คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จัดนิทรรศการ "บางโพ (ซิเบิ้ล) จากบางโพ (ซิเบิ้ล) สู่แนวทางเรียนรู้ใหม่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน" ระหว่างวันที่ 4 สิงหาคม - 1 กันยายน 2565 เวลา 09.00 - 18.00 น. (วันจันทร์ - ศุกร์) ณ Design Center ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
พิธีเปิดนิทรรศการมี ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน รศ.ดร.ปิ่นรัฐฎ์ กาญจนัษฐิติ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงความร่วมมือและความเป็นมาของโครงการฯ และคุณภูริสิทธิ์ สิริวโรธากุล ประธานชุมชนประชานฤมิตร กล่าวถึงกิจกรรมและผลจากความร่วมมือที่เกิดขึ้นต่อชุมชน ในงานมีการเสวนาเรื่อง "แนวทางการเรียนรู้ใหม่ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน" โดย รศ.พรรณชลัท สุริโยธิน รศ.กุลธิดา เตชวรสินสกุล ผศ.ศุภวัฒน์ หิรัญธนวิวัฒน์ ผศ.ปารณ ชาตกุล อ.ภัณฑิรา จูละยานนท์ คุณภูริสิทธิ์ สิริวโรธากุล และคุณประชา ถาวรจิระอังกูร
ผศ.ดร.ปริญญ์ เจียรมณีโชติชัย รองคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า "บางโพ (ซิเบิ้ล) จากบางโพ (ซิเบิ้ล) สู่แนวทางเรียนรู้ใหม่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน" เป็นนิทรรศการที่จัดต่อเนื่องมาจากนิทรรศการ ที่ชุมชนประชานฤมิตร บางโพ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทางคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เล็งเห็นว่าน่าจะมีการแสดงผลงานที่ต่อเนื่องกัน ทางคณะมีพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการที่ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรมซึ่งสามารถเดินทางมาชมนิทรรศการได้สะดวก
"ยังมีผู้ที่สนใจหลายกลุ่มที่ไม่มีโอกาสได้ไปชมนิทรรศการที่บางโพ ไม่ว่าจะเป็นนิสิตจุฬาฯ ที่สนใจเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติจริง กลุ่มนักเรียนนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ ซึ่งเป็นโอกาสที่จะได้นำเสนอการเรียนการสอนของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ให้เยาวชนรุ่นใหม่ที่สนใจมาเรียนที่คณะ นอกจากนี้ประชาชนทั่วไปที่ได้ไปชมนิทรรศการที่บางโพแล้วยังสามารถกลับมาชมนิทรรศการได้อีก นิทรรศการนี้จะเป็นพื้นที่สำหรับสร้างการพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างกัน พร้อมจัดเสวนาเกี่ยวกับการเรียนการสอนในแนวทางการเรียนรู้ใหม่ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับชุมชน" ผศ.ดร.ปริญญ์ กล่าว
นิทรรศการ "บางโพ (ซิเบิ้ล) เป็นความร่วมมือระหว่างคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กับชุมชนประชานฤมิตร ในโครงการ "ค่ายสถาปัตย์ Arch CU Summer ปฏิบัติการออกแบบสหศาสตร์ภาคฤดูร้อนร่วมกับชุมชนประชานฤมิตร เพื่ออนุรักษ์พัฒนาชุมชนยั่งยืน 2565" ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมต่อเนื่องในด้านการศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนความรู้ใหม่ และแนวทางการอนุรักษ์ต่อยอดด้านงานไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ตลอดจนแนวทางการปรับปรุงฟื้นฟูสภาพแวดล้อมชุมชน เศรษฐกิจ และสังคมร่วมกับชุมชนประชานฤมิตร พร้อมนำมาถ่ายทอดเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนของนิสิต