กรุงเทพฯ--10 พ.ค.--กทม.
เนื่องในวโรกาสมหามงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่9 ทรงครองสิริราชสมบัติ 60 ปี ประกอบกับเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2542 องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญและเป็นวันสากลของโลก เรียกว่า “The Buddha Day” โดยกำหนดให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานวันวิสาขบูชา กรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงกำหนดจัดงานสัปดาห์ส่งเสริม พระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวิสาขบูชา วันสันติภาพโลก ประจำปี 2548 ระหว่างวันที่ 16-22 พ.ค.48 ณ มลฑลพิธีท้องสนามหลวง นอกจากนี้ระหว่างวันที่ 9-11 พ.ค. 48 กำหนดจัดให้มีพิธีกวนข้าวทิพย์ ซึ่งถือกันว่าเป็นอาหารที่มีรสอร่อยคล้ายอาหารทิพย์ของเทวดา
(9 พ.ค.48) เวลา 18.09 น. ที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานจุดเทียนนวหรคุณ และกวนข้าวทิพย์กระทะใหญ่ เนื่องในเทศกาลวิสาขบูชา ประจำปี 2548 โดยมีคุณหญิงณฐนนท ทวีสิน ปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยข้าราชการระดับสูงของกรุงเทพมหานคร และประชาชนร่วมพิธี จากนั้นเวลา 18.39 น. คุณหญิงณฐนนท เป็นประธานนำสาวพรหมจารีขูดมะพร้าว คั้นหัวกะทิ เพื่อเป็นวัตถุดิบในการกวนข้าวทิพย์
สำหรับพิธีกวนข้าวทิพย์ ภัตตาหารของเทวดา ตามศิลาจารึก 1 วัดพระเชตุพน กล่าวถึงชาวรามัญหุงข้าวทิพย์บูชาเทวดา ผู้มีฤทธิ์เดช 5 องค์ แต่คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาไม่ได้กล่าวถึงการกวนข้าวทิพย์เอาไว้ มีแต่การหุงข้าวมธุปายาสเมื่อตกมาเป็นพิธีของไทยแล้วได้มีการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับกาลเทศะ ข้าวทิพย์ถือกันว่าเป็นอาหารที่มีรสอร่อยคล้ายของทิพย์ของเทวดา เมื่อกวนเสร็จแล้วก็แจกจ่ายกันบริโภคเพื่อระงับโรคภัยไข้เจ็บในร่างกายเพราะก่อนจะประกอบพิธีก็มีการอัญเชิญเทวดา มีท่านท้าว จาตุโลกบาลมหาราชทั้ง 4 มาช่วยอภิบาลรักษาและนำทิพย์โอชามาเจือในสิ่งของที่จะกวน กับอาราธนาพระสงฆ์ให้ตั้งเมตตาจิต เจริญพระพุทธมนต์ เพื่อให้เกิดสิริสวัสดิมงคลแก่ผู้รับประทานข้าวทิพย์จึงถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ด้วยอำนาจพระปริตรและเทวานุภาพ
การกวนข้าวทิพย์นี้ ได้ประกอบพิธีกวนกันมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา ครั้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้มีการกวนข้าวทิพย์ขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ท่าน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 และ 3 การกวนข้าวทิพย์ละเว้นไป เพิ่งจะมาฟื้นพิธีขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ 4 และได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขสิ่งของในการกวนหลายอย่างเท่าที่จะหาได้ในขณะนั้น มีสิ่งของต่าง ๆ มากมายหลายอย่างถึง 60 กว่าชนิด เช่น ถั่วงา ลูกเดือย สาคู ข้าวฟ่าง ข้าวเม่า เผือก มัน ผลไม้นานาชนิด และเนยนม เป็นต้น
อนึ่งวันที่ 10 พ.ค. 48 พระธรรมสิริชัย เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม จะนำข้าวทิพย์ที่กวนแล้วลงสู่ภาชนะเพื่อนำไปห่อ และประกอบพิธีมังคลาภิเษก ที่พระวิหารวัดอรุณราชวราราม จากนั้นวันที่ 12-15 พ.ค. 48 พระธรรมสิริชัย เจ้าอาวาสวัดอรุณราช- วราราม พร้อมคณะกรรมการ ประกอบพิธีอธิษฐานจิต เริ่มห่อข้าวทิพย์ตามโบราณพิธีทุกขั้นตอน โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จทรงสุหร่ายข้าวทิพย์หน้ามณฑปพระบรมสารีริกธาตุ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในวันที่ 16 พ.ค. 48 เวลาประมาณ 17.00 น. จากนั้นคณะกรรมการจัดงานน้อมเกล้าฯ ทูลถวายข้าวทิพย์ และเปิดจำหน่ายแก่ประชาชนที่เต้นท์เทศน์มหาชาติ จุดกลางท้องสนามหลวง และที่กองผ้าป่าสามัคคีสี่มุมเมืองทั้ง 4 จุด
จึงขอเชิญชวนประชาชนเข้าชมพิธีกรรมการกวนข้าวทิพย์โบราณ และบูชาข้าวทิพย์ รวมทั้งรวมกิจกรรมวันวิสาขบูชาได้ ตามวัน เวลา ดังกล่าว--จบ--