ฟิทช์คงอันดับเครดิตของธนาคารกรุงไทยที่ 'BBB+' และ 'AAA(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 1, 2022 16:38 —ThaiPR.net

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ที่ 'BBB+' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ 'AAA(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ นอกจากนี้ฟิทช์ได้ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ 'F1' อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล (Government Support Rating: GSR) ที่ 'bbb+' และอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ 'bbb-'

รายละเอียดอันดับเครดิตทั้งหมดได้แสดงไว้ในส่วนท้าย

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต

ปัจจัยสนับสนุนจากรัฐบาล: อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว มีปัจจัยสนับสนุนมาจากอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล (GSR) ซึ่งสะท้อนถึงความคาดหวังของฟิทช์ต่อความสามารถ (BBB+/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ/F1) และโอกาสที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนเป็นพิเศษ (extraordinary support) แก่ KTB ในกรณีที่มีความจำเป็น ทั้งนี้การพิจารณาอันดับเครดิตภายในประเทศยังพิจารณาเปรียบเทียบกับอันดับเครดิตของบริษัทไทยรายอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศด้วย อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ 'AAA(tha)' สะท้อนถึงความเสี่ยงที่ต่ำที่สุดภายในประเทศเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับอันดับเครดิตของบริษัทไทยรายอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ

แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพยังสอดคล้องกับแนวโน้มอันดับเครดิตของประเทศไทยและอยู่บนสมมุติฐานของฟิทช์ว่าโอกาสในการให้การสนับสนุนไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในระยะสั้น

ความสำคัญในเชิงระบบต่อเศรษฐกิจไทย: อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลของ KTB พิจารณาจากสถานะของธนาคารในการเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญในเชิงระบบต่อประเทศไทย และยังป็นธนาคารพาณิชย์แห่งเดียวที่ภาครัฐเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ ดังนั้นฟิทช์จึงพิจารณาให้อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลที่ 'bbb+' ซึ่งอยู่สูงกว่าธนาคารอื่นที่มีความสำคัญในเชิงระบบในประเทศไทย (D-SIBs) อยู่ 1 อันดับ อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลยังพิจารณาถึงความสามารถในการให้การสนับสนุนแก่ธนาคาร ซึ่งบ่งชี้ได้จากอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของประเทศไทย

ฟิทช์เชื่อว่าความยืดหยุ่นทางการเงินของประเทศไทยเทียบกับอันดับเครดิตของประเทศ ยังคงอยู่ในระดับสูงและเพียงพอในการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อสนับสนุนภาคธนาคาร ในกรณีที่จำเป็น KTB เป็นหนึ่งในธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของประเทศไทย มีเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่งและเครือข่ายสาขาครอบคลุมทั่วประเทศและถูกกำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทยให้เป็นหนึ่งในหกธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบในประเทศไทย

ความสำคัญในเชิงกลยุทธ์: ฟิทช์เชื่อว่าการถือหุ้นใน KTB ของรัฐบาล เป็นการลงทุนในเชิงกลยุทธ์ระยะยาว นอกจากนี้ธนาคารยังมีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงการคลัง และมีหน้าที่สำคัญในการบริหารเงินสดให้แก่หน่วยงานราชการต่างๆ และตลอดหลายปีที่ผ่านมา ธนาคารยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยภาครัฐกระจายเงินช่วยเหลือตามโครงการช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ผ่านแอพพลิเคชั่นทางโทรศัพท์และสาขาของธนาคาร

สภาพแวดล้อมในการดำเนินงานฟื้นตัวจากผลกระทบโรคระบาด: สภาพแวดล้อมในการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนผลการดำเนินงานของภาคธนาคารไทย โดยฟิทช์คาดว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) จะอยู่ที่ 3.2% ในปี 2565 และ 4.5% ในปี 2566 อันดับคะแนนด้านสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานยังคงไม่เปลี่ยนแปลงที่ 'bbb' แนวโน้มมีเสถียรภาพ โดยมีคะแนนตามเกณฑ์มาตรฐานอยู่ในกลุ่ม 'bb' แต่ฟิทช์มีการปรับเพิ่มอันดับคะแนนโดยใช้ปัจจัยด้าน 'อันดับเครดิตของประเทศ' รัฐบาลมีความสามารถและความตั้งใจที่จะช่วยเหลือสนับสนุนกิจกรรมทางธุรกิจและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งสังเกตได้จากมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ในช่วงโรคระบาดโควิด

มีเครือข่ายธุรกิจในประเทศที่แข็งแรง: อันดับคะแนนด้านโครงสร้างธุรกิจของ KTB ที่ 'bbb' พิจารณาจากขนาดธุรกิจของธนาคารและเครือข่ายทางธุรกิจที่เป็นหนึ่งในธนาคารขนาดใหญ่ของประเทศไทย เช่นเดียวกับธนาคารในกลุ่มที่มีความสำคัญในเชิงระบบอื่นๆ KTB เป็นธนาคารพาณิชย์แบบครบวงจร (universal banking) และมีกลุ่มลูกค้าที่ค่อนข้างหลากหลาย การเชื่อมโยงที่แข็งแกร่งกับรัฐบาลของ KTB ช่วยส่งเสริมความแข็งแรงของฐานเงินฝาก และยังช่วยสนับสนุนธนาคารในการเพิ่มกลุ่มลูกค้ารายย่อยในช่วงผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด

ยังคงมีแรงกดดันจากคุณภาพของสินทรัพย์: อันดับคะแนนด้านคุณภาพของสินทรัพย์ของ KTB อยู่ที่ 'bb+' พิจารณาจากมุมมองของฟิทช์ว่าจะยังคงมีแรงกดดันต่อเนื่องในอนาคต เนื่องจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจน่าจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างช้าจากภาวะโรคระบาด อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 4.2% ณ สิ้นเดือน มีนาคม 2565 จาก 4.9% ณ สิ้นปี 2564 ซึ่งบางส่วนเป็นผลมาจากการขยายตัวของสินเชื่อที่สูง ทั้งนี้ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมจะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยในช่วงปี 2565-2566 ทั้งนี้อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมของ KTB ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 3.6% แต่อย่างไรก็ตามผลกระทบในเชิงลบน่าจะถูกบรรเทาลงได้จากอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (loan loss absorption buffers) ที่ 159%

ความสามารถในการทำกำไรที่ปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีความท้าทายรออยู่: ความสามารถในการทำกำไรปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ฟิทช์ยังคาดว่าอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงเฉลี่ย 4 ปี (ค่าเฉลี่ย 4 ปีย้อนหลัง ปี 2561-2564 อยู่ที่ 1.6%) น่าจะยังคงอยู่ต่ำกว่าธนาคารขนาดใหญ่อื่น ผลประกอบการของ KTB อาจได้รับการสนับสนุนในระยะสั้นจากการลดลงของผลขาดทุนด้านเครดิต (credit impairment charge) และการปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยของสภาวะทางเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรที่ 'bb+' ยังพิจารณาจากความคาดการณ์ของฟิทช์ว่าแนวโน้มในการทำกำไรจะยังขึ้นอยู่กับความผันผวนและผลกระทบจากวัฎจักรของเศรษฐกิจ

ฐานะเงินกองทุนที่สูงขึ้นและมั่นคง: อันดับคะแนนด้านฐานะเงินกองทุนของ KTB ได้รับการปรับเพิ่มอันดับขึ้นเป็น 'bbb' จาก 'bbb-' เพื่อสะท้อนถึงการปรับตัวที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่สูงกว่า 15% ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ฟิทช์เชื่อว่าการปรับตัวดังกล่าวจะยังคงต่อเนื่อง เนื่องจากความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้นและการเติบโตของสินเชื่อในระดับปานกลาง จะไม่ส่งผลให้เกิดแรงกดดันต่อฐานะของเงินกองทุน ดังนั้น ฐานะเงินกองทุนของ KTB จะช่วยเป็นกันชนในการรองรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เช่น ความเสี่ยงด้านสินทรัพย์

สภาพคล่องและเงินทุนที่แข็งแกร่ง: เงินกองทุนของ KTB ได้รับการสนับสนุนจากการที่ธนาคารมีฐานเงินฝากที่มีเสถียรภาพในสัดส่วนที่สูง เครือข่ายธุรกิจด้านเงินฝากจากหน่วยงานภาครัฐและความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงินจากการที่ธนาคารมีความสัมพันธ์กับรัฐบาล KTB มีสัดส่วนของเงินฝากกระแสรายวันและเงินฝากออมทรัพย์ที่ค่อนข้างสูงอย่างต่อเนื่องเกินกว่า 80% ของเงินฝากทั้งหมดในตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนถึงเครือข่ายธุรกรรมธนาคารที่แข็งแกร่ง

ปัจจัยที่อาจส่งผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน):
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวอาจถูกปรับลดอันดับหากอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลมีการปรับลดลง อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวยังพิจารณาถึงโครงสร้างเครดิตของธนาคารที่มีปัจจัยสนันสนุนจากรัฐบาล เทียบกับธนาคารและบริษัทอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ
การปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นอาจเกิดขึ้นได้ หากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวถูกปรับลดอันดับ

การปรับลดอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลของ KTB อาจเกิดขึ้นได้ หากความสามารถที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารปรับตัวด้อยลง ซึ่งสะท้อนได้จากการปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทย นอกจากนี้อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลของ KTB อาจถูกปรับลดอันดับได้ ในกรณีที่มีการปรับลดลงของแนวโน้มในการให้การสนับสนุนจากรัฐบาล เช่น การลดลงอย่างมีนัยสำคัญของระดับความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ พร้อมทั้งการลดลงของระดับความสัมพันธ์กับรัฐบาล แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์มองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้นถึงระยะปานกลาง

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ KTB อาจถูกปรับลดลงเป็น 'bb+' หากฐานะทางการเงินของธนาคารปรับตัวด้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งบ่งชี้ถึงการที่ธนาคารมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่ลดลง ซึ่งอาจสะท้อนได้จากโครงสร้างของธุรกิจที่อ่อนแอ่กว่าที่คาดการณ์ และไม่สามารถรักษาความสามารถในการสร้างรายได้ได้อย่างต่อเนื่องตลอดช่วงวัฏจักรของธุรกิจ ซึ่งอาจแสดงได้จากการปรับตัวลดลงของอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (CET 1) ที่ต่ำกว่า 13 % เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง (ณ สิ้นเดือน มีนาคม 2565 อยู่ที่ 15.6%) และการลดลงของอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อหนี้สินด้อยคุณภาพที่ต่ำกว่า 100% ควบคู่ไปกับอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมที่สูงกว่า 6% อย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน):
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลจะส่งผลกระทบในทิศทางเดียวกันต่ออันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว

อันดับเครดิตภายในประเทศของ KTB ไม่มีโอกาสปรับเพิ่มอีกแล้ว เนื่องจากเป็นอันดับเครดิตสูงสุดแล้ว
อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลพิจารณาจากอันดับเครดิตของประเทศไทย ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกจะเกิดขึ้นได้จากการปรับตัวดีขึ้นของอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของประเทศไทย ซึ่งบ่งชี้ถึงความสามารถในการให้การสนับสนุนแก่ KTB ที่สูงขึ้น แต่อย่างไรก็ต้องพิจารณาสมมุติฐานอื่นที่เกี่ยวข้องกับแนวโน้มการให้ความสนับสนุนด้วยว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลง ณ ระดับอันดับเครดิตของประเทศที่สูงขึ้น

เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างช้า การปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินนั้นมีค่อนข้างจำกัดในระยะสั้น แต่อย่างไรก็ตาม การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของคุณภาพสินทรัพย์และความสามารถในการหารายได้จะนำไปสู่การปรับอันดับเครดิตในเชิงบวก ตัวอย่างเช่น การมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมที่น้อยกว่า 3.5% อย่างต่อเนื่อง (ณ สิ้นปี 2564 อยู่ที่ 4.2%) และอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่สูงกว่า 2.5% เป็นเวลาต่อเนื่อง (ณ สิ้นปี 2564 อยู่ที่ 1.5%) ควบคู่ไปกับการรักษาฐานะเงินทุนที่แข็งแกร่ง

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต: อันดับเครดิตตราสารหนี้และอันดับเครดิตอื่นหุ้นกู้ด้อยสิทธิ
ห้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ KTB ที่ 'AAA(tha)' ได้รับการจัดอันดับเครดิตให้อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศ เพื่อสะท้อนถึงภาระผูกพันที่ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของธนาคาร

ห้นกู้ด้อยสิทธิ
หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 ได้รับการจัดอันดับต่ำกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคารอยู่ 2 อันดับ ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ในการจัดอันดับของฟิทช์เพื่อสะท้อนความเสี่ยงของการขาดทุนจากการชำระคืนเงินกู้ (loss severity risk) ที่มากกว่าเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ที่ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน สถานะด้อยสิทธิของตราสารไม่มีคุณสมบัติรองรับผลขาดทุนระหว่างการดำเนินกิจการ (going-concern loss absorption) เช่น คุณสมบัติของการยกเลิกหรือการเลื่อนจ่ายดอกเบี้ย จึงไม่ได้มีการปรับลดอันดับเครดิตเพิ่มเติมสำหรับความเสี่ยงที่ผู้ถือหุ้นกู้จะไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดการณ์ (non-performance risk) ฟิทช์ใช้อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวจากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เป็นอันดับเครดิตอ้างอิงของหุ้นกู้ดังกล่าว เนื่องจากฟิทช์เชื่อว่ารัฐบาลจะให้การสนับสนุนแก่ KTB ก่อนที่จะถึงจุดที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้

ปัจจัยที่อาจส่งผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต: อันดับเครดิตตราสารหนี้และอันดับเครดิตอื่นหุ้นกู้ด้อยสิทธิ
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน):
การปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวจะส่งผลในทิศทางเดียวกันกับอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและด้อยสิทธิของธนาคาร

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน):
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ของ KTB ไม่มีโอกาสปรับขึ้นได้อีก เนื่องจากอันดับเครดิตอ้างอิง ซึ่งก็คือ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวอยู่ในระดับที่สูงสุดของอันดับเครดิตภายในประเทศแล้ว

อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิอาจถูกปรับเพิ่มอันดับได้หากความเสี่ยงของการขาดทุนจากการชำระคืนเงินกู้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ผู้ถือหุ้นกู้ไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดการณ์ นั้นอยู่ในระดับที่ต่ำ ซึ่งน่าจะมีความเหมาะสมมากกว่าที่จะปรับลดอันดับลงเพียง 1 อันดับ จากอันดับเครดิตอ้างอิง จากระดับปัจจุบันที่ 2 อันดับ แต่อย่างไรก็ตาม ฟิทช์ไม่คาดการณ์ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นในระยะสั้น

การปรับคะแนนของปัจจัยในการพิจารณาอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับคะแนนที่ให้แก่ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ 'bbb' อยู่สูงกว่าคะแนนตามเกณฑ์ที่อยู่ในกลุ่ม 'bb' เนื่องจากการปรับเพิ่มคะแนนด้วยปัจจัยด้าน 'อันดับเครดิตของประเทศ'

อันดับคะแนนที่ให้แก่ปัจจัยด้านรายได้และอัตรากำไรที่ 'bb+' อยู่ต่ำกว่าคะแนนตามเกณฑ์ที่อยู่ในกลุ่ม 'bbb' เนื่องจากการปรับลดคะแนนด้วยปัจจัยด้าน 'ความผันผวนของความสามารถในการทำกำไร'

อันดับเครดิตที่มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตอื่น
อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว และอันดับเครดิตภายในประเทศของ KTB มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทย

การพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)
KTB มีระดับคะแนนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)ที่ระดับ 4 สำหรับความสัมพันธ์ของโครงสร้างธรรมาภิบาล (Governance Structure) เนื่องจากการถือหุ้นโดยรัฐบาลในธนาคารและมีโอกาสที่ภาครัฐจะมีอิทธิพลต่อการกำกับดูแลกิจการและความเสี่ยง (risk governance) และโครงสร้างทางการเงินของธนาคาร ซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบทางลบต่อโครงสร้างเครดิตและสัมพันธ์ต่ออันดับเครดิตเช่นเดียวกับปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิตอื่น

หากไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนนี้ แสดงว่าธนาคารมีระดับคะแนนความสัมพันธ์ของ ESG ต่ออันดับเครดิต ไม่เกินระดับ 3 ซึ่งหมายความว่าปัจจัยด้าน ESG จะไม่ส่งผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบในระดับที่น้อยมากต่ออันดับเครดิตของธนาคาร ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยจากลักษณะของธุรกิจหรือจากการบริหารจัดการของธนาคารก็ตาม รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดมีดังนี้สาหรับรายละเอียดเพิ่มเติมหาได้จาก www.fitchratings.com/esg

รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดมีดังนี้

  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว คงอันดับเครดิตที่ 'BBB+' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น คงอันดับเครดิตที่ 'F1'
  • อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน คงอันดับเครดิตที่ 'bbb-'
  • อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล คงอันดับเครดิตที่ 'bbb+'
  • อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับเครดิตที่ 'AAA(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
  • อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับเครดิตที่ 'F1+(tha)'
  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน คงอันดับเครดิตที่ 'BBB+'
  • อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน คงอันดับเครดิตที่ 'AAA(tha)'
  • อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (ตามเกณฑ์บาเซล 3) คงอันดับเครดิตที่ 'AA(tha)'
  • อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน คงอันดับเครดิตที่ 'F1+(tha)'

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ