ก.ล.ต. ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ จัดสัมมนากลุ่มย่อย มุ่งเน้นประเด็นด้านการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) หรือ HRDD เป็นกิจกรรมแรกในโครงการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนสำหรับภาคธุรกิจในตลาดทุนไทย (ระยะที่ 2) เพื่อสร้างความเข้าใจและระดมความเห็นสำหรับแนวทางปฏิบัติของภาคธุรกิจ รวมถึงเปิดเผยในแบบ 56-1 One Report เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565
โครงการฯ ระยะที่ 2 ในปี 2565 ซึ่งจัดต่อเนื่องจากระยะที่ 1 ปี 2564 มุ่งเน้นการศึกษาวิจัยและจัดทำคู่มือแนวทาง ตลอดจนการจัดอบรมและสัมมนาเกี่ยวกับ HRDD โดยได้จัดสัมมนากลุ่มย่อยเป็นกิจกรรมแรก มีคณาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมบรรยายเพื่อสร้างความรู้เข้าใจเกี่ยวกับ HRDD และได้รับเกียรติจากผู้แทนของบริษัทจดทะเบียนทั้งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และระดมความคิดเห็นร่วมกัน เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำเครื่องมือเพื่อช่วยส่งเสริมให้ภาคธุรกิจดำเนินการด้วยความเคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักการชี้แนะขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (หลักการ UNGPs) ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยสัมมนาในครั้งนี้เป็นการจัดงานแบบปลอดคาร์บอน (Carbon Neutral Event)
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต. ในฐานะเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายพันธกิจตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562 - 2565) หรือ National Action Plan on Business and Human Rights (แผน NAP) ตลอดจนแผน NAP ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570) ที่อยู่ระหว่างกระบวนการยกร่าง ก.ล.ต. ได้ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ จัดทำโครงการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน สำหรับภาคธุรกิจในตลาดทุนไทย ในปีนี้เป็นระยะที่ 2 ซึ่งเป็นไปตามกรอบที่ได้รับความเห็นชอบคณะทำงานจัดทำหลักสูตรอบรม "ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน สำหรับภาคธุรกิจในตลาดทุน" เพื่อมุ่งเน้นการสร้างความตระหนักรู้เรื่อง HRDD ให้แก่ภาคธุรกิจในตลาดทุน และนำสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงนำมาเปิดเผยในแบบ 56-1 One report ได้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แผนดำเนินการภายใต้โครงการระยะที่ 2 จะเริ่มจากการจัดสัมมนากลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากบริษัทจดทะเบียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมข้อมูลและนำไปสู่การจัดทำงานวิจัยและคู่มือสำหรับบริษัทจดทะเบียนนำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดทำ HRDD ให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย จากนั้นจะจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น (CEO Dialogue) และการจัดอบรมการทำ HRDD แก่ภาคธุรกิจในตลาดทุนต่อไป เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการดำเนินธุรกิจด้วยความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนสอดคล้องกับแผน NAP และหลักการ UNGPs อย่างแท้จริงและเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ ผู้ร่วมสัมมนาส่วนใหญ่เห็นความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงประเด็นสิทธิมนุษยชน และสนับสนุนการนำหลักการ UNGPs และ HRDD มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ และได้ร่วมสะท้อนมุมมองทั้งในส่วนการระบุประเด็นความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน การให้ความร่วมมือของผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกองค์กร โดยนอกจากจะช่วยลดประเด็นความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจแล้ว ยังได้รับการยอมรับจากชุมชนโดยรอบ และยังตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่คุณค่าได้อีกด้วย