บีโอไอ ผนึก สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย และอินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ เปิดงาน "MIRA - Subcon EEC 2022" งานแสดงเทคโนโลยีนวัตกรรม-ชิ้นส่วนอุตสาหกรรม-เวทีเจรจาธุรกิจ ครั้งแรกในพื้นที่อีอีซี คาดจับคู่ธุรกิจ 400 คู่ มูลค่า 1,200 ล้านบาท ตลอด 3 วันจัดงาน
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ร่วมกับสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย และอินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย เปิดงาน MIRA (Maintenance, Industrial Robotics and Automation) และ Subcon EEC 2022 งานแสดงเทคโนโลยีด้านการบำรุงรักษา หุ่นยนต์อุตสาหกรรม และระบบอัตโนมัติ โซลูชันอุตสาหกรรม พร้อมงานแสดงชิ้นส่วนอุตสาหกรรมและเวทีเจรจาจับคู่ธุรกิจ ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาตินงนุชพัทยา (NICE) จังหวัดชลบุรี หนึ่งแลนด์มาร์คสำคัญของภาคตะวันออก เพื่อร่วมกันผลักดันไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมแห่งอนาคตและผู้ผลิตชิ้นส่วนแห่งอาเซียน
นางสาวซ่อนกลิ่น พลอยมี รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า "บีโอไอขานรับนโยบายรัฐบาล มุ่งสนับสนุนให้เกิดการเติบโตอย่างต่อเนื่องของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เราจึงร่วมกับสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย และอินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ จัดงาน MIRA และ Subcon EEC 2022 หวังกระตุ้นเศรษฐกิจและสนับสนุนให้ไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำอุตสาหกรรมแห่งอาเซียน" "Subcon EEC 2022 งานแสดงชิ้นส่วนอุตสาหกรรมการผลิตและการเจรจาจับคู่ธุรกิจ เป็นการจัดงาน Subcon ครั้งแรกในภูมิภาคตะวันออกที่ต่อยอดความสำเร็จจากงาน Subcon ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปีที่กรุงเทพฯ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ EEC ให้มากยิ่งขึ้น โดยบีโอไอได้นำทัพผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยซึ่งเป็นฝั่งผู้ขาย ที่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้า ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉิรยะ เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ รวมทั้งเครื่องจักรกลการเกษตร เข้าร่วมกว่า 70 บริษัท ด้านฝั่งผู้ซื้อรายใหญ่ทั้งไทยและต่างชาติที่มีจำนวนกว่า 40 บริษัทโดยเฉพาะจากภาคตะวันออก จะเข้าร่วมกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจเพื่อจัดซื้อชิ้นส่วนภายในงาน คาดว่าจะเกิดการจับคู่ธุรกิจ 400 คู่ มูลค่า 1,200 ล้านบาท เชื่อมั่นผู้ผลิตไทยจะได้แสดงศักยภาพด้านการผลิต ขยายช่องทางการตลาด และเกิดการต่อยอดเทคโนโลยีต่อไป ผลักดันไทยเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมที่มีมาตรฐาน รองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต" นางสาวซ่อนกลิ่น กล่าว
ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาพิเศษด้านพัฒนาการศึกษา บุคลากรและเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกอพ.) กล่าวว่า "หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งสถานการณ์ปัจจุบันในรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกรวมถึงไทยได้รับ ผลกระทบทั้งในรูปแบบของเงินเฟ้อ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ตลอดจนมิติของพลังงาน ซึ่งสำหรับเศรษฐกิจไทยมีการคาดการเติบโต GDP ของไทยจะกลับสู่ภาวะปกติหรือก่อนโควิด-19 ภายในกลางปี 2566 โดยมีผลมาจากอุปสงค์ภายในประเทศและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว (3.2 % ในปี 2565 และ 4.4% ในปี 2566) อย่างไรก็ดีอีกหนึ่งปัจจัยบวกที่จะทำให้ไทยฟื้นตัวคือการมีเป้าหมายการลงทุนในอุตสาหกรรม S-curve และอุตสาหกรรม S-curveใหม่ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC ซึ่งมีหมุดหมายสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงภาคเศรษฐกิจไทยให้เท่าทันต่อทุกการเติบโตโดยมีเทคโนโลยีเป็นจุดเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรม 4.0
"สำหรับพื้นที่ EEC ของไทยประกอบไปด้วยจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล 5G เพื่อส่งเสริมการลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ทั้งนี้เมื่อมองถึงแผนการลงทุน EEC สำหรับปี 2565-2569 ปัจจุบันมีมูลค่าการลงทุนรวม 2.2 ล้านล้านบาท ฉะนั้นแล้วโจทย์สำคัญสู่การพัฒนาเขตเศรษฐกิจนี้คือการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งการเป็นส่วนหนึ่งของการจัดงาน MIRA และ SUBCON EEC 2022 ถือเป็นหนึ่งการเติมเต็มสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนอุตสาหกรรมในไทยและผู้ประกอบการ EEC โดยเราเชื่อมั่นว่านี่คือโอกาสสำคัญของภาคเศรษฐกิจไทย"ดร.ชิต กล่าว
ด้าน นายมนู เลียวไพโรจน์ ประธานอินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย กล่าวว่า "อินฟอร์มา ในฐานะผู้จัดงานแสดงระดับโลก ขานรับนโยบายภาครัฐที่เล็งเห็นถึงศักยภาพของภาคตะวันออก โดยเฉพาะพื้นที่อีอีซีที่ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่จะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศไทย จึงได้ร่วมกันจัดงาน MIRA และ Subcon EEC 2022 ขึ้นเพื่อดึงดูดการลงทุนและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต"
"สำหรับการจัดงาน MIRA หรือ งานแสดงเทคโนโลยีด้านการบำรุงรักษาหุ่นยนต์อุตสาหกรรม และระบบอัตโนมัติ โซลูชันอุตสาหกรรมขั้นสูง ถือเป็นอีกงานที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในพื้นที่อีอีซี โดยมีพื้นที่จัดแสดงกว่า 5,000 ตร.ม. นำเอาผู้ประกอบการไทยในแวดวงอุตสาหกรรมมาร่วมกันนำเสนอเทคโนโลยีระดับโลกจากกว่า 100 แบรนด์ พร้อมกันนี้ยังมีโซนพิเศษจัดแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและ
ความยั่งยืนจากหน่วยงานชั้นนำ เช่น สถาบันไทย - เยอรมัน / ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) / ศูนย์เทคโนโลยีอีเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) เป็นต้น และไฮไลท์ที่สำคัญ คือ กิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) และสัมมนากว่า 20 หัวข้อสำคัญเกี่ยวกับระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ การบำรุงรักษาสายการผลิตและโรงงาน ตลอดจนสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนที่จะได้รับจากทั้งบีโอไอและ สกอพ. เชื่อมั่นได้ว่าจะเป็นอีกก้าวที่สำคัญที่เสริมศักยภาพให้กับพื้นที่อีอีซีแห่งนี้" นายมนู กล่าวเสริม
เริ่มแล้วสำหรับงาน MIRA และ Subcon EEC 2022 กับครั้งแรกในพื้นที่อีอีซี มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเชื่อมโยงระหว่างภาคธุรกิจกับภาครัฐและสถาบัน/องค์กร ตลอดจนอัปเดทองค์ความรู้ใหม่ๆ ในงานสัมมนาโดยผู้เชี่ยวชาญและกูรูชั้นนำของประเทศ ระหว่างวันพุธถึงศุกร์ที่ 24-26 สิงหาคม 2565 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาตินงนุชพัทยา จังหวัดชลบุรี ตั้งแต่เวลา 9.30-16.30 น. ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ผ่านทาง www.mira-event.com