กรุงเทพฯ--25 มี.ค.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 12 สงขลา ดำเนินการฝึกซ้อมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากการก่อวินาศกรรมที่มีผลกระทบรุนแรง จังหวัดสงขลา ในวันพุธที่ 2 เมษายน 2551 ณ คลังน้ำมันปิโตรเลียม อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เพื่อจัดระบบการป้องกันภัยเตรียมความพร้อม และเสริมสร้างศักยภาพในการประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้ผู้ประสบภัยได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็วและปลอดภัย
นายประพัฒน์ ชูสิน ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 12 สงขลา เปิดเผยว่าเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างรุนแรง ทั้งยังสร้างความวิตกกังวลให้กับประชาชนในพื้นที่ ดังนั้น เพื่อเป็นการซักซ้อมเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 12 สงขลา จึงดำเนินโครงการฝึกซ้อมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากการก่อวินาศกรรมที่มีผลกระทบรุนแรง จังหวัดสงขลา ประจำปี พ.ศ.2551 ในวันพุธที่ 2 เมษายน 2551ณ บริเวณคลังน้ำมันปิโตรเลียม มหาชน สงขลา และบริษัท ปตท.สผ. จำกัด อ.สิงหนคร จ.สงขลา โดยมีบุคลากรด้านป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมการฝึกซ้อมแผนรวมกว่า 400 คน โดยกำหนดขั้นตอน
การดำเนินงาน ดังนี้ การประชุมซักซ้อมเตรียมความพร้อมในการฝึกซ้อมแผนฯ การประสานการปฏิบัติการเมื่อเกิดภัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการฝึกซ้อมแผนโดยจำลองสถานการณ์เหมือนจริง ประกอบด้วย การรับแจ้งเหตุ
การแจ้งเตือนภัย การเฝ้าระวังสถานการณ์ การรายงานข่าวสาร การสื่อสาร การประสานการปฏิบัติ การจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจ เพื่อกำกับควบคุม อำนวยการสั่งการ การค้นหา การเข้าเผชิญเหตุสถานการณ์ฉุกเฉิน การอพยพและการช่วยเหลือผู้ประสบภัย หลังเสร็จสิ้นการซ้อมแผนฯ จะมีการสรุปและประเมินผล เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการแก้ไขปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยพิบัติจากการก่อความไม่สงบและวินาศกรรม รวมทั้งการสนธิกำลังของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการประสานการปฏิบัติให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสนับสนุนการปฏิบัติตามแผนป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน เพื่อรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอันเนื่องมากจากภัยด้านความมั่นคง ซึ่งการซ้อมแผนฯ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดระบบการป้องกันภัยที่เกี่ยวกับความมั่นคง และเสริมสร้างศักยภาพ
ในการประสานงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และมูลนิธิ สามารถปฏิบัติได้อย่างมีเอกภาพ ซึ่งจะทำให้บุคลากรของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความชำนาญในการบูรณาการปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย