ชาวนาเฮ ! "เฉลิมชัย" พอใจครึ่งปีส่งออกข้าว ทะลุ 3.5 ล้านตัน เติบโตกว่า 50% นำเงินเข้าประเทศ 6 หมื่นล้านบาท
"อลงกรณ์" คาด ทั้งปีส่งออกเกิน 7 ล้านตัน มีลุ้นแซงเวียดนามขึ้นแท่นเบอร์ 2 ของโลก ชี้เป็นผลสำเร็จจากนโยบายตลาดนำการผลิตและการพัฒนาพันธุ์ข้าว
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แสดงความพอใจต่อรายงานการส่งออกข้าวของไทย 6 เดือนแรกของปีนี้ว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนมิถุนายน 2565 ประเทศไทยสามารถส่งออกข้าวทุกชนิด ได้แก่ ข้าวขาว ข้าวนึ่ง และข้าวหอมมะลิ มีปริมาณ 3,507,020 ตัน คิดเป็นมูลค่า 60,932.3 ล้านบาท (1,837.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยปริมาณเพิ่มขึ้น 56.6% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 42.9% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปี 2564 ที่ส่งออกปริมาณ 2,239,432 ตัน มูลค่า 42,641.8 ล้านบาท (1,407.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยเฉพาะเดือนมิถุนายน 2565 มีปริมาณการส่งออกสูงถึง 764,131 ตัน คิดเป็นมูลค่า 13,129.5 ล้านบาท โดยปริมาณและมูลค่าส่งออก เพิ่มขึ้น 69.4% และ 57.1% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2565 ที่มีปริมาณ 450,973 ตัน มูลค่า 8,357 ล้านบาท เนื่องจากในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีการส่งออกข้าวขาวปริมาณ 405,963 ตัน เพิ่มขึ้นถึง 208% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
สำหรับข้าวนึ่งมีการส่งออกปริมาณ 140,225 ตัน เพิ่มขึ้น 10.8% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ส่วนการส่งออกข้าวหอมมะลิ (ต้นข้าว) มีปริมาณ 103,865 ตัน เพิ่มขึ้น 15.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ถือเป็นข่าวดีสำหรับชาวนาไทยทุกคนที่ประเทศไทยสามารถส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่าซึ่งจะมีผลทำให้ราคาในประเทศปรับตัวสูงขึ้น
ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ กล่าวเสริมว่า ประเทศไทยมีโอกาสสูงมากที่จะส่งออกข้าวได้มากเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยจะแซงเวียดนามได้สำเร็จในปีนี้ หากส่งออกได้เกิน 7 ล้านตัน เมื่อพิจารณาข้อมูลการส่งออกข้าวของไทยในช่วงครึ่งปีแรกและรายงานของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ในรอบการผลิตปี 2564 - 2565 ปริมาณผลผลิตข้าวของโลกอาจอยู่ที่ประมาณ 505.4 ล้านตัน สูงขึ้นจากรอบปีก่อนหน้า 1.9 ล้านตัน ขณะที่ในปี 2565 ปริมาณการค้าข้าวของโลกอาจสูงถึง 46.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ประมาณ 100,000 ตัน โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ออสเตรเลีย เมียนมา กัมพูชา สหภาพยุโรป ปารากวัย ไทย และอุรุกวัย สำหรับประเทศที่คาดว่าจะส่งออกข้าวลดลง ได้แก่ โคลอมเบีย เอกวาดอร์ อินเดีย อิรัก มาดากัสการ์ ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา สหรัฐฯ และเวียดนาม ทั้งนี้ คาดว่า เวียดนามจะเป็นผู้ส่งออกข้าวสูงเป็นอันดับที่ 3 ของโลก ปริมาณรวม 6.3 ล้านตัน รองจากอินเดียและไทย ตามลำดับซึ่งเวียดนามครองอันดับที่ 2 ของผู้ส่งออกข้าวติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี ปริมาณการส่งออกข้าว จะลดลงในปี 2565 และทำให้เวียดนามกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวสูงเป็นอันดับที่ 3
"คาดว่าเราจะส่งออกข้าวทั้งปีได้ไม่น้อยกว่า 7 - 7.5 ล้านตัน สูงกว่าปี 2564 และมีลุ้นที่จะแซงเวียดนามขึ้นแท่นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลกได้ในปีนี้ โดยดูจากสถิติการส่งออกข้าวของเวียดนาม 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) ส่งออกข้าวปริมาณ 2.77 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ที่มีปริมาณการส่งออกข้าว 2.59 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.95 โดยมีมูลค่าส่งออก 1.35 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ที่มีมูลค่าส่งออก 1.41 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลงร้อยละ 4.26 เฉลี่ยเวียดนามส่งออกเดือนละ 5 แสนตัน ขณะที่ไทยส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 6แสนตันขยายตัวทั้งปริมาณและมูลค่า" นายอลงกรณ์ กล่าว
นายอลงกรณ์ กล่าวต่อไปว่า จากรายงานของสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยและกรมศุลกากร การส่งออกไตรมาส 2 ยังทำได้ดีต่อเนื่องจากไตรมาสที่1 โดยตัวเลขการส่งออกข้าวไทยช่วง 3 เดือนแรกปี 2565 (มกราคม - มีนาคม) ซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้น 48.5% โดยส่งออกได้ 1,743,280 ตัน คิดเป็น มูลค่า 29,468.2 ล้านบาท (903.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสถานการณ์การส่งออกช่วงครึ่งปีหลังหากรักษาระดับการส่งออกเกิน 6 แสนตันต่อเดือน ก็จะทำให้การส่งออกทั้งปีเกิน 7 ล้านตัน ทั้งนี้ ขึ้นกับค่าเงินบาทและผลผลิตของประเทศผู้ส่งออกหลักและราคาส่งออกของแต่ละประเทศเป็นสำคัญนับเป็นความก้าวหน้าทางนโยบายข้าวที่มุ่งเน้นการพัฒนาพันธุ์ข้าวตามยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตระหว่างกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ การใช้เครื่องจักรกลและเทคโนโลยีเกษตรใหม่ๆ เพื่อลดต้นทุนเพิ่มผลผลิตตลอดจนการยกระดับข้าวแปลงใหญ่ ในขณะที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตข้าวจากปัญหาราคาปุ๋ยและพลังงานเพิ่มขึ้นรวมทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั่วโลกตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด19