เชฟรอนทุ่มทุนกว่า 300 ล้านบาท ลงนามบันทึกความร่วมมือกับจุฬาฯ จัดตั้งหลักสูตรมหาบัณฑิตธรณีศาสตร์ปิโตรเลียม

ข่าวทั่วไป Tuesday March 25, 2008 15:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 มี.ค.--เชฟรอน ประเทศไทย
เชฟรอนนำประเทศไทยเข้าร่วมโครงการ University Partnership Program โครงการระดับโลกมุ่งพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านธรณีศาสตร์ของภูมิภาค
บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือในการจัดตั้งหลักสูตรมหาบัณฑิตธรณีศาสตร์ปิโตรเลียม ผลักดันให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งผลิตมหาบัณฑิตที่มีคุณภาพ และความเชี่ยวชาญทางธรณีศาสตร์ปิโตรเลียมของภูมิภาค โดยเชฟรอนสนับสนุนงบประมาณในวงเงินสูงสุดเป็นจำนวน 10 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 300 ล้านบาท เป็นเวลา 5 ปี ซึ่งรวมถึงจัดหาบุคลากรผู้สอนจากต่างประเทศ ให้ทุนการศึกษา ความร่วมมือด้านการวิจัย เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิตได้เรียนรู้เทคโนโลยีอันทันสมัยด้านธรณีศาสตร์ปิโตรเลียมจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หวังผลิตมหาบัณฑิตที่มีความรอบรู้และเชี่ยวชาญ และเพื่อรองรับความต้องการบุคลากรของประเทศไทยและภูมิภาคด้านการสำรวจปิโตรเลียมให้มีความรู้ในเชิงลึกในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยจะเริ่มเปิดภาคการศึกษาแรกในปี พ.ศ. 2552
นายธารา ธีรธนากร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า “เชฟรอนเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกที่ประกอบธุรกิจด้านพลังงานอย่างครบวงจร ในประเทศไทยเราเป็นผู้นำด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และนอกเหนือจากบทบาทของการเป็นผู้จัดหาพลังงานหลัก เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศแล้ว เชฟรอนยังตระหนักและดำเนินนโยบายทางกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างจริงจัง โดยเฉพาะด้านการศึกษานั้น เชฟรอนเล็งเห็นถึงความสำคัญว่าเป็นรากฐานของการพัฒนาในทุก ๆ ด้าน เราจึงให้การสนับสนุนกิจกรรมด้านการศึกษาในหลากหลายโครงการแก่ทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด”
“การพัฒนาหลักสูตรมหาบัณฑิตธรณีศาสตร์ปิโตรเลียม ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยและในภูมิภาค จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่ออนาคตด้านการพัฒนาพลังงานของประเทศและภูมิภาค เป็นการสร้างบุคลากรเพื่อทดแทนผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ในการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมใหม่ๆ ในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยลดภาระการสูญเสียเงินตราต่างประเทศจากการนำเข้าพลังงานจากแหล่งภายนอกประเทศอีกด้วย” นายธารา กล่าวเพิ่มเติม
โครงการนี้มีชื่อภาษาอังกฤษว่า University Partnership Program เป็นโครงการระดับโลกที่เชฟรอนจับมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในหลายๆ ประเทศ อาทิเช่น สถาบันเทคโนโลยีบันดังในประเทศอินโดนีเซีย มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ออสเตรเลีย สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซสหรือเอ็มไอที มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และ มหาวิทยาลัยเท็กซัส เอ แอนด์ เอ็ม ในประเทศสหรัฐอเมริกา ในการที่จะร่วมกันพัฒนาการศึกษาทั้งในแง่ของหลักสูตร การสนับสนุนด้านบุคลากรและทุนการศึกษา การวิจัย และเทคโนโลยีต่างๆ โดยการคัดเลือกมหาวิทยาลัยเข้าร่วมโครงการนั้น จะมองหาสถาบันการศึกษาที่มีความโดดเด่นในด้านวิชาการ แนวคิดที่ทันสมัยและมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาการศึกษาในเชิงลึกให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ด้าน ศาสตราจารย์ คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงโครงการว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่ง ในฐานะที่เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยระดับนานาชาติที่ได้รับคัดเลือกจากเชฟรอน ให้เป็นสถาบันการศึกษาที่ทำการเปิดหลักสูตรโดยได้รับการสนับสนุนทางด้านงบประมาณและการดำเนินการโครงการในระยะแรกเป็นเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ไปจนถึง พ.ศ. 2557 นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่บริษัทเอกชนได้เห็นความสำคัญของการพัฒนาการศึกษา เนื่องจากสภาวการณ์พลังงานของโลกและของประเทศในปัจจุบัน การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ การผลิตบัณฑิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาธรณีศาสตร์ปิโตรเลียมจะมีส่วนช่วยในการสำรวจและวางแผนก่อน ระหว่าง และหลังงานการสำรวจให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ”
โครงการความร่วมมือในการจัดตั้งหลักสูตรมหาบัณฑิตธรณีศาสตร์ปิโตรเลียมนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ถือเป็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างแท้จริง
นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานในพิธีลงนาม กล่าวทิ้งท้ายว่า “นับเป็นนิมิตหมายอันดีอย่างยิ่งที่ได้เห็นการจับมือกันของหน่วยงานภาคเอกชน คือ บริษัทเชฟรอนฯ ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานระดับโลก และสถาบันการศึกษาชั้นนำอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผนึกกำลังกันในการร่วมมือจัดตั้งหลักสูตรมหาบัณฑิตธรณีศาสตร์ปิโตรเลียม เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตมหาบัณฑิตที่มีคุณภาพและความเชี่ยวชาญทางธรณีศาสตร์ปิโตรเลียม อันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาในด้านการสำรวจหาแหล่งพลังงาน ซึ่งนับเป็นการสนองต่อนโยบายพลังงานของรัฐที่เน้นการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการ โดยพึ่งพาแหล่งพลังงานภายในประเทศให้มากที่สุด”
“โครงการดังกล่าวยังถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในวงการศึกษาของประเทศ เนื่องจากการพัฒนาหลักสูตรนี้นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยรวมทั้งในระดับภูมิภาค ซึ่งการที่บุคลากรของไทยได้ทำงานร่วมกับบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถเฉพาะทางจากสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ และถ่ายทอดวิทยาการต่างๆ อันจะช่วยส่งเสริมศักยภาพและเพิ่มพูนประสบการณ์ของคณาจารย์ในภาคธรณีศาสตร์ปิโตรเลียมนี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาหลักสูตรการศึกษานี้ของประเทศไทยต่อไปในระยะยาว” นายไกรฤทธิ์กล่าวในตอนท้าย
เกี่ยวกับเชฟรอน ประเทศไทย
บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมากว่า 45 ปี และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทฯ มีผลการปฏิบัติงานทั้งทางด้านความปลอดภัย และการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับมาตรฐานสากล ปัจจุบันเชฟรอนมีแท่นผลิตปิโตรเลียมมากกว่า 195 แท่นในอ่าวไทย โดยในปี พ.ศ. 2550 ที่ผ่านมาเชฟรอนมียอดการผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเหลวโดยเฉลี่ยประมาณ 138,000 บาร์เรลต่อวัน (สุทธิ 71,000 บาร์เรลต่อวัน) และสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติโดยเฉลี่ยประมาณ 1,700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (สุทธิ 916 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน) เพื่อตอบสนองความต้องการใช้พลังงานของคนไทย
ท่านสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับเชฟรอนเพิ่มเติมได้ที่ www.chevron.com หรือ www.chevronthailand.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ