กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน น้อมนำแนวคิดของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จัดฝึกอบรม "การแส่วผ้า" เสริมทักษะแก่ชาวบ้านในโครงการตามพระราชดำริ
นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า นโยบายของรัฐบาลภายใต้รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีแนวทางในการบริหารแผ่นดิน เพื่อพัฒนาให้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าไปด้วยความมั่นคง สังคมไทยมีความสงบสุข สามัคคี และเอื้ออาทรต่อกัน โดยน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการสนับสนุนส่งเสริมให้แรงงานไทยเกิดอาชีพ และสร้างรายได้ในการเลี้ยงชีพได้ โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้เปิดโอกาสให้กลุ่มชาติพันธุ์ รวมไปถึงแรงงานในพื้นที่โครงการอันเนื่องมากจากพระราชดำริ ได้ฝึกทักษะฝีมือแรงงานให้มีความรู้ ความสามารถ เพื่อสร้างความยั่งยืนในการประกอบอาชีพ สามารถพึ่งพาตนเองได้
นายประทีป กล่าวต่อไปว่า คำว่า "แส่ว" มาจากภาษากุยหรือส่วย แปลว่า การสอยหรือถักลาย ส่วนใหญ่จะเป็นการแส่วเสื้อ การแส่วผ้า จึงถือเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดศรีสะเกษ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานศรีสะเกษ ขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะแก่แรงงาน และได้เล็งเห็นถึงอัตลักษณ์ที่สวยงาม ควรค่าแก่การอนุรักษ์และสืบทอดไว้จากรุ่นสู่รุ่น ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่เห็นคุณค่าความงดงาม และควรจะส่งเสริมให้ราษฎรนำมาสร้างอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัว นอกเหนือจากอาชีพเกษตรกรรม ได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมภายใต้โครงการฝึกอบรมกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ (โครงการพระราชดำริ) ประจำปีงบประมาณ 2565 สาขา การแส่วผ้าพื้นเมือง 30 ชั่วโมงขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มทักษะให้กับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ และแรงงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้มีความรู้ ความสามารถ ทักษะฝีมือแรงงาน เป็นการสร้างความยั่งยืนในการประกอบอาชีพ สามารถพึ่งพาตนเอง และสังคมเกิดการยอมรับในศักยภาพการทำงาน
นางสายสมร พาบุตร ปราชญ์ชาวบ้านสาขาจักสานและประธานกลุ่มจักสาน หมู่บ้านทับทิมสยาม 07 เล่าว่า อาชีพหลักของสมาชิก คือ อาชีพกรีดยาง ซึ่งการกรีดยางจะทำเป็นช่วงเวลาหนึ่ง ทำให้มีเวลาว่างจึงรวมตัวกันเพื่อทำผลิตภัณฑ์จักสานเป็นงานอดิเรก เป็นการหารายได้เสริมให้แก่ครอบครัว ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเป็นการสานตะกร้า คันโตก กระเป๋า ถาดผลไม้ ด้วยวัตถุดิบในพื้นที่เช่น หวาย ไม้ไผ่ ผักตบชวา เป็นต้น และเพื่อเป็นการเพิ่มทักษะให้กับสมาชิก และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ได้ จึงได้ให้สมาชิกเข้ารับการฝึกอบรมการแส่วผ้า กับสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานศรีสะเกษ ซึ่งเมื่อเข้ารับการฝึกอบรมทำให้ผลิตภัณฑ์สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ จากเดิมในราคาใบละ 200-300 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 500-1,000บาท ทำให้สร้างรายได้ให้แก่สมาชิกเพิ่มขึ้น รวมไปถึงสามารถสร้างอาชีพให้กับสมาชิกคนอื่นๆได้อีกด้วย จึงควรจัดให้มีการจัดฝึกอบรมในสาขาการแส่วผ้านี้อีกหลายๆรุ่น เนื่องจากยังมีสมาชิกในกลุ่ม และประชาชนในจังหวัดต้องการเพิ่มทักษะ เพื่อให้เกิดอาชีพและรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย