EXIM BANK เตือนสติผู้ส่งออกไทยรับมือค่าเงินแข็งในเชิงรุก เร่งสร้างโอกาสและเกราะคุ้มกันธุรกิจส่งออก

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 25, 2008 15:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 มี.ค.--EXIM BANK
ฝ่ายวิชาการ EXIM BANK ชูกรณีศึกษาญี่ปุ่น-นิวซีแลนด์ แนะผู้ส่งออกไทยรับมือเงินบาทแข็งอย่างมีสติ รุกขยายฐานการผลิตในต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยระบายอุปทานเงินดอลลาร์สหรัฐและชะลอการแข็งค่าของเงินบาท รวมทั้งป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) เพื่อความราบรื่นในการดำเนินธุรกิจท่ามกลางสภาวะเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ฝ่ายวิชาการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ได้จัดทำบทวิเคราะห์เรื่อง “ประเทศไทยจะใช้ประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่าได้อย่างไร” ซึ่งเสนอแนะทางออกให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยรับมือกับเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องอย่างมีสติและรอบคอบ โดยนำกรณีศึกษาจากญี่ปุ่นและนิวซีแลนด์มาปรับใช้เพื่อสร้างโอกาสและเกราะคุ้มกันให้แก่ธุรกิจส่งออกของไทย
ท่ามกลางปัญหาเงินบาทแข็งค่า เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักชะลอตัว และความเสี่ยงที่จะถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences: GSP) ในสินค้าหลายรายการ ผู้ประกอบการไทยควรรุกขยายฐานการผลิตไปต่างประเทศเหมือนญี่ปุ่นในอดีต ซึ่งประสบปัญหาเงินเยนแข็งค่าขึ้นถึง 67% ภายในเวลา 3 ปี (ปี 2528-2531) ขณะที่สินค้าญี่ปุ่นถูกซ้ำเติมจากมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) ของสหรัฐฯ และยุโรป ทางออกของญี่ปุ่นในเวลานั้นคือ รุกสร้างฐานการผลิตภายนอกประเทศ โดยมีเป้าหมายที่เอเชียตะวันออกและอาเซียน เพื่อประหยัดต้นทุนการผลิตโดยใช้ประโยชน์จากเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นและแรงงานราคาถูกในท้องถิ่น นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างโอกาสส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่เข้าไปลงทุน โดยเฉพาะเครื่องจักร และโอกาสส่งออกต่อไปยังประเทศที่สามโดยไม่ต้องเผชิญกับมาตรการ AD ที่ประเทศต่างๆ นำมาใช้กับสินค้าญี่ปุ่น การรุกขยายฐานการลงทุนในต่างประเทศในคราวนั้นทำให้มูลค่าเงินลงทุนโดยตรงของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นจาก 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2528 เป็น 67,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2532 หรือ 30% ของมูลค่าเงินลงทุนโดยตรงทั้งหมดของโลก และทำให้ญี่ปุ่นคงสถานะเป็นหนึ่งในผู้นำเศรษฐกิจและการค้าของโลกได้จนถึงปัจจุบัน
แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่มีความได้เปรียบด้านเทคโนโลยีการผลิตและสินค้าทุนที่จะได้ประโยชน์จากกลยุทธ์การลงทุนในต่างประเทศเท่ากับญี่ปุ่นในขณะนั้น แต่การขยายฐานการลงทุนของไทยในต่างประเทศยังเป็นกลยุทธ์ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการไทย สามารถช่วยยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยด้วยต้นทุนการผลิตและต้นทุนแรงงานที่ถูกลง ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยได้รับ GSP ในการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และยุโรป ทั้งยังเป็นการช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้อีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากการออกไปลงทุนในต่างประเทศเป็นช่องทางระบายอุปทานเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีอยู่มากในประเทศ
กรณีของนิวซีแลนด์ ผู้ส่งออกนิวซีแลนด์รับมือกับสถานการณ์ค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์แข็งขึ้นถึง 46% ในช่วงเวลา 5 ปี (ปี 2546-2550) ด้วยการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) โดย มูลค่าส่งออกของนิวซีแลนด์ที่มีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้นจาก 40% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดในปี 2546 เป็น 70% ในปี 2550 โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกษตรมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนสูงถึงเกือบ 80% ของมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด
ปัจจุบันผู้ส่งออกไทยยังให้ความสำคัญกับการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนไม่มากนัก โดยดูจาก Hedging Ratio ของผู้ส่งออกไทย ณ กันยายน 2550 อยู่ที่ระดับเพียง 32% ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากสถาบันการเงินมักตั้งวงเงินขั้นต่ำในการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยไม่สามารถซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าได้ อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ยกเลิกมาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้นและออกมาตรการเสริมซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยมีโอกาสในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น โดย ธปท. จะรับซื้อต่อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าจากสถาบันการเงินที่ได้ทำสัญญาซื้อเงินตราต่างประเทศจากผู้ประกอบการรายย่อยไว้ จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการไทยจะทำการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อการดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่นโดยไม่ต้องกังวลว่าเงินบาทจะแข็งค่าไปถึงไหนและจะหยุดแข็งค่าเมื่อไร รวมทั้งช่วยบรรเทาและลดผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท
นอกจากนี้ การกู้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐมาประกอบธุรกิจส่งออกและชำระคืนเงินกู้เป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐโดยไม่ต้องแปลงเป็นเงินบาทเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดภาระของผู้ส่งออกในการชำระคืนเงินกู้ ซึ่งผู้ส่งออกสามารถซื้อประกันความเสี่ยงล่วงหน้า (Forward) เฉพาะในส่วนกำไรได้โดยไม่ก่อให้เกิดแรงกดดันต่อเงินบาทในตอนขายคืน แต่อาจจะมีแรงกดดันต่อเงินบาทบ้างในตอนกู้
บทวิเคราะห์เรื่อง "ประเทศไทยจะใช้ประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่าได้อย่างไร":
ประเทศไทยจะใช้ประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่าได้อย่างไร
โดย ฝ่ายวิชาการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
เงินบาทจะแข็งค่าไปถึงไหน และจะหยุดแข็งเมื่อไร? เป็นคำถามยอดฮิตที่ติดปากผู้ประกอบการในแวดวงส่งออกเป็นอย่างมากในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะปัญหาเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าที่สร้างสถิติใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่าจากปัญหาเศรษฐกิจและภาคการเงินของสหรัฐฯ ที่ย่ำแย่และไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงในเร็ววัน ทำให้ยากที่จะคาดการณ์ว่าวิกฤตเงินบาทแข็งค่าในครั้งนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อไร ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตหรือผู้ส่งออก คือการปรับตัวและใช้สถานการณ์เงินบาทแข็งค่าให้เกิดประโยชน์มากที่สุด พร้อมไปกับการสร้างเกราะคุ้มกันให้แก่ตนเอง ซึ่งจะช่วยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องผ่านช่วงวิกฤติเงินบาทครั้งนี้ไปได้อย่างปลอดภัยและคุ้มค่า
เมื่อกล่าวถึงการปรับตัว หากดูจากประสบการณ์ของประเทศอื่นๆ ที่เคยเผชิญปัญหาเงินแข็งค่า (Currency Appreciation) พบว่า มีหลายประเทศที่ผู้ประกอบการสามารถรับมือกับปัญหาเงินแข็งค่าได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างความสำเร็จที่เห็นได้ชัดคือ กรณีที่เกิดขึ้นกับญี่ปุ่น ซึ่งคงต้องย้อนกลับไปในปี 2528 ภายหลังการทำข้อตกลง Plaza Accord เงินเยนของญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้นถึง 67% ภายในเวลา 3 ปี จาก 250 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐในปี 2528 เป็น 150 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐในปี 2531 ขณะเดียวกันในช่วงเวลาดังกล่าว สินค้าญี่ปุ่นยังถูกซ้ำเติมจากมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) จากสหรัฐฯ และยุโรป
ในเวลานั้น ญี่ปุ่นหาทางออกด้วยวิธีการเชิงรุก คือ แทนที่จะมองเงินเยนแข็งค่าเป็นอุปสรรค แต่กลับมองเป็นโอกาสในการออกไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อสร้างฐานการผลิตภายนอกประเทศ โดยพุ่งเป้ามายังเอเชียตะวันออกและอาเซียน ซึ่งแน่นอนว่า เงินเยนที่แข็งค่าช่วยให้ญี่ปุ่นมีต้นทุนถูกลงในการนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศ และยังช่วยลดต้นทุนค่าจ้างแรงงาน เพราะค่าจ้างในประเทศที่เข้าไปลงทุนถูกกว่าในญี่ปุ่น ขณะเดียวกันยังเป็นโอกาสในการขยายตลาดส่งออกสินค้าญี่ปุ่นไปประเทศปลายทางเหล่านั้น โดยเฉพาะสินค้าทุนประเภทเครื่องจักร ตลอดจนสามารถหลีกเลี่ยงมาตรการ AD ที่ประเทศต่างๆ นำมาใช้กับสินค้าญี่ปุ่นได้ในคราวเดียวกัน ทั้งนี้ ผลของการออกไปลงทุนในต่างประเทศทำให้มูลค่าเงินลงทุนโดยตรงของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นจาก 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2528 เป็น 6.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2532 หรือคิดเป็น 30% ของมูลค่าเงินลงทุนโดยตรงทั้งหมดของโลก ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นแรงสนับสนุนสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นคงสถานะเป็นหนึ่งในผู้นำเศรษฐกิจและการค้าของโลกได้จวบจนทุกวันนี้
เมื่อย้อนกลับมามองสถานการณ์ส่งออกของบ้านเราในปัจจุบัน พบว่าคล้ายคลึงกับญี่ปุ่นในช่วงกลางทศวรรษ 1980 ดังกล่าวมาก คือ ได้รับผลกระทบจากปัจจัยรุมเร้ารอบด้าน ทั้งเงินบาทแข็งค่า เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักชะลอตัว รวมถึงความเสี่ยงที่อาจถูกตัดสิทธิ GSP ในหลายสินค้า ดังนั้น การขยายฐานการผลิตไปต่างประเทศเช่นที่ญี่ปุ่นเคยปฏิบัติมาก่อนนับเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยไว้ ทั้งนี้ การลงทุนในต่างประเทศในภาวะที่เงินบาทแข็งค่าเช่นปัจจุบันนับเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะนอกจากจะทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนถูกลง รวมถึงสามารถใช้ประโยชน์จากสิทธิ GSP และแรงงานราคาถูกของประเทศที่เข้าไปลงทุนแล้ว ยังช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้อีกทางหนึ่งด้วย เพราะการลงทุนในต่างประเทศนับเป็นช่องทางระบายอุปทานเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีอยู่มากในประเทศ อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เงินบาทแข็งค่า ออกไปได้ส่วนหนึ่ง
นอกจากประสบการณ์ของญี่ปุ่นแล้ว นิวซีแลนด์เป็นกรณีตัวอย่างของการปรับตัวในอีกแง่มุมหนึ่ง ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเงินดอลลาร์ของนิวซีแลนด์แข็งค่าขึ้นถึง 46% จาก 1.9 นิวซีแลนด์ดอลลาร์ต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงต้นปี 2546 เป็น 1.3 นิวซีแลนด์ดอลลาร์ต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงปลายปี 2550 ซึ่งในช่วงดังกล่าวผู้ส่งออกนิวซีแลนด์รับมือกับปัญหาเงินแข็งค่าด้วยการหันมามุ่งเน้นป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) ซึ่งจากผลการศึกษาของ Ministry of Economic Development ประเทศนิวซีแลนด์พบว่า ในปี 2546 มูลค่าส่งออกของนิวซีแลนด์ที่มีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมีสัดส่วนเพียง 40% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด อย่างไรก็ตาม สัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดมาอยู่ที่ระดับ 70% ในปี 2550 โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก ผู้ส่งออกนิวซีแลนด์มีการป้องกันความเสี่ยงคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงเกือบ 80% ของมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด
หันกลับมามองประเทศไทย เมื่อพิจารณาจากข้อมูล Hedging Ratio ของผู้ส่งออก ซึ่งสะท้อนถึงสัดส่วนการทำธุรกรรมด้านการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเทียบกับการทำธุรกรรมส่งออกทั้งหมด พบว่าในปี 2550 (ข้อมูลถึงเดือนกันยายน) Hedging Ratio ของผู้ส่งออกอยู่ที่ระดับเพียง 32% แสดงให้เห็นว่าผู้ส่งออกไทยยังตระหนักถึงการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนไม่มากเท่าที่ควร ซึ่งปัญหาส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นกับผู้ส่งออกรายย่อย คือ สถาบันการเงินมักตั้งวงเงินขั้นต่ำในการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยซึ่งส่วนใหญ่มียอดคำสั่งซื้อไม่ถึงวงเงินขั้นต่ำดังกล่าว ไม่สามารถซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าได้ อย่างไรก็ตาม หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยกเลิกมาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้น ก็ได้ออกมาตรการเสริม ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยมีโอกาสในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น โดย ธปท. จะรับซื้อต่อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าจากสถาบันการเงินที่ได้ทำสัญญาซื้อเงินตราต่างประเทศจากผู้ประกอบการรายย่อยไว้ ดังนั้น จึงถือเป็นจังหวะดีของผู้ประกอบการไทยที่จะหันมาให้ความสำคัญกับการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน อันจะช่วยบรรเทาและลดผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าได้ระดับหนึ่ง
การปรับตัวของญี่ปุ่นและนิวซีแลนด์ภายใต้ภาวะเงินแข็งค่า เป็นตัวอย่างที่ดีที่จะใช้เป็นกรณีศึกษาและนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศเรา โดยนอกจากจะเป็นโอกาสในการขยายการผลิตและการลงทุนไปยังประเทศที่เป็นแหล่งทรัพยากรและแรงงาน รวมถึงเป็นตลาดรองรับสินค้าของเราแล้ว ยังเป็นโอกาสดีในการนำเข้าเครื่องจักรและเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งอย่างน้อยกรณีตัวอย่างของทั้งสองประเทศ ก็ยืนยันให้เห็นว่าการเผชิญกับเงินแข็งค่าอย่างมีสติ และใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าว พร้อมไปกับการไม่ละเลยที่จะป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ก็จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่นโดยไม่ต้องคอยลุ้นระทึกว่า เงินบาทจะแข็งค่าไปถึงไหน และจะหยุดแข็งเมื่อไร?
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ส่วนประชาสัมพันธ์ สำนักบริหาร
โทร. 0 2271 3700, 0 2278 0047, 0 2617 2111 ต่อ 1140-6

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ