รมต.อว. ลงพื้นที่เยี่ยมชมนวัตกรรมที่ วช. ผลักดันให้ใช้งานจริงได้ในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อและโรคอุบัติใหม่

ข่าวทั่วไป Monday August 29, 2022 15:20 —ThaiPR.net

รมต.อว. ลงพื้นที่เยี่ยมชมนวัตกรรมที่ วช. ผลักดันให้ใช้งานจริงได้ในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อและโรคอุบัติใหม่

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงพื้นที่เยี่ยมชมผลงานความร่วมมือในการขยายผลนวัตกรรมดิจิทัลสนับสนุนการบริหารจัดการโรคระบาด ภายใต้โปรแกรมยุติโรคระบาดด้วยนวัตกรรม (EPI) โดยมี นายแพทย์สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานกรรมการบริหารศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ รักษาราชการผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) รองศาสตราจารย์ ดร.วินิตา บุญโยดม รักษาราชการแทนรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นายแพทย์ทศเทพ บุญทอง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตสุขภาพที่ 1 นายแพทย์วรัญญู จำนงประสาทพร รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ นายภาคภูมิ ธาวงค์ รองนายแพทย์สาธารสุขจังหวัดเชียงใหม่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ นายแพทย์วรวุฒิ โฆวัชรกุล ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารสุขจังหวัดเชียงใหม่ ด้านการจัดการเทคโนโลยีและสารสนเทศ ให้การต้อนรับ ณ โรงพยาบาลสันทราย จังหวัดเชียงใหม่

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า "ในวันนี้ เป็นการลงพื้นที่เยี่ยมชมการขยายผลนวัตกรรมดิจิทัลสนับสนุนการบริหารจัดการโรคระบาด ภายใต้โปรแกรมยุติโรคระบาดด้วยนวัตกรรม (EPI) ซึ่งมีเป้าหมายที่จะทำให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นต้นแบบเมืองมั่นคงด้านสุขภาพ ด้วยการนำนวัตกรรมมาช่วยบูรณาการข้อมูลสุขภาพจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งการดูแลภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข และการส่งต่อผู้ป่วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาและการบริการให้กับประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ อีกทั้งยังสามารถใช้ประเมินสถานการณ์และวางมาตรการด้านสาธารณสุขของจังหวัดเชียงใหม่

นอกจากนี้ การเชื่อมโยงฐานข้อมูลสุขภาพจะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมด้านการบริการและการรักษาใหม่ๆ พร้อมกระตุ้นให้เกิดการลงทุนและการพัฒนางานด้านดิจิทัลของประเทศเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการบริหารจัดการสถานการณ์การระบาดในประเทศ กระทรวง อว. พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานในพื้นที่ โดยการบูรณาการงบประมาณระหว่างหน่วยงานให้ทุนภายใต้การกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมหลายๆ แหล่ง หน่วยงานวิชาการนักวิจัยในพื้นที่ เพื่อร่วมขับเคลื่อนการขยายนวัตกรรมการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพนำร่องพื้นที่ภาคเหนือต่อเนื่อง โดยหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ เราก็จะช่วยขยายผลความร่วมมือไปสู่พื้นที่จังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศไทย เราหวังว่านวัตกรรมดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยมีระบบการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพและนำพาประเทศไปสู่ความมั่นคงด้านสุขภาพและนวัตกรรมทางการแพทย์ของประเทศเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป"

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้ให้ทุนสนับสนุนคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้โครงการวิจัยแบบบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม ขับเคลื่อนงานวิจัยที่มีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ เป็นประธานบริหารแผนงาน (Program Chair : PC) และมีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหน่วยบริหารจัดการและส่งมอบเพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพและเพื่อดูแลภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ผ่านกระบวนการคิดและทำในรูปแบบงานวิจัยและนวัตกรรม ที่มาจากปัญหาและความต้องการของคนในพื้นที่ มุ่งเน้นการพัฒนา การมีส่วนร่วมของคนที่เกี่ยวข้องกับระบบบริการสุขภาพ ซึ่งผลการวิจัยสามารถต่อยอด ขยายผล มีความยั่งยืน และเกิดประโยชน์สูงสุด

การเยี่ยมชมผลงานวิจัยและนวัตกรรมจากการสนับสนุนแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) แผนงานระบบบริการสุขภาพ: การพัฒนาระบบบริการเพื่อการดูแลภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างครบวงจร เกิดนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ในโรงพยาบาลสันทราย โดยมีการสาธิตการใช้งานระบบ CM-HIS ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลการดูแลระหว่างสถานบริการแต่ละระดับพร้อมทั้งการส่งต่อผู้ป่วยภายใน รพ. ทั้งในและนอกเครือข่าย จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมทั้งชมการสาธิตการใช้งานเครื่องวัดสัญญาณชีพพื้นฐานพร้อมการสื่อสารแบบไร้สาย (CMUgency) นอกจากนี้ ยังมีการประชุมหารือ และรับฟังการขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการสถานการณ์ระบาดติดเชื้อและโรคอุบัติใหม่ จากศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ โรงพยาบาลสันทราย และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ อีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ