"บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ("บีเจซี" หรือ "บริษัท")" เผยผลประกอบการไตรมาสที่ 2/2565 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีกำไรสุทธิ 1,203 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 46.3 ในขณะที่กลุ่มธุรกิจส่วนใหญ่มียอดขายเติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่มีผลการดำเนินงานเติบโตอย่างแข็งแกร่ง จากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในประเทศไทยและเวียดนาม รวมถึงธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ จากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของยอดขายต่อสาขาเดิม (SSSG) โดยได้แรงหนุนจากยอดขายที่กลับมาฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของกลุ่มสินค้าอุปโภคและกลุ่มสินค้าอาหารแห้ง หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายลงและเทศกาลตามฤดูกาลที่ดีขึ้น เช่น วันหยุดสงกรานต์ และเทศกาลเปิดภาคเรียนในช่วงไตรมาสนี้
บีเจซี รายงานผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2/2565 เปิดเผยว่า บริษัทมีรายได้รวมเท่ากับ 41,390 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,289 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 11.6 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับแรงหนุนหลักจากยอดขายรวมและรายได้ค่าบริการที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการเติบโตของยอดขายในกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ธุรกิจเวชภัณฑ์และเทคนิค และธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ในขณะที่รายได้อื่นรวม เท่ากับ 3,242 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 324 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 11.1 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้อื่นในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ เนื่องจากการกลับมาฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องส่งผลให้อัตราการเช่ากลับมาดีขึ้นและการให้ส่วนลดเฉลี่ยแก่ผู้เช่าลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
บริษัทรายงาน รายได้รวมงวดหกเดือนของปี 65 เท่ากับ 80,812 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,094 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 11.1 เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้รวมงวดหกเดือนของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักจากการเพิ่มขึ้นของยอดขายในกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ธุรกิจเวชภัณฑ์และเทคนิค และธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของรายได้อื่น
กลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ รายงานยอดขายอยู่ที่ 6,062 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,177 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24.1 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาเหตุจากยอดขายที่แข็งแกร่งจากหมวดหมู่เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ อาหาร และเวชภัณฑ์ รวมถึงการกลับมาฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศไทยและเวียดนามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบในเชิงบวกกต่อทั้งกลุ่มบรรจุภัณฑ์แก้วและกระป๋อง รวมถึงราคาขายของบรรจุภัณฑ์ที่สูงขึ้นจากต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนสาธารณูปโภคที่เพิ่มขึ้น
กลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภค รายงานยอดขายอยู่ที่ 5,326 ล้านบาท ลดลง 353 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 6.2 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ถึงแม้ว่ากลุ่มธุรกิจอาหาร กลุ่มธุรกิจอุปโภค และกลุ่มธุรกิจต่างประเทศ จะมีการเติบโตของยอดขายที่แข็งแกร่ง แต่กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์มียอดขายลดลงเนื่องจากการย้ายการจัดการด้านโลจิสติกส์ของบิ๊กซีออกจากธุรกิจโลจิสติกส์กลับสู่กลุ่มสินค้าและบริการค้าปลีกสมัยใหม่ตั้งแต่ต้นปี ส่งผลให้ยอดขายรวมลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
กลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และเทคนิค รายงานยอดขายอยู่ที่ 2,324 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 135 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 6.1 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาเหตุจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มสินค้าและบริการทางเทคนิค จากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของฝ่ายเคมีภัณฑ์อุตสาหกรรม ฝ่ายอุตสาหกรรมการพิมพ์ และฝ่ายวิศวกรรม
กลุ่มสินค้าและบริการค้าปลีกสมัยใหม่ รายงานยอดขายอยู่ที่ 27,836 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,597 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10.3 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากรายได้จากการขายสินค้าเท่ากับ 24,718 ล้านบาท เนื่องจากการขยายสาขาใหม่และการกลับมาฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของยอดขายต่อสาขาเดิมเนื่องจากการกลับมาฟื้นตัวของหมวดหมู่เสื้อผ้า และอุปกรณ์ตกแต่งและของใช้ภายในบ้าน รวมถึงยอดขายที่ดีอย่างต่อเนื่องของสินค้าอุปโภคและบริโภค จากช่วงเทศกาลสงกรานต์และช่วงเปิดภาคเรียน เนื่องจากช่วงเทศกาลดังกล่าวได้รับผลกระทบในเชิงลบในช่วงสองปีที่ผ่านมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลปี 2565 ในอัตราหุ้นละ 0.15 บาทต่อหุ้น โดยเงินปันผลดังกล่าวจะจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 8 กันยายน 2565