บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด พันธมิตรภายใต้ความร่วมมือ Dengue-Zero และ บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด จับมือเดินหน้ากิจกรรมสร้างความตระหนักรู้เรื่องไข้เลือดออก ภายใต้หัวข้อ 'ไข้เลือดออก ใกล้ตัวและน่ากลัวกว่าที่คิด' ให้แก่ชุมชนในเขตกรุงเทพมหานคร โดยได้นำร่องโครงการที่โรงเรียนประชาอุทิศ (จันทาบอนุสรณ์) เขตดอนเมือง และโรงเรียนวัดหลักสี่ (ทองใบทิวารีวิทยา) เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเขตพื้นที่เสี่ยงสูงจากการระบาดของโรคนี้ โดยมุ่งมั่นทำงานอย่างต่อเนื่องกับผู้นำชุมชนและอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) เพื่อรณรงค์ยับยั้งไข้เลือดออกทั่วกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมปลอดไข้เลือดออกด้วยแผนงาน 5 ปี ผ่านการสร้างความตระหนักรู้ในภาคประชาชน ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในการป้องกันและการควบคุมโรคไข้เลือดออกในประเทศไทย Dengue-Zero ระหว่างภาคีเครือข่าย 11 องค์กร
การเสริมสร้างองค์ความรู้และกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้เรื่องไข้เลือดออกในครั้งนี้ เป็นการต่อยอดจากการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกเนื่องใน "วันไข้เลือดออกอาเซียน" หรือ ASEAN Dengue Day ซึ่งตรงกับวันที่ 15 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยกิจกรรมนี้เน้นให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกให้แก่เยาวชนในโรงเรียน พร้อมทั้งแนะนำแอปพลิเคชั่น "รู้ทัน" ที่พัฒนาโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการรับแจ้งเตือนข้อมูลข่าวสารที่จะส่งผลกระทบต่อการระบาดของไข้เลือดออกได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
ภายในงานยังได้รับเกียรติจากนายนิคม ไวยรัชพานิช ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน ร่วมด้วย นางเกศี จันทราประภาวัฒน์ กรรมการขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษา กทม. ทั้งนี้ นายสมบัติ กนกทิพย์วรรณ ผู้อำนวยการเขตหลักสี่ ได้เข้าร่วมงานที่โรงเรียนวัดหลักสี่ (ทองใบทิวารีวิทยา) เขตหลักสี่ เพื่อร่วมกันตอกย้ำถึงความสำคัญของการดูแลชุมชนและตนเองให้ห่างไกลจากไข้เลือดออก
ทั้งนี้ กิจกรรมการลงพื้นที่เพื่อรณรงค์ยับยั้งโรคไข้เลือดออกจะดำเนินอย่างต่อเนื่อง ผ่านการถ่ายทอดความรู้เรื่องโรคและการปฏิบัติจริงในการป้องกันและควบคุมไข้เลือดออกให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสส. เพื่อนำไปต่อยอดและถ่ายทอดสู่ชุมชนเพื่อให้ปลอดภัยจากโรคนี้ โดยตั้งเป้าสนับสนุนการดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนที่มีการระบาดของไข้เลือดออกสูง