 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (ทส.) ประกาศห้ามใช้พลาสติก 4 ชนิด แบบเด็ดขาดในปี 2565 ได้แก่ โฟม, ถุงหิ้ว, แก้ว และหลอดพลาสติก และเลิกใช้พลาสติกประเภทถุงพลาสติกหูหิ้ว กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบบาง ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง และหลอดพลาสติก นี่จึงทำให้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ อย่าง "ชานอ้อย" ของ BRR มีโอกาสเติบโตได้ในตลาดนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
โดยผลิตภัณฑ์รักษ์โลกที่ทำจากเยื่อชานอ้อย อยู่ภายใต้การบริหารของบริษัท ชูการ์เคน อีโคแวร์ จำกัด หรือ SEW ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ BRR ถือหุ้นอยู่ 99.99% SEW ประกอบธุรกิจผลิตสินค้าเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ด้านอุปโภคและบริโภค อุปกรณ์ เครื่องมือ และเครื่องใช้ ที่ทำจากชานอ้อยร่วมกับเยื่อของพืชธรรมชาติอื่น
ปัจจุบัน SEW มีกำลังการผลิตประมาณ 300 ล้านชิ้น/ปี หรือราว 3,500 ตัน สามารถทดแทนผลิตภัณฑ์จากโฟมและพลาสติกได้ในอัตราส่วนที่เท่ากันคือ 300 ล้านชิ้น ต่อปี ซึ่งรวมในหลายประเภทผลิตภัณฑ์ เช่น กล่องโฟมใส่อาหาร จาน ชาม โดยกลุ่มลูกค้าของบริษัทมีทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
โดยทางบริษัทหวังขยายการใช้ผลิตภัณฑ์ชานอ้อยให้ทั่วถึงกลุ่มลูกค้าของบริษัททั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้ทุกคนหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อน