วธ.ประกาศรางวัลประกวดออกแบบเครื่องแต่งกายอัตลักษณ์พื้นถิ่น สู่ภูษาศิลป์ร่วมสมัย ผ้าไทยใส่สบาย

ข่าวทั่วไป Tuesday August 16, 2022 11:35 —ThaiPR.net

วธ.ประกาศรางวัลประกวดออกแบบเครื่องแต่งกายอัตลักษณ์พื้นถิ่น สู่ภูษาศิลป์ร่วมสมัย ผ้าไทยใส่สบาย

วธ.ประกาศรางวัลประกวดออกแบบเครื่องแต่งกายอัตลักษณ์พื้นถิ่น สู่ภูษาศิลป์ร่วมสมัย ผ้าไทยใส่สบาย เผยรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายนรบดี ศรีหะจันทร์ กับผลงาน CONCEPT : RE อีสาน ปลัดวธ.ชื่นชมคนรุ่นใหม่กล้าคิด กล้าทำ ค้นหานวัตกรรมใหม่ ๆ ออกแบบผ้าไทยให้ทันสมัยทุกยุคทุกสมัย

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลการประกวดออกแบบเครื่องแต่งกายร่วมสมัย "ไทยใส่สบาย" และร่วมชมการจัดแสดงแฟชั่นโชว์เครื่องแต่งกายร่วมสมัย ในนิทรรศการ "อัตลักษณ์พื้นถิ่น สู่ภูษาศิลป์ร่วมสมัย" ภายใต้งานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 "ภูษาศิลป์ จากท้องถิ่นสู่สากล" โดยมีนางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายโกวิท ผกามาศ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ผู้บริหาร ข้าราชการ ดีไซน์เนอร์ และประชาชนที่สนใจเข้าร่วม ณ เวทีกลาง รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน

ทั้งนี้ ผลการประกวดออกแบบเครื่องแต่งกายร่วมสมัย "ไทยใส่สบาย" รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายนรบดี ศรีหะจันทร์ CONCEPT : RE อีสาน ,รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ นายไอสยา โอวาท CONCEPT : มานะ มานี ปิติ ชูใจ ,รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ นายรัฐพล ทองดี CONCEPT : ผีขนน้ำ รางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ นายฬียฑา ชลิตณัฐกุล CONCEPT : AFTERLIFE "ความเชื่อหลังความตาย" และนายธนกานต์ พันธุ์สุข CONCEPT : ฮักหนา ก๋าไก       

ปลัด วธ. กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)  ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการอนุรักษ์  สืบสาน และพัฒนางานวัฒนธรรม   โดยนำทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอด  สร้างสรรค์ให้เกิดคุณค่าและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และมุ่งขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลในการผลักดัน "Soft Power" ความเป็นไทยเพื่อสร้างรายได้และภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศ   โดยเฉพาะอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ อันได้แก่ Food Fashion  Film  Festival  และFighting  โดยผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น  ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่สำคัญ  ที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทย  และมรดกภูมิปัญญาของแต่ละชุมชน  ซึ่ง วธ.ได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว  จึงได้มีการดำเนินโครงการเกี่ยวกับผ้าและการออกแบบมาอย่างต่อเนื่อง       

"ในโอกาสนี้ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลและผู้ที่ผ่านการคัดเลือกทั้งหมด ผลงานของทุกท่านได้พิสูจน์ให้เห็นพลังของความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่  ที่กล้าคิด  กล้าทำ  และค้นหานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อนำมาปรับใช้กับผ้าไทยให้ดูแปลกตา  น่าสนใจ  เกิดการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมเก่าและวัฒนธรรมใหม่  ซึ่งถือเป็นการสืบสานและต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่เดิม  ให้สามารถเดินต่อไปได้ในทุกยุคทุกสมัย  นำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น  และเกิดสิ่งใหม่ ๆ ระหว่างอัตลักษณ์พื้นถิ่นกับความร่วมสมัยได้เป็นอย่างดี" ปลัดวธ. กล่าว       

ทั้งนี้ ในงานเฉลิมพระเกียรติฯ "ภูษาศิลป์ จากท้องถิ่นสู่สากล" วธ.โดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ได้จัดนิทรรศการเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัย "อัตลักษณ์พื้นถิ่น สู่ภูษาศิลป์ร่วมสมัย" แสดงผลงานและแรงบันดาลใจของ Young Designers จากโครงการพัฒนาการออกแบบเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัย (Ready To Wear) ปี 2563 และโครงการพัฒนาการออกแบบเครื่องแต่งกายร่วมสมัยชายแดนใต้ (Contemporary Southern Batik) ปี 2564 ผลงานและแรงบันดาลใจของ Designers จากโครงการพัฒนาการออกแบบเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัย Ready To Wear ปี 2564 และผลงานตัวอย่างจากแบรนด์เสื้อผ้าไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสุดยอดผลงานศิลปะร่วมสมัยไทยในรัชกาลที่ 9 สาขาออกแบบเครื่องแต่งกาย และยังเป็นการส่งเสริม Soft Power ที่มีศักยภาพของไทย ด้านการออกแบบและแฟชั่น อีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ