Funding Societies ลงนามวงเงินสินเชื่อมูลค่ากว่า 1,785 ล้านบาท กับธนาคาร HSBC เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของกลุ่มธุรกิจ SME ในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Funding Societies แพลตฟอร์มเงินทุนดิจิทัลสำหรับ SME รายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับอนุมัติวงเงินสินเชื่อมูลค่ากว่า 1,785 ล้านบาท จากธนาคาร HSBC (ประเทศสิงคโปร์) เพื่อเพิ่มศักยภาพของ Funding Societies ในการให้เงินทุนแก่ธุรกิจขนาดเล็ก และขนาดกลาง (SME) ทั่วภูมิภาค ทั้งนี้ Funding Societies เป็นหนึ่งในบริษัท FinTech แห่งแรก ๆ ที่ได้รับใบอนุญาตการระดมทุนหุ้นกู้คราวฟันดิง จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประเทศไทย
ซึ่งการได้รับอนุมัติวงเงินครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการเข้าถึงเงินทุนของ SME ในประเทศไทย และโอกาสของผู้ให้บริการด้านการเงินดิจิทัลอย่าง Funding Societies ในการฟื้นฟูและเร่งการเติบโตของธุรกิจให้กลับมาสู่ระดับปกติก่อนการระบาดของไวรัสโควิด-19
กลุ่มธุรกิจ SME คิดเป็นจำนวน 97% ของธุรกิจทั้งหมดที่มีอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคิดเป็น 40% ของมูลค่า GDP ทั้งหมดในภูมิภาค รายงานของสถาบันธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ Asian Development Bank Institute ในปี 2561 ระบุว่าธุรกิจ SME ของไทยส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจคิดเป็น 45% ของ GDP ทั้งหมด (หรือเจ็ดล้านล้านบาท) ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่าองค์กรขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตามตัวเลขดังกล่าวได้ลดลงมาอยู่ที่ 32% ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ที่ 34.5% ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด ด้วยเศรษฐกิจในประเทศที่คาดว่าจะฟื้นตัวในปีนี้ อันเนื่องมาจากการกลับมาจัดกิจกรรมทางธุรกิจต่าง ๆ ทำให้การเข้าถึงแหล่งเงินทุนมีความสำคัญมากขึ้นกว่าที่เคย
คุณเคลวิน เตียว ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม Funding Societies & Modalku กล่าวว่า "พวกเรารู้สึกเป็นเกียรติ ที่ได้รับวงเงินสินเชื่อมูลค่าสูงจากธนาคารระดับโลกอย่าง HSBC ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญสำหรับเราและเป็นข้อพิสูจน์ถึงผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของเราในช่วงโควิด-19 โดยวิสัยทัศน์ การบริการระดับโลก และแนวทางที่ยืดหยุ่นได้ของ HSBC ช่วยให้เราสามารถตอบสนองความต้องการของธุรกิจกลุ่ม SME ที่ยังขาดการเข้าถึงบริการด้านการเงินได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากศักยภาพของประเทศไทยในการนำเสนอโอกาสทางการเงินที่สำคัญสำหรับธุรกิจขนาดเล็กในประเทศ"
สินเชื่อเชิงพาณิชย์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีอยู่ที่ 16.5% และสร้างรายได้มากกว่า 249 ล้านล้านบาทภายในปี 2571 ซึ่งคิดเป็น 25% ของขนาดตลาดโลกที่ 978 ล้านล้านบาท ธุรกิจ SME นั้นยังเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ไม่เพียงพอ และธุรกิจ SME ยังไม่ได้ก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ ซึ่งแตกต่างจากการให้บริการสินเชื่อรายย่อย ทาง Funding Societies มีการระดมทุนรวมอยู่ที่ 92,768 ล้านบาท ผ่านธุรกรรมทั่วภูมิภาค 5.1 ล้านรายการ และด้วยวงเงินสินเชื่อใหม่นี้ บริษัท FinTech ที่ให้กู้จะสามารถใช้วงเงินสินเชื่อผ่านช่องทางการจัดหาเงินทุน ด้วยทางเลือกทางการเงินที่ปรับให้เหมาะกับกลุ่มลูกค้า SME ในตลาดทั้ง 5 ประเทศ
การลงนามดังกล่าวช่วยให้ HSBC สามารถมอบบริการระดับโลกให้แก่กลุ่มธุรกิจทั่วทั้งภูมิภาคที่ยังเข้าไม่ถึงบริการด้านการเงิน นอกจากนี้ HSBC จะทำหน้าที่ด้านการเสริมโครงสร้างของธุรกรรม ผู้ให้เงินกู้ ให้บริการสินเชื่อและความปลอดภัย ในการจัดหาทางเลือกทางการเงินที่ยืดหยุ่น ปรับขนาดได้ และครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาค เพื่อรองรับการขยายธุรกิจของ Funding Societies ในภูมิภาคนี้
เรจินา ลี ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายพานิชย์ธนกิจ HSBC (ประเทศสิงคโปร์) กล่าวว่า "ในฐานะที่ Funding Societies แพลตฟอร์มการเงินดิจิทัลชั้นนำสำหรับธุรกิจ SME กำลังมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการขับเคลื่อนการเข้าถึงบริการทางการเงินให้เพิ่มมากขึ้นและให้การสนับสนุนบริษัทต่าง ๆ ในแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของเศรษฐกิจเหล่านี้ เรายินดีที่ได้สนับสนุน Funding Societies ในการขยายการเข้าถึงการบริการแก่ธุรกิจ SME ที่ยังขาดบริการด้านการเงินในภูมิภาคนี้"
การประกาศนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ ล่าสุด Funding Societies เข้าซื้อกิจการของ CardUp แพลตฟอร์มการชำระเงินดิจิทัลระดับภูมิภาค (อยู่ภายใต้การอนุมัติด้านกฎระเบียบ) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขยายบริการที่นอกเหนือจากการให้กู้ยืม Funding Societies ยังประสบความสำเร็จตามเป้าหมายเชิงกลยุทธ์อีกมากมาย รวมถึงการเพิ่มทุน Series C+ ที่มีมูลค่าถึงกว่า 5,141 ล้านบาทในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และทาง Funding Societies ได้ลงทุนใน Bank Index ในประเทศอินโดนีเซีย และเข้าสู่ตลาดเวียดนามซึ่งเป็นประเทศที่ 5 ที่บริษัทฯ เข้าไปให้บริการ