กรุงเทพฯ--26 มี.ค.--ตลท.
การเสวนาในหัวข้อ “A New Chapter for Thai Exchange and Security Industry in the Global Competition” ในงานสัมมนาจุดเปลี่ยนตลาดทุนไทย โดยมีนายภควัต โกวิทวัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนิตี้ จำกัด นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) นางทิพยสุดา ถาวรามร ผู้ช่วยเลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และมีดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้บริหารสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ดำเนินรายการ มีการแลกเปลี่ยนความเห็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาตลาดทุนไทยที่หลากหลายและน่าสนใจอย่างยิ่ง โดยผู้ร่วมเสวนาได้ให้ข้อคิดและมุมมองที่น่าสนใจหลายประการ
นายภควัต โกวิทวัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนิตี้ จำกัด กล่าวว่า ตลาดทุนไทยยังสามารถเพิ่มสินค้าที่หลากหลายเพื่อสร้าง niche market ได้อีกมาก ตัวอย่างเช่น การเริ่ม repo market จะมีส่วนช่วยให้ตลาดตราสารหนี้ขยายตัวมากขึ้น ส่วนสินค้าอนุพันธ์ ฟิวเจอร์ เป็นตราสารที่จะไปได้ดี ในขณะที่ออพชั่น ซึ่งเริ่มต้นได้ดี จะต้องใช้เวลาเพื่อการขยายตลาดอีกสักระยะ
นอกจากนี้ยังควรดูถึงการนำตราสารจากต่างประเทศอาทิ TCR หรือนำ ETF ของกลุ่มสินค้าหรือ Sector ที่น่าสนใจเข้ามาซื้อขายในบ้านเรา รวมถึงการเพิ่มสินค้าอนุพันธ์ ที่มีสินค้าอ้างอิงเป็น ทองคำ น้ำมันและเหล็กกล้า พร้อมทั้งควรมีการสร้างกลุ่มสินค้า commodities ขึ้น เพราะไทยสามารถผลิตสินค้าหลักได้หลายประเภท เช่น ข้าว ยางพารา เป็นต้น
สำหรับโครงสร้างของตลาดทุนหลัง demutualization ควรต้องมีการแยกส่วนงานที่ชัดเจน ทีจะทำหน้าที่พัฒนาตลาดทุน และการให้ความรู้
นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ภัทรจำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลาดทุนไทยที่ดีต้องมีตัวกลางที่มีต้นทุนต่ำ มีเสถียรภาพ ต้องเพิ่มทั้งจำนวนและความหลากหลายของนักลงทุนสถาบันและ supply ที่มีคุณภาพ ถ้าไม่พัฒนาตลาดทุนต้นทุนทางการเงินจะสูงขึ้น ไม่สามารถแข่งขันได้ และศักยภาพในการแข่งขันถดถอย
“Demutualization เป็นเรื่องที่ต้องทำและต้องทำอย่างเร่งรีบ เพราะหากตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ปรับปรุงประสิทธิภาพอย่างเร่งด่วนจะไม่มีตลาดหลักทรัพย์ ฯ หรือมีแต่ Serve เฉพาะกลุ่ม ทั้งนี้ กระบวนการแปรรูปต้องเริ่มต้นและจบให้ถูก ผู้เป็นเจ้าภาพไม่ควรเป็นตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและไม่อยู่ในมือของนักการเมือง โดยต้องเน้นการตอบสนองต่อผู้ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง” นายบรรยงกล่าว
นายบรรยงกล่าวเพิ่มเติมว่า จุดเริ่มต้นต้องเริ่มที่องค์ความรู้โดยเริ่มจากงานวิจัยกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และต้องมีแผนพัฒนาตลาดทุนที่เข้าใจง่าย และมีการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย
นางทิพยสุดา ถาวรามร ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่าที่ผ่านมาด้วยปัจจัยด้านกฎเกณฑ์ที่ค่อนข้างจำกัด ทั้งในแง่ช่องทางการลงทุนที่ทำได้ภายในประเทศ การจำกัดจำนวนโบรกเกอร์ เป็นปัจจัยที่ทำให้การพัฒนาตลาดทุนไทยทำได้ไม่รวดเร็ว โดยเห็นว่าที่ผ่านมาปัญหาของการพัฒนาตลาดทุนเป็นปัญหาของ 4 ด้าน คือ ทัศนคติต่อการแข่งขัน ทัศนคติต่อการ take risk ทัศนคติต่อผู้ลงทุนต่างประเทศ และ sense of urgency มีน้อย ดังนั้นจึงต้องมีการแก้ mindset และต้องเพิ่ม sense of urgency ให้มากขึ้น
“Demutualizatation จำเป็นต้องทำและต้องเข้าจดทะเบียนด้วย เพื่อ unlock value โดยเห็นว่า การ reform โดยไม่สามารถระบุความเป็นเจ้าของที่ชัดเจนได้ จะไม่เกิดแรงกดดันเพียงพอที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันต้องมีการปรับสภาพแวดล้อมในการแข่งขันด้วย สำหรับการ demutualize นั้น จะมีผลให้กลุ่มสมาชิกที่เคยมี exclusive privilege ต้องสละสิทธิพิเศษดังกล่าว โดยได้รับความเป็นเจ้าของแทน ทั้งนี้ เชื่อว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีวิธีจัดการที่ดีในการกำกับดูแล ถึงแม้ว่าจะอยู่ในรูปบริษัทจดทะเบียน” นางทิพยสุดากล่าว
ติดต่อส่วนสื่อมวลชนสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร
ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229 — 2036 / ศรินทร์ลักษณ์ จิตกะวงศ์ โทร. 0-2229 — 2037/
ณัฐพร บุญประภา โทร. 0-2229 — 2049 / วรรษมน เสาวคนธ์เสถียร โทร. 0-2229-2797