เทคโนโลยีสุดล้ำนวัตกรรมหุ่นยนต์ฟื้นฟูสมรรถนะผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ฝีมือจากทีมวิจัยจุฬาฯ หวังคืนคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาต โชว์ผลงานในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565

ข่าวทั่วไป Wednesday August 10, 2022 12:06 —ThaiPR.net

เทคโนโลยีสุดล้ำนวัตกรรมหุ่นยนต์ฟื้นฟูสมรรถนะผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ฝีมือจากทีมวิจัยจุฬาฯ หวังคืนคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาต โชว์ผลงานในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565

ด้วยสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงพฤติกรรมการบริโภค เป็นปัจจัยสำคัญที่เสี่ยงให้เกิดโรคหลอดเลือดในสมอง ผู้ป่วยโรคดังกล่าวจำนวนมากเมื่อรักษาโรคแล้วมักจะมีอาการอัมพฤกษ์อัมพาต แต่ละปีมีผู้ป่วยต้องการการฟื้นฟูมีแนวโน้มสูงขึ้น การฟื้นฟูสมรรถนะผู้ป่วยที่มีอาการอัมพฤกษ์อัมพาตก็ขึ้นอยู่กับอาการแต่ละคน ซึ่งหากผู้ป่วยได้รับการฟื้นฟูในระยะเริ่มต้นจะทำให้การฟื้นฟูมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นแรงจูงใจที่สำคัญทำให้เกิดนวัตกรรมหุ่นยนต์ฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

จากฝีมือการสร้างสรรค์เทคโนโลยีหุ่นยนต์ ของคณะแพทยศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหนึ่งในนวัตกรรมทางการแพทย์ที่นำมาแสดงในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 ระหว่างวันที่ 1-5 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า วช. ร่วมกับภาคีเครือข่ายระบบวิจัยทั่วประเทศ ได้นำผลงานวิจัยกว่า 700 ผลงานมาแสดงในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นนวัตกรรมที่โดดเด่นสามารถนำไปต่อยอด ใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน รวมถึงเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ภายใต้สโลแกน วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศ สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

ศาสตราจารย์ ดร.วิบูลย์ แสงวีระพันธุ์ศิริ หัวหน้าศูนย์เทคโนโลยีหุ่นยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกับทีมวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ สร้างสรรค์นวัตกรรมทางเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์ เพื่อการฟื้นฟูสมรรถนะผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง อัมพฤกษ์อัมพาต โรคพาร์กินสัน หรือผู้ป่วยที่มีอาการโรคทางระบบประสาท เสมือนเป็นนักกายภาพบำบัดหุ่นยนต์ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวัน เคลื่อนไหวร่างกาย แขน ขาแบบครบวงจร เป็นการออกแบบและจัดสร้างหุ่นยนต์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เหมาะสมสำหรับใช้ในกิจกรรมการฟื้นฟูและกายภาพบำบัด เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการฟื้นฟูให้เร็วและบ่อยครั้งที่สุด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการฟื้นฟู

การใช้หุ่นยนต์เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพของแขนหรือขาอ่อนแรง เป็นวิธีหนึ่งที่เป็นที่นิยมนำมาใช้ในปัจจุบัน เนื่องจากใช้หุ่นยนต์เพื่อการฟื้นฟูช่วยให้ผู้ป่วยที่ยังมีการฟื้นตัวของประสาทสั่งการน้อย สามารถฝึกการใช้งานซ้ำ ๆ (repetition) ได้เป็นจำนวนครั้งที่มากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการฝึกแบบดั้งเดิมซึ่งทักษะการใช้งานจะแปรผันตามจำนวนครั้งที่ฝึก ท่าทางการฝึกสามารถปรับเปลี่ยนได้สะดวก หุ่นยนต์จะช่วยผู้ป่วยเท่าที่จำเป็น (assist as needed) ให้ผู้ป่วยเคลื่อนที่ได้ ข้อมูลแรงที่หุ่นยนต์ช่วยและข้อมูลแรงที่ผู้ป่วยทำเองจะถูกบันทึกตลอดการฝึกเพื่อช่วยในการวิเคราะห์ผลของการฝึกได้ อีกทั้งการมีระบบเกมที่มีหลากหลายรูปแบบ ทำให้การฝีกน่าสนใจ สนุกและท้าทาย ลักษณะดังกล่าวช่วยให้การฟื้นฟูมีประสิทธิภาพ เมื่อผู้ป่วยมีการฟื้นตัวของประสาทสั่งการมากขึ้น การใช้หุ่นยนต์ที่มีระบบตรวจจับสัญญาณต่าง ๆ จะทำให้สามารถรับรู้ได้ถึงแรงตอบรับรวมทั้งตำแหน่งและความเร็วในการเคลื่อนที่ของผู้ใช้ นำมาสู่การติดตั้งระบบติดตามพัฒนาการของผู้ใช้เฉพาะบุคคล (Patient Progression Supervising System) ซึ่งจะบันทึกและติดตามพัฒนาการของผู้ใช้แต่ละบุคคล และปรับเปลี่ยนลักษณะท่าทางการฟื้นฟู การเคลื่อนไหว รวมทั้งแรงที่หุ่นยนต์ที่สร้างขึ้นตามกำลังกล้ามเนื้อที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดช่วยการฝึก ระบบหุ่นยนต์ที่พัฒนาและผลิตขึ้นมานี้ผลิตภายใต้มาตรฐานการผลิตเครื่องมือแพทย์ ISO13485

มีงานวิจัยทางการแพทย์ที่บ่งบอกว่าการฟื้นฟูสมรรถนะของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองด้วยหุ่นยนต์นี้หากผู้ป่วยได้รับการฟื้นฟูเร็วที่สุดหลังจากรักษาอาการโรคหลอดเลือดสมองแล้วจะทำให้การฟื้นฟูให้ประสิทธิภาพมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรก จะมีโอกาสหายหรือดีขึ้น ถ้าเกินระยะเวลา 1 ปีไปแล้วการฟื้นฟูก็จะเป็นไปได้ยากขึ้น การใช้หุ่นยนต์ช่วยในการฟื้นฟูจะช่วยลดภาระของนักกายภาพบำบัดได้ นักกายภาพบำบัดสามารถดูแลการฟื้นฟูได้หลายคนในเวลาเดียวกัน นอกจากนั้นระบบหุ่นยนต์ที่พัฒนาขึ้นยังสนับสนุนการนำหุ่นยนต์ไปช่วยในการฟื้นฟูที่บ้านได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งขณะนี้มีการนำร่องนำไปใช้ฟื้นฟูผู้ป่วยหลายที่ เช่น ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู สภากาชาดไทย, ฝ่ายเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า, แผนกเวชกรรมฟื้นฟู คลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา, แผนกเวชกรรมฟื้นฟู โรงพยาบาลกลาง, ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่, แผนกเวชกรรมฟื้นฟู โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา สภากาชาดไทย, ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นแผนกเวชกรรมฟื้นฟู โรงพยาบาลชลบุรี, แผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลหาดใหญ่, แผนกเวชกรรมฟื้นฟู โรงพยาบาลราชวิถี และ แผนกเวชกรรมฟื้นฟู โรงพยาบาลตากสิน เป็นต้น รวมทั้งการนำหุ่นยนต์เพื่อการฟื้นฟูที่บ้านของผู้ป่วยด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ