"มือ เท้า ปาก" เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กทารก เด็กเล็กตามสถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล และติดต่อกันง่ายโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำและทำให้มีอาการรุนแรงมากกว่าเด็กโต
โรคมือเท้าปาก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (มีมากกว่า 100 สายพันธุ์)โดยสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคที่พบบ่อย คือคอกซากีไวรัส เอ16 (coxsackievirus A16) และเอนเทอโรไวรัส 71 (enterovirus 71) สามารถติดต่อกันได้ด้วยการรับเชื้อไวรัสเข้าทางปากโดยตรง ซึ่งเชื้อไวรัสอาจติดมากับมือ หรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพอง หรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการไอ จาม ใส่กัน
อาการเริ่มต้นของโรคมือเท้าปากจะคล้ายไข้หวัด คือ มีไข้สูงหรือไข้ต่ำจากนั้น 1-2 วัน จะพบแผลในปาก กระพุ้งแก้ม ลิ้น ริมฝีปาก ทำให้เจ็บกินได้น้อยอ่อนเพลีย ต่อมาจะมีตุ่มแดงหรือตุ่มน้ำใสที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ข้อศอก รอบก้น และมักจะหายได้ภายใน 7- 10 วัน ในรายที่อาการรุนแรงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายได้ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ อัมพาตกล้ามเนื้อ หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ไปจนถึงเสียชีวิตได้ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรดูแลลูกอย่างใกล้ชิดในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก แม้ว่าผื่นและแผลในปากจะหายไปแล้วก็ตาม โดยสัญญาณเตือนของ
ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที ได้แก่
- เด็กมีอาการซึมลง ไม่เล่น ไม่ทานอาหารหรือนม
- อาเจียนมาก บ่นปวดหัวมาก
- กระสับกระส่าย หายใจเร็ว เหนื่อยหอบ
- ไอมีเสมหะมาก ดูเหนื่อยๆ หน้าซีด
- ตัวเย็น ชัก เดินเซ
โดยทั่วไปแพทย์สามารถวินิจฉัยได้จากอาการและอาการแสดง แต่ถ้ามีอาการแทรกซ้อนรุนแรง แพทย์อาจจะต้องส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยัน เช่น การส่งตรวจตัวอย่างสารคัดหลั่ง หรืออุจจาระเพื่อหาเชื้อไวรัส ด้วยวิธี PCR (Polymerase Chain Reaction) หรือการเพาะเชื้อไวรัส (Virus Culture) ซึ่งการตรวจเพิ่มเติมนี้ไม่จำเป็นต้องทำในผู้ป่วยทุกราย ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา
โรคมือเท้าปากยังไม่มีการรักษาโดยเฉพาะ จึงเป็นการรักษาอาการทั่วไปตามอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยเท่านั้น เช่น หากเจ็บคอมาก ทานอะไรไม่ได้ เพลียมากอาจให้นอนโรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด ร่วมกับให้ยาลดไข้แก้ปวด หรือหยอดยาชาในปากเพื่อลดอาการเจ็บแผลในปาก และเฝ้าระวังสังเกตอาการภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
และเนื่องจากยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคมือเท้าปากได้ ดังนั้นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือการรักษาความสะอาดและมีสุขอนามัยที่ดีซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆ ดังนี้
- พ่อแม่ หรือพี่เลี้ยงเด็กเล็กควรล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบจับอาหารให้เด็กทาน หรือเปลี่ยนผ้าอ้อมให้เด็ก
- ให้เด็กทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ สะอาด ดื่มน้ำสะอาด
- ไม่ใช้ภาชนะในการทานอาหารร่วมกัน โดยเฉพาะ ช้อน จาน ชาม แก้วน้ำ ขวดนม
- เมื่อเช็ดน้ำมูกหรือน้ำลายให้เด็กแล้วต้องล้างมือให้สะอาดโดยเร็ว
- ทำความสะอาดของเล่นและพื้นผิวโดยรอบด้วยสบู่หรือน้ำยาทำความสะอาดอยู่เสมอ
- หากเด็กมีอาการของโรคมือเท้าปากให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ ให้เด็กหยุดเรียนอย่างน้อย 1 สัปดาห์หรือจนกว่าจะหาย
** กรณีที่มีเด็กป่วยและในสถานที่เดียวกันมีเด็กป่วยเพิ่มขึ้นอาจต้องปิดโรงเรียนหรือสถานเลี้ยงเด็ก และทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เพื่อป้องกันการระบาดของโรค
"ไขข้อข้องใจโรค มือ เท้า ปาก" คลิกอ่านข้อมูล >> https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/74