ระบบบริหารบุคคลตามพ.ร.บ.ใหม่ กับกลไกพิทักษ์คุณธรรม ความเชื่อมั่นราชการ

ข่าวทั่วไป Wednesday March 26, 2008 14:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 มี.ค.--ก.พ.
ก.พ. เร่งดำเนินการเรื่องคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม เผยเน้นหลักสากลมุ่งพัฒนาระบบคุณธรรม ปกป้องข้าราชการ ทำงานเสมือนศาลชั้นต้น ยึดหลักมืออาชีพ มีอิสระ และเป็นธรรม
ระบบบริหารทรัพยากรบุคคลในโลกปัจจุบันพัฒนาไปไกล โดยเน้นถึงความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปอย่างเหมาะสม ระบบราชการของประเทศต่าง ๆ จะมีระบบบริหารงานทรัพยากรบุคคลคล้ายคลึงกันเป็นส่วนใหญ่ โดยกลุ่มประเทศที่พัฒนาจะมี 2 องค์กรสำคัญ คือ องค์กรบริหารงานบุคคลกลาง และองค์กรพิทักษ์ระบบคุณธรรม เพื่อสร้างความสมดุลในการบริหารงานซึ่งกันและกัน
สำหรับระบบราชการไทย ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนตั้งแต่แรกเริ่มมา มีองค์กรบริหารงานบุคคลเพียงองค์กรเดียวทำหน้าที่บริหารงานบุคคลทุกเรื่อง ตั้งแต่การบรรจุแต่งตั้ง วินัย อุทธรณ์ และร้องทุกข์ ซึ่งได้แก่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เรียกย่อว่า ก.พ. โดยไม่มีองค์กรอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง สำหรับบทบาทหน้าที่ของ ก.พ. ตรงนี้ ถือกันว่าเป็น Watch Dog of Merit System ทำให้ ก.พ. มีบทบาท ๓ ด้านคือ ด้านนิติบัญญัติ โดยการออกกฎ ระเบียบ หลักเกณฑ์ และวิธีการบริหารงานบุคคล ด้านบริหาร โดยการเป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลของฝ่ายบริหาร และ ด้านตุลาการ โดยการตีความ วินิจฉัยข้อหาที่เกิดขึ้นจากการใช้กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน ซึ่งเป็นประเด็นคำถามกลับมาว่า “จะเกิดประสิทธิภาพและความเป็นธรรมได้เพียงใด หากผู้ที่ออกกฎ ใช้กฏ และวินิจฉัยกรณีกระทำผิดกฏเป็นบุคคลคนเดียวกัน”
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของการบริหารทรัพยากรบุคคลที่แยกบทบาท ภารกิจ หน้าที่โดยเฉพาะงานวินัย อุทธรณ์ และร้องทุกข์ออกจากกันโดยเด็ดขาด โดยเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ขึ้นเพื่อทำหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ พิจารณาคำร้องทุกข์และคำร้องเรียน โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้มีการสรรหาแต่งตั้ง ก.พ.ค ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (26 มกราคม 2551) ซึ่งขณะนี้ สำนักงาน ก.พ. กำลังเร่งดำเนินการเรื่องนี้อย่างเต็มที่ โดยคาดว่า ก.พ.ค. จะแต่งตั้งเสร็จราว 25 กรกฎาคม 2551
หัวใจสำคัญของ ก.พ.ค. คือ ความเป็นมืออาชีพ ความเป็นอิสระ และความเป็นธรรม โดยที่มาของ ก.พ.ค. มาจากการคัดเลือกของคณะกรรมการชุดพิเศษคัดเลือก ก.พ.ค. ที่ประกอบด้วย ประธานศาลปกครองสูงสุด รองประธานศาลฎีกา กรรมการก.พ. ผู้ทรงคุณวุฒิ และเลขาธิการ ก.พ. เป็นเครื่องรับรองในความเป็นกลางตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้นของการดำเนินงาน
คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ประกอบด้วยกรรมการ 7 ท่าน ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายๆ ด้าน โดยมีคุณวุฒิและคุณสมบัติที่เหมาะสมตามที่กำหนดไว้ เช่น ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย มีอายุไม่ต่ำกว่า 45 ปี เป็นหรือเคยเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง โดยต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามต่าง ๆ เช่น ต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่เป็นข้าราชการ ไม่เป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจหรือประกอบการใดๆ อันขัดขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่
ก.พ.ค. จึงเป็นเสมือนศาลปกครองชั้นต้น มีสถานภาพการทำงานลักษณะองค์กรกึ่งตุลาการ มีองค์คณะวินิจฉัย ที่ต้องทำงานเต็มเวลา โดยสามารถดำรงตำแหน่งได้ 6 ปีและอยู่ได้เพียงวาระเดียว ส่วนบทบาทขององค์คณะวินิจฉัยจะเป็นประการใดกันนั้น ก็เป็นกรณีที่อยู่ในอำนาจของ ก.พ.ค. ที่แต่งตั้งองค์คณะวินิจฉัยขึ้น เพื่อให้ทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยเรื่อง อุทธรณ์ ร้องทุกข์และร้องเรียนที่อยู่ในอำนาจของ ก.พ.ค. ให้เกิดความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพแบบมืออาชีพ โดยมีหลายองค์คณะตามแต่ปริมาณงานและเหตุผลความจำเป็น
ทั้งนี้ ขั้นตอนการร้องทุกข์ให้ดำเนินการร้องต่อผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไป เว้นแต่เรื่องที่เกิดจากปลัดกระทรวง รัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรีให้ร้องต่อ ก.พ.ค. ทั้งนี้หากมติของก.พ.ค. มีประการใดให้ส่วนราชการดำเนินการตามนั้น ทั้งนี้ หากไม่พึงพอใจ สามารถฟ้องศาลปกครองสูงสุดได้
การปรับเปลี่ยนกลไกการบริหารทรัพยากรบุคคลโดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมขึ้นนี้ จึงถือเป็นจุดแข็งของการบริหารทรัพยากรบุคคลแนวใหม่ที่นอกจากความรวดเร็ว ลดขั้นตอน ยังเป็นการสร้างความสมดุลในการบริหารเพื่อรับกับการกระจายอำนาจในการจัดการทรัพยากรบุคคล และการให้ข้าราชการได้รับการดูแลเพื่อรักษาไว้ซึ่งระบบคุณธรรมที่เป็นหลักสำคัญของการบริหารทรัพยากรบุคคลของราชการพลเรือนต่อไป อันจะส่งผลให้ข้าราชการเกิดขวัญกำลังใจ และปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งประชาชนก็จะได้ประโยชน์ในที่สุด
ระหว่างนี้ สำนักงาน ก.พ. ยังได้เตรียมการเรื่องกฎหมาย 13 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพิทักษ์ระบบคุณธรรม เช่น กฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยเรื่องการพิจารณาเรื่องอุทรณ์
กฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยเรื่องการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ ฯลฯ รวมทั้งเตรียมการในส่วนของสถานที่ทำงานของ ก.พ.ค. โดยจะมีทั้งห้องอุทรณ์ ห้องร้องทุกข์ และส่วนบริการช่วยเหลือต่างๆ แก่ข้าราชการ โดยสำนักงานจะตั้งอยู่ที่สำนักงาน ก.พ. ถนนพิษณุโลก ซึ่งใกล้จะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ