วว. ร่วมยกระดับศักยภาพผู้ให้บริการทางธุรกิจ สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการทางธุรกิจที่เยอรมนีและเนเธอร์แลนด์

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 29, 2022 15:56 —ThaiPR.net

วว. ร่วมยกระดับศักยภาพผู้ให้บริการทางธุรกิจ สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการทางธุรกิจที่เยอรมนีและเนเธอร์แลนด์

ศ.(วิจัย) ดร. ชุติมา  เอี่ยมโชติชวลิต   ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)  กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  (อว.)  และ ดร. สุวิทย์  อัจริยะเมต   ผู้อำนวยการ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ วว. พร้อมด้วยคณะผู้เข้าร่วมกิจกรรมยกระดับศักยภาพผู้ให้บริการทางธุรกิจและสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการทางธุรกิจ จาก สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เยือนประเทศเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ เพื่อพัฒนาส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหน่วยงานผู้ให้บริการแก่ผู้ประกอบการ ในระหว่างวันที่ 21-28   สิงหาคม  2565   โดยมีภารกิจ ดังนี้

1) เข้าร่วมงานนิทรรศการ ACHEMA  2022  ณ  เมืองแฟรงค์เฟิร์ต  ประเทศเยอรมนี  ซึ่งจัดแสดงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านวิศวกรรม การแสดงสินค้า/อุปกรณ์เทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต ผลิตภัณฑ์เคมี  เภสัช เทคโนโลยีชีวภาพ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม   โดยมุ่งเน้น Theme การใช้ Internet of Things (IOT) ระบบรักษาความปลอดภัย Cyber Security และระบบการผลิตแบบแยกส่วนและแบบครบวงจร ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อ วว.  ในการนำมาประยุกต์ใช้กับงานวิจัยและพัฒนาในอนาคต เช่น การพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียผ่าน IOT การทดสอบอุปกรณ์ IOT และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์ยา เป็นต้น

2) ศึกษาดูงานและหารือเพื่อต่อยอดความร่วมมือด้านการเกษตรกับ Julius Kuehn-Institut (JKI)  ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและอาหาร (Federal Ministry of Food and Agriculture) ของประเทศเยอรมนี ที่มุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพทุกด้านของการเกษตรพืชผล (All Crop Plant Capabilities)   ณ  เมือง Dossenheim โดยได้เยี่ยมชมศูนย์วิจัยด้าน Biological  Plant  Protection ที่เน้นศึกษาวิจัยการควบคุมทางชีวภาพของโรคพืชและศัตรูพืช โดยใช้สิ่งมีชีวิตและสารชีวภาพที่หลากหลาย และเยี่ยมชมศูนย์วิจัยด้าน Plant  Protection  in Fruit Growing and Viticulture เน้นงานวิจัยศึกษาสาเหตุ การควบคุมโรค และแมลงศัตรูพืชผลไม้ โดยเฉพาะการปลูกองุ่น  โรคพืช การระบาดวิทยา การพยากรณ์โรค การป้องกันพืชแบบอินทรีย์และแบบผสมผสาน นิเวศวิทยาเชิงหน้าที่และเชิงเคมี  โอกาสนี้คณะผู้บริหาร วว. ได้หารือกับผู้บริหารและนักวิจัยของ JKI เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการผลิต Biocontrol  Agent  ในอนาคต

3) หารือแนวทางความร่วมมือกับผู้บริหาร Deutsche Gesellschaft  fuer  Internationale  Zusammenarbeit (GIZ) GmbH  ซึ่งเป็นหน่วยงานให้ทุนและองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของรัฐบาลเยอรมนี มีสาขาปฏิบัติงานกว่า 120 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย โดยมีโครงการหลากหลายสาขา เช่น การเกษตรและความปลอดภัยด้านอาหาร นโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  พลังงาน การพัฒนาเมืองและอุตสาหกรรม การคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน การบริหารจัดการขยะและทรัพยากรธรรมชาติ การจัดการน้ำ ธรรมาภิบาล การฝึกอบรมด้านอาชีวศึกษา ความร่วมมือไตรภาคี  ปัจจุบัน GIZ  โดยเฉพาะสาขาประเทศไทยมุ่งเน้นดำเนินโครงการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ   ภายใต้การหารือครั้งนี้มุ่งให้เกิดการสนับสนุนโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน  หาแนวทางการพัฒนาข้อเสนอโครงการในด้านความร่วมมือและขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมนี  ทั้งนี้ วว. มีเป้าหมายที่จะจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับเงินสนับสนุนจาก GIZ  ในด้านวิจัยและพัฒนาเครื่องมือและเครื่องจักรที่ลดการปลดปล่อยมลพิษ ส่งเสริมแนวทาง Carbon Neutral ลดการปลดปล่อยคาร์บอน (CO2)  เข้าสู่ชั้นบรรยากาศ  โดย วว. มุ่งพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้เดิมที่มี เพื่อก้าวไปสู่ Platform ความร่วมมือกับต่างประเทศ

4) ร่วมหารือกับผู้บริหาร  The  Netherlands  Enterprise  Agency (RVO) / Holland Circular Hotspot (HCH) ในสังกัด Ministry of  Economic   Affairs  and Climate  Policy  โดย RVO เป็นหน่วยงานส่งเสริมผู้ประกอบการของประเทศเนเธอร์แลนด์ ทั้ง Startup และ Scale-up  ตั้งแต่เริ่มการลงทุน การให้คำปรึกษา การขยายธุรกิจออกสู่ต่างประเทศ และการดูแลทรัพย์สินทางปัญญาของผู้ประกอบการ  โดย วว. ได้เรียนรู้ Best Practice พร้อมถอดบทเรียนความสำเร็จเพื่อนำไปพัฒนาผู้ประกอบการไทย ในด้านกลไกการส่งเสริมผู้ประกอบการของเนเธอร์แลนด์ การสนับสนุนผู้ประกอบการอย่างครบวงจร ตั้งแต่การผลักดันนโยบาย เงินทุนสนับสนุน การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ การดูแลทรัพย์สินทางปัญญา และการผลักดันผู้ประกอบการออกสู่เวทีนานาชาติ เพื่อถอดบทเรียนสู่การพัฒนาผู้ประกอบการไทย   นอกจากนี้ ชยังได้ร่วมหารือกับ Holland Circular Hotspot (HCH) ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการด้าน Circular  Economy  ซึ่ง  HCH  ช่วยเป็นผู้ให้บริการข้อมูลเชิงลึก สร้างโอกาส ความร่วมมือ และ Best Practices นวัตกรรมด้าน Circular ทั้งนี้  HCH มีความประสงค์จะศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง Thailand Circular Economy Hub ด้วย

5) ศึกษาดูงาน ณ บริษัท  BOM Group และ KUBO Group  ประเทศเนเธอร์แลนด์  โดยได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมระบบปลูกเลี้ยง  โรงเรือนการเกษตร  และ Smart Farming ซึ่งทั้งสองบริษัทมีความเชี่ยวชาญ  และยังได้ส่งวิทยากรเข้าร่วมกิจกรรมในงานสัมมนา APEC Workshop on Flower and Ornamental Plants ของ วว. ซึ่งจัดเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดย วว. มีความประสงค์จะร่วมมือกับ KUBO และ BOM  ในการพัฒนานวัตกรรมระบบปลูกเลี้ยง ระบบโรงเรือน สำหรับสายพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับในประเทศไทย   ทั้งนี้  BOM Group ก่อตั้งขึ้นในปี 1966  มีประสบการณ์ด้าน High-tech Greenhouse Horticulture Projects กว่า 1,000 โครงการทั่วโลก  มีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมโรงเรือนมากกว่า 50 ปี มีองค์ความรู้ตั้งแต่พื้นฐานจนถึงการพัฒนานวัตกรรม คุณภาพ และประสิทธิภาพ  ส่วน  KUBO  Group  ให้บริการเต็มรูปแบบด้านโครงการเรือนกระจก ตั้งแต่งานวิศวกรรมการผลิตและบริการก่อสร้างโรงเรือนกระจก(Contracting  Engineering  Manufacturing & Construction service)

"...การเยือนเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ในครั้งนี้  มีประโยชน์ต่อการดำเนินงานของ วว.  และหน่วยงานพันธมิตร ที่เข้าร่วมกิจกรรมเป็นอย่างมาก ในการนำมาประยุกต์ใช้และสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภายในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรม  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาครัฐและเอกชน  จะนำมาซึ่งการพัฒนาและต่อยอดงานวิจัยในสาขาที่เกี่ยวเนื่องให้สำเร็จ  สามารถตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาของประเทศได้ในระยะเวลาอันใกล้..." ศ.(วิจัย) ดร. ชุติมา  เอี่ยมโชติชวลิต   ผู้ว่าการ วว. กล่าว

 


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ