"นิติทันตวิทยา" หนึ่งในศาสตร์พิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลที่แม่นยำ "เปิดปาก ไขความจริงจากศพ" ช่วยคลี่คลายคดี สืบค้นบุคคลผู้เสียชีวิตในเหตุภัยพิบัติ คณะทันตฯ จุฬาฯ พร้อมผลักดันเปิดหลักสูตร มุ่งเพิ่มผู้เชี่ยวชาญ
แม้จะเป็นร่างไร้ลมหายใจ แต่ฟันของผู้เสียชีวิตก็ยังสามารถบอกเล่าความจริงได้ว่าตัวเขาเป็นใครและเสียชีวิตอย่างไร เช่นที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทันตแพทย์หญิง ดร.พิสชา พิทยพัฒน์ ภาควิชารังสีวิทยา คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติทันตวิทยา ได้ร่วมตรวจสภาพฟันของอดีตดาราสาวแตงโม นิดา หรือ ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ เพื่อไขข้อข้องใจในคดีและคลี่คลายหลายคำถามของสังคม
"ในคดีการเสียชีวิตของนักแสดงสาวต้องการความรู้เฉพาะทางเข้าไปตรวจพิสูจน์ ซึ่งทางนิติเวชโรงพยาบาลตำรวจได้ติดต่อให้เราเข้าไปช่วยตรวจฟันผู้เสียชีวิต ทำให้ทุกคนได้เห็นว่าทันตแพทย์เองก็มีส่วนสำคัญในงานด้านนิติวิทยาศาสตร์เช่นกัน" ผศ.ทญ.ดร.พิสชา กล่าว
นิติทันตวิทยาเริ่มเป็นที่รู้จักในประเทศไทยราว 20 ปีที่ผ่านมานี่เอง ซึ่งในปัจจุบันสาขานิติทันตวิทยาถือเป็นหนึ่งในสาขาเฉพาะทางของราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทย แต่ยังไม่มีหลักสูตรฝึกอบรมเต็มรูปแบบ ทันตแพทย์ผู้ความเชี่ยวชาญด้านนี้หลายท่านจึงเป็นผู้ที่จบการศึกษามาจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตามทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็ยังมีจำกัด คือ 24 คนเท่านั้น ซึ่งอาจจะไม่เพียงพอกับจำนวนคดีความและเหตุการณ์ที่ต้องการการระบุตัวตนบุคคล คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จึงพร้อมผลักดันให้มีการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรนิติทันตวิทยา เพื่อเพิ่มบุคลากรด้านนี้
จุดเริ่มต้นแรงบันดาลใจในงานนิติทันตวิทยา
ช่วงปลายปี 2547 เกิดเหตุภัยพิบัติสึนามิ ผศ.ทญ.ดร.พิสชา ซึ่งในขณะนั้นเป็นอาจารย์ที่คณะ ทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้ลงไปยังพื้นที่ประสบภัยเพื่อช่วยตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล ซึ่งหลายรายแทบไม่เหลือร่องรอยที่จะพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลด้วยวิธีการอื่นๆ ได้ นอกจาก "ฟัน"
"เหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้มีเพียง 2 คนเท่านั้น" ผศ.ทญ.ดร.พิสชา ย้อนเล่าปัญหาความขาดแคลนบุคลากรและระบบการเก็บข้อมูลทันตกรรมของประเทศ
"คนไทยที่เสียชีวิตในช่วงนั้นส่วนมากเป็นชาวประมงและคนที่ทำงานหรืออาศัยอยู่ริมทะเล เราไม่ทราบว่าจะไปค้นข้อมูลด้านทันตกรรมก่อนเสียชีวิตของพวกเขาจากไหน คนไทยจึงได้รับการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลด้วยฟันค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับชาวต่างชาติ ที่มีประวัติฟันครบถ้วน ติดต่อไปก็ได้รับการส่งกลับมาเป็นแฟ้ม ทั้งภาพถ่ายในปาก ภาพถ่ายเอกซเรย์ ทำให้พิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลได้ง่าย"
เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นแรงบันดาลใจให้ ผศ.ทญ.ดร.พิสชา เดินทางไปศึกษาต่อด้านนิติทันตวิทยาที่ประเทศเบลเยียม
นิติทันตวิทยา หนึ่งในศาสตร์สืบอัตลักษณ์บุคคล
ผศ.ทญ.ดร.พิสชา อธิบายถึงการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลตามหลักตำรวจสากลว่านอกจากจะดูได้จากรอยสัก หรือวัตถุพยานต่างๆ เช่น กระเป๋าสตางค์ หรือบัตรประชาชน เป็นต้นแล้ว วิธีการทางวิทยาศาสตร์หลักๆ ที่ใช้มี 3 วิธีด้วยกัน ได้แก่ การพิสูจน์ลายนิ้วมือ การตรวจ DNA และการพิสูจน์ด้วยวิธีนิติทันตวิทยา ซึ่งทั้ง 3 วิธีอาศัยข้อมูลก่อนการเสียชีวิตเพื่อนำมาเปรียบเทียบ
การพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลด้วย DNA ต้องเก็บตัวอย่าง DNA ของผู้ที่เสียชีวิตไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่มีอยู่ เช่น เก็บ DNA จากอุปกรณ์เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของผู้เสียชีวิตซึ่งมีส่วนของ DNA เหลืออยู่ หรือเปรียบเทียบกับ DNA ของพ่อแม่ พี่น้อง หรือญาติสายตรง
การตรวจด้วยลายนิ้วมือ เมื่อเก็บลายนิ้วมือจากผู้เสียชีวิตแล้วจะนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลลายนิ้วมือในฐานข้อมูล หรือไปเก็บลายนิ้วมือจากบ้านพักอาศัยของผู้เสียชีวิต
การพิสูจน์ด้วยวิธีนิติทันตวิทยา คือการตรวจฟันผู้เสียชีวิต ซึ่งต้องหาข้อมูลการรักษาทางทันตกรรมก่อนเสียชีวิต ประวัติการทำฟันที่โรงพยาบาลหรือคลินิก เพื่อมาเปรียบเทียบกับสภาพฟันตอนที่เสียชีวิตแล้วว่าตรงกันหรือไม่
"การพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลของผู้เสียชีวิตจะใช้วิธีใดก็ขึ้นอยู่กับสภาพศพในตอนนั้น ถ้าสภาพศพเน่ามาก เหลือเฉพาะโครงกระดูก ก็อาจจะเก็บลายนิ้วมือไม่ได้ แต่พอจะใช้วิธีการเก็บ DNA หรือตรวจฟันได้" ผศ.ทญ.ดร.พิสชา กล่าว
ฟัน หลักฐานอัตลักษณ์บุคคลที่ทนทานที่สุด
ฟันเป็นอวัยวะที่มีความพิเศษเฉพาะบุคคลและเป็นส่วนที่แข็งแรงที่สุดในร่างกาย การพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลจากฟันจึงมีความแม่นยำ และคลาดเคลื่อนน้อย
"ส่วนประกอบของฟันมีแร่ธาตุมากกว่า 90 % ซึ่งมากกว่ากระดูกทั่วไป เพราะฉะนั้นจะทนความร้อน และทนแรงกระแทกได้ดีมาก"
ผศ.ทญ.ดร.พิสชา อธิบายวิธีการตรวจฟันผู้เสียชีวิตว่าคล้ายกับการตรวจฟันคนไข้ที่ยังมีชีวิตทั่วไป ในเบื้องต้นต้องเช็คดูว่าฟันครบหรือไม่ มีการอุดฟัน หรือฟันมีลักษณะพิเศษอะไร ซึ่งต้องตรวจอย่างละเอียดทุกซี่
"โดยเฉพาะในปัจจุบันมีการใช้วัสดุอุดฟันที่สีเหมือนฟันมาก จึงต้องใช้ไฟส่องสว่างเพื่อให้เห็นได้ชัด ส่วนศพที่เสียชีวิตในน้ำก็จะต้องทำความสะอาดเศษดินทรายต่างๆ ออกก่อนที่จะตรวจ"
หลังจากตรวจเช็คฟันจากภายนอกแล้ว ขั้นตอนต่อไปเป็นการเอกซเรย์ฟันทั้งปาก โดยใช้ฟิล์มเล็กๆ กับฟันทุกซี่ แล้วนำข้อมูลที่ดูด้วยตากับข้อมูลเอกซเรย์มาพิจารณาร่วมกัน ซึ่งการเอกซเรย์จะเห็นข้อมูลมากกว่า เช่น การอุดฟันที่ด้านข้าง การรักษารากฟัน หรือฟันคุด
"การตรวจพิสูจน์จากฟันมีความน่าเชื่อถือเทียบเท่ากับการตรวจ DNA แต่มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า จึงนิยมมากในต่างประเทศ เนื่องจากต่างประเทศมีการเก็บข้อมูลฟันก่อนเสียชีวิตอย่างชัดเจน สามารถสืบค้นได้ง่าย ส่วนการการเก็บตัวอย่าง DNA มีขั้นตอนการเก็บยากกว่า ต้องเก็บในอุณหภูมิต่ำ และต้องระวังการปนเปื้อน"
ชง "เชื่อม" ระบบเก็บข้อมูลทันตกรรม
สิ่งสำคัญสำหรับการพิสูจน์อัตลักษณ์ของบุคคลด้วยนิติทันตวิทยา คือประวัติการรักษาฟันก่อนการเสียชีวิต ผศ.ทญ.ดร.พิสชา ยกตัวอย่างระบบเชื่อมโยงข้อมูลประวัติทันตกรรมของประเทศเบลเยียม
"จากเหตุการณ์ระเบิดที่สนามบินบรัสเซลส์ (ปี 2559) มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทางเบลเยียมมีระบบฐานข้อมูลสุขภาพที่ดี เมื่อประชาชนไปรักษาที่ไหนจะมีการเสียบบัตรแล้วข้อมูลจะเชื่อมโยงได้ทั้งหมด มีเป็นไทม์ไลน์การรักษาอย่างละเอียด ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการสืบค้นข้อมูลการรักษาทางทันตกรรม"
ในประเทศไทย การเก็บข้อมูลประวัติการรักษาฟันยังไม่เข้าที่เข้าทาง เนื่องจากมีคลินิกเอกชนจำนวนมาก และแต่ละที่ก็มีการเก็บข้อมูลด้วยระบบที่แตกต่างกัน แม้ทันตแพทยสภาจะเริ่มส่งเสริมมาตรฐานทางสาธารณสุขร่วมกับการวางนโยบายการเก็บข้อมูลทางทันตกรรมของคนไข้ แต่ก็ยังไม่มีกฎหมายบังคับให้เก็บข้อมูลการทำฟันอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ดี ผศ.ทญ.ดร.พิสชา หวังว่าในอนาคตเมื่อการเชื่อมต่อข้อมูลทางสุขภาพทางสาธารณสุข (Health Link) ดำเนินการแล้วเสร็จ ก็จะทำให้การเข้าถึงข้อมูลด้านสาธารณสุขสะดวก รวดเร็ว ที่สำคัญคือมีการเชื่อมโยงข้อมูลการรักษาจากทุกที่ทั่วประเทศ รวมถึงเรื่องทันตกรรมด้วย
เตรียมผลักดันหลักสูตร เพิ่มจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านนิติทันตวิทยา
แม้ปัจจุบันจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านนิติทันตวิทยาจะเพิ่มขึ้นจาก 2 เป็น 24 คน แต่ก็ยังนับว่าน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนทันตแพทย์ทั่วประเทศจำนวนกว่า 20,000 คน และจำนวนประชากรกว่า 60 ล้านคน ในประเทศไทย
"ถ้าเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติร้ายแรงขึ้นอีก ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ก็ถือว่ายังไม่เพียงพอ" ผศ.ทญ.ดร.พิสชา กล่าว พร้อมผลักดันจัดตั้งหลักสูตรนิติทันตวิทยาที่คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งปลายปี 2565 นี้ จะมีอาจารย์จบการศึกษาด้านนิติมานุษยวิทยาจากสกอตแลนด์ กลับมาเป็นอาจารย์ประจำคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการจัดตั้งหลักสูตรต่อไป
"การผลักดันหลักสูตรให้เกิดขึ้นต้องดูช่องทางที่เหมาะสม และต้องมีเคสให้นิสิตได้ตรวจตลอดระยะเวลาในหลักสูตร ซึ่งอาจจะต้องร่วมมือกับโรงพยาบาลใหญ่ที่มีแผนกนิติเวชศาสตร์ โดยทำ MOU ร่วมกัน เพื่อให้นิสิตสามารถเข้าไปฝึกเรียนตามโรงพยาบาลต่างๆ ได้"
สำหรับนิสิตทันตแพทย์ที่สนใจด้านนิติทันตวิทยา ในอนาคตคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ อาจจะเปิดหลักสูตรอบรมระยะสั้นสำหรับสาขานี้ ซึ่งอาจจะทำได้เร็วกว่าการเปิดหลักสูตรใหม่
"แม้ประเทศไทยยังไม่มีการเรียนการสอนเฉพาะทางสำหรับสาขานี้ แต่เราควรวางรากฐานให้นิสิตทันตแพทย์ทุกๆ สาขาวิชา เห็นความสำคัญของการเก็บข้อมูลคนไข้ การบันทึกการรักษาคนไข้ต้องเก็บอย่างละเอียดและเป็นระบบเพื่อที่จะนำไปใช้ในอนาคต"
นิติทันตวิทยาในประเทศไทยอาจจะยังเป็นวิชาชีพที่ไม่สร้างรายได้ให้ทันตแพทย์เหมือนกับสาขาทันตกรรมอื่นๆ แต่การทำงานด้านนี้ก็สร้างคุณค่ามากมาย คุณค่าที่ได้มอบความจริงให้ผู้เสียชีวิตและสังคม
"การพิสูจน์ความจริงเป็นเกียรติที่ผู้เสียชีวิตควรได้รับ และยังช่วยให้ข้อมูลหรือไขข้อข้องใจให้กับญาติพี่น้อง หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิต ลดความกังวลใจ คลายข้อข้องใจและความสงสัยที่หาคำตอบไม่ได้ ดังคำกล่าวที่ว่า "We speak for the dead and protect the living. เราพูดแทนคนที่เสียชีวิตไปแล้ว และปกป้องคนที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วย" ผศ.ทญ.ดร.พิสชา กล่าวทิ้งท้าย