"ตลท.-SPC" รวมพลังเครือข่ายพันธมิตร เดินหน้าโครงการ "สถานีขยะล่องหน รวมพลังชุมชน คุ้งบางกะเจ้า" ปีที่ 2 ผ่านแคมเปญ "เก็บแยก แลก เร๊ววว" หวังปรับมุมมองแนวคิดการบริหารจัดการขยะไปยังกลุ่มเยาวชนในโรงเรียน 11 แห่ง และคนในชุมชนรอบคุ้งบางกะเจ้านำขยะมาแลก "บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า, ปลากระป๋องซื่อสัตย์, น้ำยาล้างจานไลปอนเอฟ, ผงซักฟอก 108 Shop, น้ำตาลมิตรผล, เกลือปรุงทิพย์และกระดาษทิชชูเทนเดอร์" เพื่อช่วยลดปริมาณคาร์บอนฟรุตปริ้น ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมช่วยโลก ช่วยเหลือในเรื่องค่าครองชีพ สนับสนุนจิตสำนึกดีให้กับสังคมและชุมชน
นางผาสุข รักษาวงศ์ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) หรือ SPC เปิดเผยว่า โครงการ Care the Whale "ขยะล่องหน" ภายใต้การดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้สร้างพื้นที่ความร่วมมือในการส่งเสริมการบริหารการจัดการขยะในครัวเรือนและชุมชนนำร่อง "สถานีขยะล่องหน คุ้งบางกะเจ้า" จ.สมุทรปราการ ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา
ล่าสุด SPC ได้เข้าร่วมโครงการ "สถานีขยะล่องหน รวมพลังมหาชุมชน คุ้งบางกะเจ้า" เป็นปีที่ 2 ซึ่งได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจ ภาคสังคม และภาคชุมชน มุ่งสร้างการตระหนักรู้ในเรื่องการบริหารจัดการขยะ ดูแลสิ่งแวดล้อม พร้อมช่วยเหลือชุมชนในช่วงโรคระบาดของไวรัสโควิด -19 ณ บริเวณคุ้งบางกะเจ้า
สำหรับปี 2565 นี้ ได้มีการขยายเครือข่ายการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นมา โดยมี บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) (OSP) บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) (PRINC) ผู้ดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ เพื่อสนับสนุนให้การดำเนินโครงการฯ ให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น จากเดิมที่ได้นำร่องโครงการฯ โดย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ร่วมมือกับ SPC และวัดจากแดงในปีที่ผ่านมา
"การดำเนินโครงการปีที่ 2 นี้ จะขยายการสนับสนุนสินค้าอุปโภคบริโภคแก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ที่นำขยะมาส่งให้กับสถานีขยะล่องหน จากเดิมที่มุ่งเน้นกลุ่มประชาชนเป็นหลัก โดย SPC จะเป็นแกนนำในการสร้างการตระหนักรู้ เน้นการสร้างจิตสำนึกให้ความรู้ความเข้าใจการจัดการขยะ ผ่านแคมเปญ "เก็บแยก แลก เร๊ววว" รณรงค์ให้คนในชุมชนนำขยะมาแลกสิ่งของอุปโภคบริโภค ปรับมุมมองแนวคิดการบริหารจัดการขยะไปยังกลุ่มเยาวชนในโรงเรียน 11 แห่งรอบคุ้งบางกะเจ้า ครอบคลุมนักเรียน 1,000 คน รวมทั้งชุมชนและหน่วยงานร้านค้าโดยรอบพื้นที่ ให้เกิดการตระหนักรู้ว่าขยะไม่ใช่ขยะ ไม่มีอะไรเป็นขยะ ส่งเสริมให้เห็นมูลค่าของขยะมากขึ้น และรู้ว่าขยะทุกประเภทมีทางไปและรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ พร้อมนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดขยายสู่คนในครอบครัวต่อไป สอดคล้องกับความมุ่งหมายของ SPC สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในมิติของสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นไปตามแนวทางของเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy" นางผาสุข กล่าว
นอกจากนี้ SPC ยังช่วยส่งเสริมแนวคิดการทำงานสถานีขยะล่องหน โดยนำองค์ความรู้จาก "โครงการสหพัฒน์ให้น้อง" ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ในการมุ่งปลูกฝังให้เยาวชนรู้จักการคัดแยกขยะเพื่อร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม โดยจะนำองค์ความรู้ต่างๆ มาต่อยอดและส่งเสริมแนวคิดการทำงานสถานีขยะล่องหน เน้นการปลูกฝังให้ชุมชนเรียนรู้การคัดแยกขยะได้อย่างถูกต้อง การนำขยะเหลือทิ้งมา DIY เพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ การกำจัดขยะอย่างถูกวิธี
อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินโครงการ "สถานีขยะล่องหน รวมพลังมหาชุมชน คุ้งบางกะเจ้า" ในปีแรก ทำให้เกิดการแยกขยะ 4,770 กิโลกรัม ช่วยลดปริมาณคาร์บอนฟรุตปริ้น 4,093.86 CO2e หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 455 ต้น นับเป็นการช่วยเหลือคนในชุมชน พร้อมกับส่งเสริมการดูแลสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค สร้างความร่วมมือในชุมชนตระหนักรู้เรื่องการแยกขยะและสิ่งแวดล้อม เกิดการช่วยเหลือชุมชนด้านค่าครองชีพ จากสินค้าอุปโภคบริโภคจากการแลกขยะ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า, ปลากระป๋องซื่อสัตย์, น้ำยาล้างจานไลปอนเอฟ, ผงซักฟอก 108 Shop, น้ำตาลมิตรผล, เกลือปรุงทิพย์และกระดาษทิชชูเทนเดอร์ เป็นต้น โดยขยะทั้งหมดนำไปเป็นส่วนหนึ่งในการแปรรูปเพื่อก่อสร้างอาคารพระไตรปิฎกอีกด้วย
ด้าน นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งส่งเสริมความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อประโยชน์กับทุกภาคส่วนตามวิสัยทัศน์ "To Make the Capital Market 'Work' for Everyone" สอดรับการจัดการสิ่งแวดล้อมตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยเดินหน้าสถานีขยะล่องหน คุ้งบางกะเจ้า ปี 2 ภายใต้แนวคิด "รวมพลังมหาชุมชน คุ้งบางกะเจ้า" ขยายความร่วมมือเชื่อมโยงบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ กับภาคชุมชนเพื่อเพิ่มผลลัพธ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม