ฟิทช์คงอันดับเครดิตของธนาคารกสิกรไทยที่ 'BBB' และ 'AA+(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 2, 2022 08:39 —ThaiPR.net

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBank ที่ 'BBB' และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ 'AA+(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ นอกจากนี้ฟิทช์ประกาศคงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating หรือ VR) ที่ 'bbb' และอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล (Government Support Rating: GSR) ที่ 'bbb'

รายละเอียดอันดับเครดิตทั้งหมดแสดงไว้ในส่วนท้าย

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
อันดับเครดิตสากลพิจารณาจากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินและปัจจัยสนับสนุน: อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ KBank พิจารณาจากทั้งความแข็งแกร่งของโครงสร้างเครดิตของธนาคารเองซึ่งสะท้อนโดยอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินและความคาดหวังของฟิทช์ถึงโอกาสที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยซึ่งสะท้อนโดยอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นของ KBank ที่ F2 ซึ่งเป็นตัวเลือกที่สูงกว่าสำหรับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ 'BBB' สะท้อนถึงโอกาสที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนซึ่งจะมีความแน่นอนกว่าในระยะสั้น นอกจากนี้อันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารยังรวมการพิจารณาถึงโครงสร้างเครดิตของธนาคารในเชิงเปรียบเทียบกับธนาคารหรือบริษัทอื่นที่ได้รับการจัดอันดับในประเทศ

สภาพแวดล้อมในการดำเนินงานฟื้นตัวจากผลกระทบโรคระบาด: สภาพแวดล้อมในการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนผลการดำเนินงานของภาคธนาคาร โดยฟิทช์คาดว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) จะอยู่ที่ 3.2% ในปี 2565 และ 4.5% ในปี 2566 อันดับคะแนนด้านสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานยังคงไม่เปลี่ยนแปลงที่ 'bbb' แนวโน้มมีเสถียรภาพ โดยมีคะแนนตามเกณฑ์มาตรฐานอยู่ในกลุ่ม 'bb' แต่ฟิทช์มีการปรับเพิ่มอันดับคะแนนโดยใช้ปัจจัยด้าน 'อันดับเครดิตของประเทศ' ซึ่งประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ 'BBB+'/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ รัฐบาลมีความสามารถและความตั้งใจที่จะช่วยเหลือสนับสนุนกิจกรรมทางธุรกิจและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งสังเกตได้จากมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ในช่วงโรคระบาดโควิด

เครือข่ายทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง: อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ KBank สะท้อนถึงสถานะที่แข็งแกร่งของธนาคารในฐานะที่เป็นหนึ่งในธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยโดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดสำหรับเงินฝากที่แข็งแกร่ง ในขณะที่ธนาคารมีฐานลูกค้าที่หลากหลาย แต่ KBank ก็มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในกลุ่มธุรกิจ SME ธนาคารมีแพลตฟอร์มรองรับการทำธุรกรรมทางธนาคารที่แข็งแกร่ง รวมถึงแอปพลิเคชั่นมือถือที่ได้รับความนิยม ซึ่งช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจ SME และธนาคารเพื่อลูกค้ารายย่อย และเพิ่มโอกาสในการขายผลิตภัณฑ์อื่น (cross-selling)

โครงสร้างความเสี่ยงสะท้อนถึงความเสี่ยงที่อาจเผชิญ: ฟิทช์ได้ปรับอันดับคะแนนด้านโครงสร้างความเสี่ยงของ KBank เป็น 'bbb-/แนวโน้มมีเสถียรภาพ' จาก 'bbb/แนวโน้มเป็นลบ' เพื่อสะท้อนถึงการที่ฟิทช์ทบทวนความเสี่ยงของธนาคารเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นในประเทศ อันเป็นผลมาจากความท้าทายในระยะปานกลาง ธนาคารมีการเติบโตของสินเชื่อที่ค่อนข้างสูงแม้ในภาวะที่สภาพแวดล้อมการดำเนินงานจะยังคงท้าทาย และฟิทช์เชื่อว่าธนาคารจะยังคงมุมมองในเชิงบวกในด้านการแสวงหาการเติบโต นอกจากนี้ความเสี่ยงของธนาคารต่อกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงอาจส่งผลให้มีความผันผวนมากกว่าธนาคารขนาดใหญ่อื่นๆ

สินเชื่อด้อยคุณภาพทรงตัว: อันดับคะแนนตามเกณฑ์ประเมินมาตรฐานของฟิทช์ด้านคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารอยู่ที่ 'bb' แต่ฟิทช์ให้คะแนนที่ 'bbb-' ซึ่งการปรับเพิ่มอันดับคะแนนพิจารณาจาก 'หลักประกันและระดับการตั้งสำรอง' ของธนาคารเนื่องจากฟิทช์มองว่าความเสี่ยงเชิงลบได้รับการบรรเทาลงบางส่วนจากการมีระดับหลักประกันที่สูงสำหรับพอร์ตสินเชื่อ SME รวมถึงธนาคารมีค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในระดับที่ยอมรับได้ (อยู่ที่ 137% ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565) และมีความสามารถในการสร้างกำไรที่ดี ฟิทช์ปรับแนวโน้มของคุณภาพสินทรัพย์เป็น 'มีเสถียรภาพ' จาก 'แนวโน้มเป็นลบ' เพื่อสะท้อนมุมมองของฟิทช์ว่าแรงกดดันต่อคุณภาพสินทรัพย์ในระยะสั้นที่ลดลงเล็กน้อย และฟิทช์เชื่อว่าตัวเลขบ่งชี้ด้านคุณภาพสินทรัพย์จะยังทรงตัวในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า

การฟื้นตัวของกำไรอย่างค่อยเป็นค่อยไป: ฟิทช์คาดว่าความสามารถในการทำกำไรของ KBank จะค่อยๆฟื้นตัว โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองหนี้สูญที่ลดลง รายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากการเติบโตของสินเชื่อ ต้นทุนเงินทุนที่ต่ำ และการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของธนาคารมีแนวโน้มลดลงจากระดับสูงสุดที่ 48% ในปี 2563 เนื่องจากการตั้งสำรองล่วงหน้าที่ผ่านมา ทั้งนี้กำไรของ KBank เช่น ในด้านของกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยง (ซึ่งมีค่าเฉลี่ย 4 ปีย้อนหลังที่ 2.2%) ปรับตัวดีกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมและฟิทช์คาดว่าธนาคารจะมีผลการดำเนินงานที่ค่อนข้างแข็งแกร่งต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากระดับการยอมรับความเสี่ยงของธนาคาร

การบริหารจัดการเงินกองทุนอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ: ฟิทช์คาดว่า KBank จะคงอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (CET1) ในช่วง 15%-17% ในช่วงสามปีข้างหน้า ซึ่งสอดคล้องกับระดับคะแนน 'bbb+' ฟิทช์คาดว่าแผนการของธนาคารในการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน PT Bank Maspion Indonesia Tbk (Maspion) จะมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อเงินกองทุนเนื่องจากธุรกรรมมีขนาดเล็ก ในขณะเดียวกันความสามารถในการสร้างรายได้ที่ดีของ KBank จะช่วยสนับสนุนฐานะเงินกองทุนของธนาคารจากกำไรสะสมที่เพิ่มขึ้นในอีกหลายปีข้างหน้า

เงินกองทุนและสภาพคล่องที่มีเสถียรภาพ: โครงสร้างการระดมทุนของ KBank ได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายทางธุรกิจในด้านธุรกรรมทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับลูกค้ารายย่อยและลูกค้า SME ธนาคารมีส่วนผสมของเงินฝากที่เอื้อประโยชน์ต่อต้นทุนการระดมทุน โดยสัดส่วนเงินฝากบัญชีกระแสรายวันและบัญชีออมทรัพย์ที่มีต้นทุนต่ำ (CASA) คิดเป็น 82% ของเงินฝากของลูกค้าทั้งหมด ซึ่งทำให้ธนาคารมีโครงสร้างเงินทุนที่มั่นคง อัตราส่วนเงินกู้/เงินฝากของธนาคารยังคงทรงตัวที่ 94% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งสอดคล้องกับค่าเฉลี่ยของภาคการธนาคารที่ 93%

มีความสำคัญต่อระบบอย่างชัดเจน: อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลของ KBank มีปัจจัยสนับสนุนมาจากความสำคัญของธนาคารต่อระบบการเงินของไทยที่อยู่ในระดับสูง จึงทำให้มีโอกาสสูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ทั้งนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารเป็นหนึ่งในหกธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบในประเทศไทย ซึ่งสะท้อนถึงขนาดและความเชื่อมโยงของธนาคารต่อระบบการเงิน อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล (ที่ BBB+/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ยังสะท้อนถึงความสามารถของรัฐบาลไทยในการให้การสนับสนุนแก่ธนาคารซึ่งบ่งชี้โดยอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของประเทศไทย

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ และอันดับเครดิตภายในประเทศ
การปรับลดอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลและอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินพร้อมกันจะส่งผลให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิถูกปรับลดอันดับเช่นกัน อันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารอาจได้รับการปรับลดอันดับเป็น 'AA(tha)' หากฟิทช์มองว่าโครงสร้างเครดิตของธนาคารปรับตัวอ่อนแอลงเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นที่ได้รับการจัดอันดับในประเทศไทย

อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นของธนาคารอาจถูกปรับลดอันดับหากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารถูกปรับลดลงเป็น 'BBB-'

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารอาจถูกปรับลดลงเป็น 'bbb-' หากธนาคารมีฐานะทางการเงินที่อ่อนแอลงมากกว่าที่ฟิทช์คาด ซึ่งอาจสะท้อนได้โดยการปรับลดคะแนนของปัจจัยต่างๆ ที่ใช้พิจารณาอันดับเครดิต กรณีดังกล่าวอาจเกิดจากการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ช้ากว่าคาดเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจส่งผลให้ธนาคารยอมรับความเสี่ยงมากขึ้น หรือมีโครงสร้างทางธุรกิจที่อ่อนแอลงจากระดับปัจจุบัน โดยแรงกดดันดังกล่าวอาจบ่งชี้ได้จากการเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมที่สูงกว่า 6% เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง (ไตรมาส 1 ปี 2565 อยู่ที่ 4.4%) ประกอบกับธนาคารมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่ด้อยลง เช่น มีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของที่ต่ำกว่า 13 % (ไตรมาส 1 ปี 2565 อยู่ที่ 15.3%) และมีอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ต่ำกว่า 120% และ/หรือไม่สามารถรักษาระดับอัตรากำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ระดับสูงกว่า 1.5% (ไตรมาส 1 ปี 2565 อยู่ที่ 2.1%) ได้

อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล
อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลอาจถูกปรับลดอันดับหากฟิทช์เชื่อว่าความสามารถที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารนั้นลดลง เหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นหากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทยถูกปรับลดอันดับ นอกจากนี้การปรับลดอันดับเครดิตยังอาจเกิดขึ้นได้หากฟิทช์เชื่อว่าโอกาสที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนแก่ KBank ลดลง เช่น จากการลดลงอย่างมีนัยสำคัญของระดับความสำคัญของธนาคารที่มีต่อระบบ หรือมีการเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อยที่โอกาสที่ KBank จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลจะปรับตัวลดลงในระยะปานกลาง

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ และอันดับเครดิตภายในประเทศ
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ KBank อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับหากอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลหรืออันดับความแข็งแกร่งทางการเงินได้รับการปรับเพิ่มอันดับ ทั้งนี้อันดับเครดิตภายในประเทศของ KBank ได้รวมการพิจารณาถึงโครงสร้างอันดับเครดิตของธนาคารเทียบกับธนาคารอื่นในประเทศที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศด้วย

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ KBank อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับเป็น 'bbb+' หากอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญของธนาคารปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่โครงสร้างธุรกิจสามารถสนับสนุนให้ธนาคารมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งกว่าอุตสาหกรรมได้อย่างสม่ำเสมอโดยที่ไม่มีการยอมรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะต้องได้รับแรงหนุนจากสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมากและจะเห็นได้จากอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ เช่น อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ปรับตัวสูงกว่า 2.5% และค่าเฉลี่ยอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม 4 ปีย้อนหลังอยู่ในระดับต่ำกว่า 3% โดยที่ยังคงความสามารถในการรองรับความเสี่ยง เช่น การมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของที่สูงกว่า 16% อย่างไรก็ตามโอกาสการปรับเพิ่มอันดับในระยะอันใกล้นี้ค่อนข้างจำกัดเนื่องจากความท้าทายของสภาพแวดล้อมในการดำเนินงาน

อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล
อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลอาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับหากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทยได้รับการปรับเพิ่ม ซึ่งอาจบ่งชี้ได้ว่ารัฐบาลมีความสามารถเพิ่มขึ้นในการสนับสนุนธนาคารที่มีความสำคัญต่อระบบการเงินในประเทศรวมถึง KBank อย่างไรก็ตามการพิจารณาอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลต้องคำนึงถึงโอกาสในการให้การสนับสนุนธนาคารว่าจะยังคงอยู่ในระดับเดิม

อันดับเครดิตหุ้นกู้และอันดับเครดิตอื่น
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ KBank ได้รับการจัดอันดับเครดิตให้อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวนับเป็นภาระผูกพันที่ไม่ด้อยสิทธิของธนาคาร

หุ้นกู้ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของ KBank ได้รับการจัดอันดับที่ระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตอ้างอิง (ซึ่งคืออันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน) อยู่สองอันดับ เพื่อสะท้อนความเสี่ยงของการขาดทุนจากการชำระคืนเงินกู้ (loss severity risk) ที่มีสูงกว่าเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ที่ไม่ด้อยสิทธิ ทั้งนี้ไม่ได้มีการลดทอนอันดับเครดิตเพิ่มเติมเนื่องจากข้อกำหนดสิทธิของหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวที่ไม่ได้มีคุณสมบัติรองรับผลขาดทุนในระหว่างการดำเนินกิจการ (going-concern loss absorption) ซึ่งอันดับเครดิตของตราสารและจำนวนอันดับเครดิตที่ลดทอนจากอันดับเครดิตอ้างอิงสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของฟิทช์ในการจัดอันดับเครดิตตราสารประเภทดังกล่าว

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ KBank อาจถูกปรับลดอันดับลงหากมีการปรับลดอันดับเครดิตอ้างอิงซึ่งคืออันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว

การปรับลดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารจะส่งผลให้อันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิของ KBank ได้รับการปรับลดอันดับ

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวน่าจะส่งผลให้อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของธนาคารได้รับการปรับเพิ่มอันดับ

อันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิของ KBank จะได้รับการปรับเพิ่มอันดับหากอันดับเครดิตอ้างอิงซึ่งคืออันดับความแข็งแกร่งทางการเงินได้รับการปรับเพิ่มอันดับ

การปรับคะแนนของปัจจัยในการพิจารณาอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับคะแนนที่ให้แก่ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ 'bbb' อยู่สูงกว่าคะแนนตามเกณฑ์ซึ่งอยู่ในกลุ่ม 'bb' เนื่องจากการปรับเพิ่มคะแนนด้วยปัจจัยด้าน 'อันดับเครดิตของประเทศ'

อันดับคะแนนที่ให้แก่ปัจจัยด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่ 'bbb-' อยู่สูงกว่าคะแนนตามเกณฑ์ซึ่งอยู่ในกลุ่ม 'bb' เนื่องจากการปรับเพิ่มคะแนนด้วยปัจจัยด้าน 'หลักประกันและระดับสำรองผลขาดทุนทางเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น'

อันดับเครดิตที่มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตอื่น
อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลของ KBank มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตสากลของประเทศไทย

การพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)
ระดับคะแนนที่สูงที่สุดสำหรับความสัมพันธ์ของ ESG ต่ออันดับเครดิต (หากมีการเปิดเผย) แสดงว่าระดับคะแนนจะอยู่ที่ระดับ 3 ซึ่งหมายความว่าปัจจัยด้าน ESG จะไม่ส่งผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบในระดับที่น้อยมากต่ออันดับเครดิตของธนาคาร ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยจากลักษณะของธุรกิจหรือจากการบริหารจัดการของธนาคารก็ตามสำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมหาได้จาก www.fitchratings.com/esg

KBank:
รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดมีดังนี้

  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว คงอันดับที่ 'BBB'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ 'F2'
  • อันดับความเข็งแกร่งทางการเงิน คงอันดับที่ 'bbb'
  • อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล คงอันดับที่ 'bbb'
  • อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับที่ 'AA+(tha)'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
  • อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ 'F1+(tha)'
  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน คงอันดับที่ 'BBB'
  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ด้อยสิทธิคงอันดับที่ 'BB+'

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ