นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ศ.(วิจัย)ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รศ. ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม นายชูชาติ ราชจันทร์ วัฒนธรรมจังหวัดมหาสารคาม นายพงษ์ศักดิ์ คณะมะ พัฒนาการจังหวัดมหาสารคาม และรศ.ดร.น้ำฝน ไล่สัตรูไกล นายกสมาคมเพื่อการพัฒนาศิลปะและหัตถศิลป์ไทย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ "โครงการยกระดับการย้อมเส้นด้ายจากผงสีธรรมชาติ" เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการใช้ประโยชน์ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ถ่ายทอดองค์ความรู้ นวัตกรรม การพัฒนาผลิตภัณฑ์การย้อมเส้นด้ายและผ้าด้วยผงสีธรรมชาติ ให้เกิดเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่น ทำให้เกิดคุณค่าของผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างนวัตกรรมกับอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่น ส่งเสริมการจ้างงานในท้องถิ่น ยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของคนในชุมชน รวมทั้งสร้างองค์ความรู้ สร้างรายได้ โอกาสนี้ ดร.ประทีป วงศ์บัณฑิต รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน วว. พร้อมผู้บริหาร บุคลากร หน่วยงานพันธมิตรร่วมเป็นเกียรติ ในวันที่ 11 สิงหาคม 2565 ณ ห้องประชุมชั้น 4 กระทรวง อว. (ผ่านโปรแกรม ZOOM)
นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า การพัฒนาจังหวัดมหาสารคามมุ่งส่งเสริมและพัฒนาการผลิตภาคการเกษตรเพื่อสร้างรายได้กับเกษตรกร ส่งเสริมการนำองค์ความรู้ทางภูมิปัญญาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า บริการการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ศิลปะและวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เพิ่มศักยภาพด้านการค้าการลงทุน เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน สู่สังคมมีสุข ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดี ความร่วมมือที่เกิดขึ้นครั้งนี้มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี เชื่อมั่นว่าด้วยศักยภาพของหน่วยงานพันธมิตรจะร่วมทำให้การพัฒนายกระดับการย้อมด้ายจากผงสีธรรมชาติสำเร็จเป็นรูปธรรม สร้างงาน สร้างอาชีพจากพืชอัตลักษณ์ท้องถิ่นด้วยองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
ศ.(วิจัย)ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว วว. ได้เริ่มต้นกิจกรรมการทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และสมาคมเพื่อการพัฒนาศิลปะและหัตถศิลป์ไทย ในการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ทุนทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างเครือข่ายช่างทอให้เกิดเป็นชุมชนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดมหาสารคาม โดย วว. ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการสกัดผงสีจากต้นไม้ในพื้นที่ อาทิเช่น แก่นฝาง เปลือกไม้ประดู่ และเปลือกไม้ถ่อน เพื่อให้ได้เฉดสีต้นแบบ และสีอัตลักษณ์ของจังหวัดมหาสารคาม โดยการเตรียมผงสีจากธรรมชาติ ช่วยให้การย้อมผ้าสีธรรมชาติสามารถทำได้ง่าย เทียบเท่าสีเคมี อีกทั้งยังช่วยในการควบคุมคุณภาพของผ้าย้อมให้ได้เฉดสีตามที่ต้องการ ทั้งนี้ วว. ได้เข้าร่วมอบรมการย้อมผ้าด้วยผงสีจากธรรมชาติ ให้กลุ่มทอผ้าและผ้ามัดย้อมในงาน"นวัตกรรมสร้างสรรค์ มหาสารคราฟท์" ซึ่งจัดที่พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
"...วว. มีศักยภาพและความพร้อมทั้งในด้านบุคลากร องค์ความรู้ เทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนผลงานและประสบการณ์ในด้านการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ยึดมั่นและให้ความสำคัญกับการนำ วทน. เป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญเพื่อการพัฒนาประเทศ มุ่งดำเนินงานสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร (Total Solution) พัฒนาวิสาหกิจในทุกระดับทั้งในส่วนกลางและพื้นที่ (Area Based) ในการดำเนินงาน วว. ประสบผลสำเร็จในการร่วมขับเคลื่อนนโยบาย BCG ผ่านการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ภาคเกษตรและชุมชน ดำเนินงานสร้างการเติบโตของอุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องสำอาง พลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม..." ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ศ.(วิจัย)ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต กล่าวเน้นย้ำว่า การลงนามความร่วมมือในวันนี้ จะเป็นการเริ่มต้นการทำงานแบบบูรณาการ ระหว่าง วว. และหน่วยงานในจังหวัดมหาสารคาม เพื่อขับเคลื่อนการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการจากทรัพยากรที่มีความเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดมหาสารคาม เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างคุ้มค่าและร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งร่วมกันหาแนวทางในการใช้ประโยชน์เพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างสูงสุดและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป