เจาะลึก "6 มิติ Self-Care การดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน" พฤติกรรมผู้บริโภคที่ธุรกิจ Health & Wellbeing ต้องจับตามอง

ข่าวทั่วไป Thursday August 25, 2022 09:58 —ThaiPR.net

เจาะลึก

ยังคงได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับเทรนด์ Self-Care การดูแลสุขภาพเชิงป้องกันซึ่งเป็นผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้คนหันมาสนใจรักษาสุขภาพกันมากขึ้น และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ชวนเจาะลึกพฤติกรรมผู้บริโภค 6 มิติสุขภาพของเทรนด์ Self-Care ที่จะขับเคลื่อนโอกาสทางธุรกิจ Health & Wellness ในทศวรรษหน้า จากงานเสวนาที่จัดขึ้นโดยผู้จัดงาน CARE ASIA 2022 งานแสดงสินค้านวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการด้านการดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ อย่างครบวงจรแห่งเอเชีย

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ได้ให้เกียรติเป็นองค์ปาฐก ให้ข้อมูลว่า "หลังการระบาดของ COVID-19 ระบบสุขภาพในยุค New Normal จะเน้นให้ความสำคัญ 3 เรื่องหลักคือ สุขภาพดี สุขภาวะ (ความสมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์) และความอยู่ดีมีสุข (Health, Wellness and Wellbeing) ในทางการแพทย์นั้น การมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดีประกอบด้วยหลัก 4P คือ Predictive ในอนาคตจะไม่รอให้เกิดโรคก่อน แต่เทคโนโลยีทางการแพทย์จะสามารถคาดการณ์การเกิดโรคได้อย่างแม่นยำขึ้น Preventive มีข้อมูลให้กับประชาชนแต่ละคนเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองให้ห่างโรค Personalized วงการแพทย์และสาธารณสุขจะสามารถใช้ข้อมูล ในการดูแลรักษาและป้องกันโรคได้ในระดับส่วนบุคคลได้มากขึ้น และ Participatory ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาตนเองของคนไข้มากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายด้านเศรษฐกิจของสุขภาพก็ยังเปลี่ยนไป จากค่ารักษาเป็นค่าคาดการณ์และวินิจฉัยโรคเพิ่มสูงขึ้น รวมถึง Smart Healthcare คือการให้บริการแบบ Home/Virtual Care และ e-Visit เข้ามามีบทบาทอย่างเห็นได้ชัดในหลายประเทศ นำมาสู่เทรนด์ Self-Care การดูแลสุขภาพเชิงป้องกันที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจและบริการในอุตสาหกรรม Health & Wellness ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยต้องปรับตัวเพื่อรับการเติบโตของเทรนด์ดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้"

เช่นเดียวกับข้อมูลของแมคคินซี แอนด์ คอมพานี (Mckinsey & Company) ที่ชี้ให้เห็นถึง 6 มิติของการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน โดยมิติแรกคือ Better Health มีสุขภาพที่ดี คนส่วนใหญ่เลือกการดูแลตัวเองและไปพบแพทย์เท่าที่จำเป็น เน้นใช้แอปพลิเคชันติดตามข้อมูลสุขภาพด้านต่าง ๆ และการสั่งซื้ออุปกรณ์การแพทย์มาใช้ดูแลตัวเองที่บ้านมากขึ้น Better Fitness มีสมรรถภาพร่างกายที่ดี เพราะข้อจำกัดต่าง ๆ ทำให้การออกกำลังกายเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก แต่ผู้บริโภคก็ยังมีความตั้งใจในการดูแลสมรรถภาพร่างกายให้ดี ทำให้คอร์สออกกำลังกายออนไลน์ แอปพลิเคชันที่สามารถติดตามพัฒนาการมากการออกกำลังกาย มีการเติบโตเป็นอย่างมาก ส่วนมิติของ Better Nutrition การมีโภชนาการที่ดี ก็มีความสำคัญ มีแนวโน้มการใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันด้านโภชนาการ โปรแกรมควบคุมอาหารมากขึ้น รวมถึงเน้นการอ่านฉลากของอาหาร เลือกทานอาหารที่มีน้ำตาลน้อย และให้ความสำคัญกับแนวคิดอาหารยั่งยืน เช่น หันมาบริโภคนมหรืออาหารจากพืชอย่าง Plant-based มากขึ้น

มิติของ Better Appearance มีรูปลักษณ์ที่ดี ก็เด่นชัดไม่แพ้กันเพราะผู้คนต้องการนำเสนอความเป็นตัวเองออกมาให้ได้มากที่สุด คาดว่าในปี 2573 จะเกิดบริการด้านความงามที่เพิ่มมากขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ อีกมิติใหม่ที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากขึ้นคือ Better Sleep มีการนอนหลับที่ดี เพราะเป็นการเยียวยาสุขภาพที่ดีที่สุด ปัจจุบันมีนวัตกรรมใหม่ ๆ อาทิ แอปพลิเคชัน สำหรับติดตามการนอนหลับ เซนเซอร์ที่วางไว้ใต้ที่นอนเพื่อบอกการเคลื่อนไหวขณะนอนหลับ หรือคำนวณเวลาขณะนอนหลับที่เชื่อมโยงกับการออกกำลังกาย ส่วนมิติสุดท้ายสำคัญมากคือ Better Mindfulness มีสติหรือความสงบทางใจที่ดี ผลิตภัณฑ์และบริการที่ส่งเสริมความสงบทางใจได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันเพื่อฝึกการทำสมาธิหรือบริการเพื่อความผ่อนคลาย คาดว่าในปี 2573 เทคโนโลยีและอุปกรณ์สวมใส่ที่เชื่อมโยงกับความเครียดจะมีความสำคัญมากขึ้น เช่น คลาสโยคะออนไลน์ อุปกรณ์แจ้งเตือนเมื่อถึงเวลาสงบนิ่งและทำสมาธิ เป็นต้น

ด้าน หวานหวาน-อรุณณภา พาณิชจรูญ ผู้รักออกกำลังกายเป็นชีวิตจิตใจ เล่าว่า "เทรนด์ Self-Care คือไลฟ์สไตล์การดูแลสุขภาพของคนยุคปัจจุบันจริง ๆ และส่วนตัวแล้วเป็นคนที่ออกกำลังกายหลากหลายรูปแบบมาก จึงให้ความสำคัญกับ Better Fitness มากเป็นพิเศษ ดังนั้นการมีคอร์สออกกำลังกายออนไลน์ แอปพลิเคชัน เทคโนโลยี สินค้าและบริการ ที่ช่วยให้การออกกำลังกายด้วยตัวเองเป็นไปอย่างถูกต้อง ก็จะดีต่อการดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง และสามารถเลือกได้อย่างเหมาะสมที่สุด"

ส่วน น.ส.ไอริณ ทวีเกื้อกูลกิจ ผู้อำนวยการ บริษัท เทสท์อิงค์ เอเชีย จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารนำเสนอแง่มุมของผู้บริโภคว่า "การให้ความสำคัญกับเรื่อง Better Nutrition หรือการพิจารณาถึงส่วนประกอบของอาหารเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากในยุคนี้ อย่างอาหารไทยซึ่งมีสมุนไพรเป็นส่วนผสม มีสรรพคุณทางยา และมีประโยชน์ต่อร่างกาย ยังคงได้รับความสนใจอยู่เสมอ แม้แค่จะไปเที่ยวแต่ละครั้งยังต้องหาข้อมูลของร้านอาหารที่มีประโยชน์มากกว่าการเน้นแค่รสชาติ การต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเหล่านี้ ก็ถือเป็นหนึ่งในวิถีของ Self-Care ที่เห็นได้ชัดในตอนนี้"

สำหรับทุกเพศทุกวัยที่สนใจการดูแลตัวเองทั้ง 6 มิติ สามารถค้นหาสินค้าและบริการเพื่อการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันได้ที่งาน "Care Asia 2022" งานแฟร์เพื่อคนที่คุณแคร์ งานแสดงสินค้านวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการด้านการดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ อย่างครบวงจรแห่งเอเชีย ในระหว่างวันที่ 1 - 4 กันยายน 2565 ณ ฮอลล์ EH 101 ไบเทค บางนา โดยลงทะเบียนเข้าชมล่วงหน้าที่ https://bit.ly/3HFSIfp รับฟรี ของที่ระลึกและสิทธิพิเศษมากมายภายในงาน หรือติดตามข้อมูลที่ https://www.facebook.com/CAREASIA2022

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ