สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา (สคร.12 สงขลา) ย้ำเตือนประชาชน หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีน้ำขัง ไม่ควรเดินลุยน้ำ ย่ำดินโคลน พื้นที่ชื้นแฉะ ด้วยเท้าเปล่าหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน แนะสวมรองเท้าบูทป้องกัน หากมีไข้เฉียบพลันหลังลุยน้ำ 1-2 สัปดาห์ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบริเวณน่อง โคนขา อย่าซื้อยากินเอง ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
โรคเลปโตสไปโรสิส (Leptospirosis) หรือโรคไข้ฉี่หนู เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อว่า เชื้อเลปโตสไปร่า (Leptospira) เข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล รอยขีดข่วน รอยถลอกตามผิวหนัง เยื่อบุตา จมูก ปาก หรือโดยการไชเข้าทางผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานาน ซึ่งมักจะระบาดหน้าฝนและโดยเฉพาะหลังน้ำลด พบผู้เสี่ยงต่อ การติดเชื้อในเกษตรกร ที่ต้องเดินลุยน้ำ มีน้ำขัง หรือพื้นดินชื้นแฉะที่มีโอกาสปนเปื้อนปัสสาวะสัตว์ ได้แก่ วัว ควาย หมู หมา แพะ หนู รวมทั้งผู้ที่ทำงานในฟาร์มเลี้ยงสัตว์/โรงฆ่าสัตว์/ผู้ที่ชำแหละสัตว์ที่มีเชื้อโรคฉี่หนู ทำ ให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคนี้
สถานการณ์ โรคเลปโตสไปโรสิส (Leptospirosis) หรือโรคไข้ฉี่หนู ในเขตสุขภาพที่ 12 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 28 สิงหาคม 2565 จากข้อมูลการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา (รง.506) และระบบเฝ้าระวังเหตุการณ์ผิดปกติของทีมตระหนักรู้สถานการณ์โรคประจำสัปดาห์ (SAT) ได้รับรายงานผู้ป่วยโรคเลปโตสไปโรสิส จำนวน 296 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 6.46 ต่อประชากรแสนคน พบผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น จำนวน 5 ราย จำแนกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ จังหวัดสงขลา 2 ราย (อำเภอสะเดา 1 ราย อำเภอบางกล่ำ 1 ราย), จังหวัดตรัง 2 ราย (อ.เมือง 1 ราย อ.ปะเหลียน 1 ราย) และจังหวัดพัทลุง 1 ราย (อำเภอบางแก้ว 1 ราย) ทั้งนี้ พบผู้ป่วยเพศชาย มากกว่า เพศหญิง โดยพบเพศชาย 238 ราย เพศหญิง 58 ราย กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือกลุ่มอายุ 10-14 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 55-65 ปี และ 25-34 ปี สัดส่วนอาชีพที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือรับจ้าง ร้อยละ 30.07 รองลงมาคือ อาชีพเกษตร ร้อยละ 28.38 และอาชีพนักเรียน ร้อยละ 23.31 พบผู้ป่วยสูงสุดในเดือนพฤษภาคม จำนวน 68 ราย
นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า สคร.12 สงขลา ห่วงใยพี่น้องประชาชน ระวังป่วยด้วยโรคเลปโตสไปโรสิส (โรคไข้ฉี่หนู) โดยอาการของโรคไข้ฉี่หนู พบว่า จะมีไข้สูงทันทีทันใด หลังลุยน้ำ 1-2 สัปดาห์ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดเจ็บกล้ามเนื้อที่โคนขาและน่องอย่างมาก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ตาแดง ที่สำคัญขอให้แจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อที่แพทย์จะได้ตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาทันที ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากพบแพทย์ช้าเกินไป
สำหรับการป้องกันโรคไข้ฉี่หนู ควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีน้ำขัง เนื่องจากหนู หมู วัว และควายอาจจะมาปัสสาวะไว้ ทำให้มีปริมาณเชื้อเข้มข้น หลีกเลี่ยงการลุยน้ำที่ท่วมขังหรือโคลน พื้นที่ชื้นแฉะ โดยเฉพาะเมื่อมีบาดแผล รอยถลอก ขีดข่วน หากต้องเดินย่ำน้ำตามตรอก ซอก ซอย คันนา ท้องนา ท้องไร่ ควรสวมรองเท้าบูท ถุงมือ หรือชุดป้องกัน สำหรับเกษตรกรผู้สัมผัสมูลสัตว์ หรือสิ่งสกปรกควรล้างมือ ล้างเท้า อาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังเสร็จจากการทำงาน นอกจากนี้ยังต้องรักษาความสะอาดบริเวณบ้านเรือน กำจัดขยะเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู เก็บอาหารและน้ำดื่มให้มิดชิด อย่าให้หนูปัสสาวะใส่ ดื่มน้ำต้มสุก และกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ด้วยความร้อน รีบล้างมือ ด้วยน้ำและสบู่ ภายหลังจับต้องเนื้อสัตว์ ซากสัตว์ และสัตว์ ทุกชนิด หากมีข้อสงสัยสามารถโทรศัพท์สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422