กรุงเทพฯ--27 มี.ค.--124 คอมมิวนิเคชั่นส
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเปิดผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจของอาเซียน(SEOM) ที่กัมพูชา มีเรื่องสำคัญ 2 เรื่อง คือ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และการประชุมหารือระหว่าง SEOM กับประเทศคู่เจรจา ประกาศชัดเจนอาเซียน-ญี่ปุ่นพร้อมลงนามเดือนเมษายนศกนี้ ส่วนอาเซียน-เกาหลีจะลงนามพิธีสารการเข้าร่วมความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าและการค้าบริการของไทยประมาณเดือนพฤษภาคม ด้านอาเซียน-อินเดียตกลงยุติการเจรจา ส่วนอาเซียน-สหรัฐฯ เตรียมจัดการประชุม TIFA Council และ Private Sector Roundtable ในการประชุม AEM ครั้งที่ 40 ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยจะเป็นการหารือเฉพาะภาคธุรกิจก่อนในเบื้องต้น
นายนพดล สระวาสี รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจของอาเซียน (SEOM) ครั้งที่ 2/39 ณ เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชาเปิดเผยว่า การประชุมมีกรอบใหญ่สองกรอบ ได้แก่ กรอบว่าด้วยเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และกรอบการประชุมหารือระหว่าง SEOM กับประเทศคู่เจรจา โดยในส่วนของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มีสาระสำคัญที่สรุปได้ 5 ประเด็นหลักคือ เรื่อง AEC Scorecard, AEC Communication Plan, การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจสาขาสำคัญ (PIS), การค้าสินค้า และการค้าบริการ ขณะที่การประชุมหารือระหว่าง SEOM กับประเทศคู่เจรจานั้นประกอบด้วย อาเซียน-ญี่ปุ่น, อาเซียน-เกาหลี, อาเซียน-อินเดีย และอาเซียน-สหรัฐอเมริกา
“การประชุมเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่ประชุมได้พิจารณาร่าง Comprehensive AEC Scorecard เพื่อใช้เป็นเครื่องมือติดตามวัดผลการดำเนินการตาม AEC Blueprint โดยจะส่งให้ที่ประชุมคณะทำงานระดับสูงในเดือนเมษายน และจะนำเสนอต่อที่ประชุมอย่างไม่เป็นทางการของรัฐมนตรีเศรษฐกิจในเดือนพฤษภาคมและจะพิจารณาขั้นสุดท้ายในที่ประชุมผู้นำอาเซียนครั้งที่ 14 ที่กรุงเทพ ฯ และจะนำเปิดเผยทางเว็บไซต์ของ ASEC ในเดือนมกราคม 2553 นอกจากนี้ยังได้มีการประชุมพิจารณาร่างแผนการสื่อสารซึ่งจะใช้เป็นแผนในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่จะได้รับจากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยจะมุ่งเน้นกลุ่มนักธุรกิจเป็นสำคัญ” นายนพดลกล่าว
นายนพดลกล่าวต่อไปถึงประเด็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจสาขาสำคัญ (PIS) ว่าที่ประชุมมีมติให้ประเทศที่เป็นผู้ประสานงานของแต่ละสาขาจัดส่งความคืบหน้า และประเด็นที่ยังไม่สามารถปฏิบัติตามที่ระบุใน Roadmap เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะทำงานระดับสูง และที่ประชุมอย่างไม่เป็นทางการของรัฐมนตรีเศรษฐกิจในเดือนเมษายน และเดือนพฤษภาคม ตามลำดับ โดยในส่วนของประเทศไทยนั้นได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประสานงานในสาขาการท่องเที่ยวและการบิน สำหรับประเด็นเรื่องการค้าสินค้า นั้นจะให้ความสำคัญแก่การดำเนินการเพื่อให้การลดภาษีตามข้อตกลง CEPT เป็นไปตามกำหนดเวลาเป้าหมายซึ่งกำหนดใน AEC Blueprint ขณะที่การเจรจาร่างความตกลงการค้าสินค้าอาเซียนคาดว่าจะแล้วเสร็จและให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจลงนามได้ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ AEM ครั้งที่ 40 ในเดือนสิงหาคมนี้ ที่ประเทศสิงคโปร์ ส่วนการค้าบริการนั้นที่ประชุมผลักดันให้ประเทศสมาชิกประกอบด้วย บรูไน อินโดนีเซีย พม่า ลาว และฟิลิปปินส์ ซึ่งยังไม่สามารถยื่นข้อผูกพันการเปิดตลาดบริการชุดที่ 6 ได้ให้ดำเนินการยื่นให้แล้วเสร็จ
นายนพดลกล่าวเพิ่มเติมถึงการประชุมหารือระหว่าง SEOM กับประเทศคู่เจรจาว่า “การลงนาม AJCEP (ASEAN Japan Comprehensive Economic Partnership Agreement) เพื่อให้ญี่ปุ่นสามารถนำเข้าสภาในปีนี้ และให้มีผลบังคับใช้ได้โดยเร็ว ได้ตกลงว่าจะเป็นการลงนามในระดับรัฐมนตรี ในลักษณะ ad referendum คือญี่ปุ่นจะลงนามก่อน และถือเวียนไปให้อาเซียนต่างๆลงนามในช่วง 25 มีนาคม — 10 เมษายน ศกนี้ สำหรับประเทศไทยญี่ปุ่นกำหนดจะเดินทางมาในช่วง 9-10 เมษายนศกนี้ ส่วนการลงนาม อาเซียน-เกาหลี ที่ประชุมพิจารณาว่าการลงนามพิธีสารการเข้าร่วมความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้า และการค้าบริการของไทยอาจลงนามได้อย่างเร็วที่สุดคือ ช่วงการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (AEM Retreat) ในเดือนพฤษภาคมนี้ หรืออย่างช้าคือช่วงการประชุม AEM ในเดือนสิงหาคม ศกนี้ ที่ประเทศสิงคโปร์ และอาเซียน — สหรัฐอเมริกา ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้มีการจัดประชุม TIFA Council และ Private Sector Roundtable ในช่วงการประชุม AEM ครั้งที่ 40 ที่ประเทศสิงคโปร์ โดย Private Sector Roundtable ควรเป็นการหารือเฉพาะในภาคธุรกิจ นอกจากนี้ไทยได้เสนอโครงการ ASEAN-US TIFA Project on ASEAN Textile Testing Laboratory ซึ่งฝ่ายอาเซียนเห็นชอบด้วย และฝ่ายสหรัฐ ฯ รับทราบโครงการ และจะขอนำไปศึกษาก่อน”
นายนพดลกล่าวเกี่ยวกับอาเซียน-อินเดียว่า หลังจากการหารืออาเซียนและอินเดียตกลงยุติการเจรจา เนื่องจากไม่สามารถตกลงการลดภาษีกันได้ โดยอินเดียไม่ยอมรับข้อเสนอครั้งสุดท้ายของอาเซียนในการเจรจาลดภาษี และยังระบุให้ไทยและอินโดนีเซียเพิ่มการเปิดตลาดอินเดียให้มากขึ้น ซึ่งไทยได้ชี้แจงว่า ไทยไม่ได้ประโยชน์ที่แท้จริงจากการเปิดตลาดของอินเดีย เนื่องจากติดปัญหาเรื่องกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า ไทยจึงได้ขอให้ตกลงหลักเกณฑ์ที่เอื้ออำนวยต่อการค้าก่อนลงนามความตกลงการค้าสินค้า นอกจากนี้ ไทยได้ชี้แจงให้อาเซียนอื่นเข้าใจว่าไทยสนับสนุนให้การเจรจาการค้าเสรีอาเซียน-อินเดียบรรลุผลสำเร็จ และมีท่าทีประนีประนอมมาโดยตลอด