เด็กและเยาวชนพิการและไม่พิการ 5 ประเทศอาเซียนร่วมโครงการศิลปะเพื่อมวลมนุษย์ "Art for All" 26-28 ส.ค.นี้ที่ประเทศไทย วธ.ชวนร่วมประชุมวิชาการนานาชาติ-สอนศิลปะจากคณาจารย์และศิลปินไทยสำหรับผู้พิการ นำศิลปะมาใช้ในการพัฒนามนุษย์
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้ วธ.ได้มีการเปิดโครงการศิลปะเพื่อมวลมนุษย์ ประจำปี 2565 ซึ่งโครงการ Art for All หรือ "ศิลปะเพื่อมวลมนุษย์" ก่อตั้งโดย ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ และได้เปิดตัวสู่สังคมนานาชาติตั้งแต่การดำเนินโครงการในปี พ.ศ. 2542 และจัดกิจกรรมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อสนับสนุนแนวความคิดในการนำศิลปะมาใช้ในการพัฒนามนุษย์ซึ่งนอกเหนือจากคุณค่าทางสุนทรียะแล้ว ศิลปะสามารถใช้เป็นเครื่องมือเพื่อยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของกลุ่มผู้ด้อยโอกาส อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ยังคงมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง การจัดกิจกรรมในปี 2565 จึงดำเนินกิจกรรมในรูปแบบผสมผสานทั้งกิจกรรมเชิงกายภาพและและกิจกรรมในรูปแบบออนไลน์ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 200 คน ประกอบด้วย เยาวชนพิการและไม่พิการ ครูอาจารย์ที่สอนศิลปะ ผู้ปกครอง ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะ วิทยากรจากประเทศไทยและประเทศสมาชิกอาเซียน กลุ่มเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับคนพิการและผู้ด้อยโอกาส ระหว่างวันที่ 26-28 สิงหาคม 2565 ณ หอศิลป์แห่งชาติ และอาคารวัฒนธรรมวิศิษฏ์ กระทรวงวัฒนธรรม และ Art for All Village กรุงเทพมหานคร
รมว.วธ. กล่าวต่อไปว่า กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย 1.การประชุมวิชาการนานาชาติ "ศิลปะเพื่อมวลมนุษย์: หลากหลาย สร้างสรรค์ ยั่งยืน" (International Symposium and Conference "Art for All: Diversity, Creativity, Sustainability") ในวันที่ 26 สิงหาคม 2565 ณ อาคารวัฒนธรรมวิศิษฏ์ กระทรวงวัฒนธรรม ในรูปแบบการประชุมแบบผสมผสาน (Hybrid) โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน จำนวน 5 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย เข้าร่วมการประชุม 2.การจัดการเรียนการสอนด้านศิลปะ จากคณาจารย์และศิลปินไทยสำหรับผู้พิการ ในวันที่ 26 สิงหาคม 2565 ณ หอศิลป์แห่งชาติ และ ในวันที่ 27-28 สิงหาคม 2565 Art for All Village กรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ โครงการ Art for All หรือ "ศิลปะเพื่อมวลมนุษย์" มีความสอดคล้องกับวิสัยทัศน์อาเซียน (ASEAN Vision) ที่จะทำให้อาเซียนเป็นชุมชนของสังคมแห่งความเอื้ออาทร "ก้าวข้ามขีดจำกัด" โดยกิจกรรมหลักคือการจัดค่ายศิลปะซึ่งส่งเสริมให้เยาวชนพิการและไม่พิการให้ได้ประสานความร่วมมือกันเพื่อค้นหาศักยภาพในตัวเอง เสริมสร้างคุณค่าของการมีชีวิต ทักษะชีวิตและพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ยืนหยัดอยู่ในสังคมได้อย่างภาคภูมิและมีศักดิ์ศรี ค่ายฯได้รับการออกแบบและดำเนินการโดยมีศิลปินแห่งชาติ ศิลปินศิลปาธร ครูอาจารย์ด้านศิลปะแขนงต่างๆ ซึ่งนอกจากวิทยากรและผู้เข้าร่วมโครงการจะมาจากภูมิภาคต่างๆ ภายในประเทศไทยแล้ว ยังได้เชิญ ครู อาจารย์ ศิลปิน เยาวชนพิการ จากนานาชาติ เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนการสอนด้านศิลปะเพื่อพัฒนาศักยภาพคนพิการอีกด้วย