บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)หรือ ซีพีเอฟ มุ่งมั่นร่วมสร้างระบบอาหารยั่งยืน จับมือภาคีเครือข่ายและรวมพลังพนักงานทั่วประเทศ เปิดตัว โครงการ"CPF Restore the Ocean" ร่วมกันลดปริมาณขยะ ที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศในท้องทะเล และนำขยะมาจัดการอย่างถูกวิธีตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) หนุนกลยุทธ์ CPF Sustainability in Action 2030 ยั่งยืนได้ด้วยมือเรา
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ เป็นประธาน เปิดตัวโครงการ "CPF Restore the Ocean" โดยมีผู้บริหารระดับสูงซีพีเอฟ อาทิ น.สพ.สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฎิบัติการธุรกิจสัตว์น้ำ นางสาวพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล เครือซีพี และซีพีเอฟ ผู้แทน CP เวียดนาม พนักงาน และผู้แทนเครือข่ายพันธมิตรบริษัทเอกชน ให้เกียรติร่วมในพิธี ณ ซีพี ทาวเวอร์ สีลม
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯ มุ่งมั่นมีส่วนร่วมสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน ผลิตอาหารคุณภาพ ปลอดภัย อร่อย และ มีคุณค่าทางโภชนาการ รองรับความต้องการประชากรทั่วโลก ในขณะเดียวกัน เราให้ความสำคัญกับเรื่องของ ESG (Environmental Social Governance) ดูแลสิ่งแวดล้อม และสังคม ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาทิ ระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งโครงการ CPF Restore the Ocean เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายดังกล่าว โดยสร้างความตระหนักสู่พนักงานของซีพีเอฟทั่วประเทศร่วมลดขยะและรวมพลังจิตอาสาเก็บขยะทะเล และบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธีตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตามแนวทางทศวรรษแห่งการลงมือทำ CPF Sustainability in Action 2030 สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs)
ซีพีเอฟ ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยเป็นสมาชิกในกลุ่มความร่วมมือ Seafood Business for Ocean Stewardship หรือ SeaBOS สู่เป้าหมายการอนุรักษ์ระบบนิเวศและการผลิตอาหารทะเลคุณภาพด้วยความรับผิดชอบอย่างยั่งยืน ซี่งในปี 2564 ได้ร่วมแสดงความมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานขับเคลื่อนตามเป้าหมายของ SeaBOS ในการขับเคลื่อนห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเลและการประมงที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง
สำหรับโครงการ CPF Restore the Ocean เป็นการสร้างความร่วมมือและลงมือทำ โดยสร้างความตระหนักสู่พนักงานในองค์กร เพื่อรักษาระบบนิเวศทางทะเล ด้วยการลดปริมาณขยะและเก็บขยะ สู่การนำมาจัดการอย่างถูกวิธี ตามแนวทาง Ocean Conservancy ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ประกอบด้วย "กิจกรรมกับดักขยะทะเล" เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนบริเวณปากแม่น้ำลำคลอง เก็บและคัดแยกขยะ โดยนำขยะที่ได้สู่การแปรรูปขยะทะเลเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน อาทิ กระถางต้นไม้ รวมทั้งผลักดันในการก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนเพื่อนำสร้างองค์ความรู้พัฒนาต่อยอดในชุมชน และป่าชายเลนริมฝั่งทะเล "กิจกรรมขยะชายหาด" เก็บขยะที่เกยตื้นบริเวณชายหาด รอบๆสถานประกอบการของซีพีเอฟ สู่การพัฒนาต่อยอดเป็น อิฐมวลเบาจากที่พัฒนาจากแหอวนพลาสติก กระถางต้นไม้จากขยะโฟม พร้อมทั้งสร้างศูนย์การเรียนรู้ด้านขยะทะเลในชุมชน
"กิจกรรมขยะคืนฝั่ง" ซึ่งซีพีเอฟได้ต่อยอดจากโครงการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายซึ่งนำโดยกรมประมง ดำเนินงานส่งเสริมเรือประมง โดยชาวประมงเก็บขยะที่ลอยในทะเลกลับสู่ฝั่งและท่าเรือ สู่กระบวนการรีไซเคิล โดยนำขยะขวดพลาสติกมาผลิตเป็นเสื้อโปโลอัพไซคลิ่ง โดยผสานความร่วมมือกับ GC มอบให้พนักงานในธุรกิจสัตว์น้ำของซีพีเอฟ สร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาขยะทะเล และร่วมดูแลและฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลอย่างยั่งยืน เป็นเสื้อสีโทนน้ำทะเล เพื่อสื่อถึงวัสดุต้นทางของเสื้อที่แปลงจากขวดพลาสติกที่เก็บจากทะเล
"กิจกรรมขยะดีมีค่า" โดยศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลา (FLEC) ซึ่งเป็นศูนย์ฯที่มีซีพีเอฟร่วมกับ 6 ภาคีเครือข่ายตั้งขึ้น เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตแรงงานประมงข้ามชาติและครอบครัว และในการดำเนินงานของศูนย์ฯระยะที่สอง (ปี 2564-2568)มีการดำเนินการในรูปแบบของธนาคารขยะ ในกิจกรรม"ขยะดี มีค่า" สู่การสร้างรายได้และบรรเทาภาระค่าครองชีพของครอบครัวแรงงานประมง จากการเข้าร่วมกิจกรรม พร้อมกันนี้ ซีพีเอฟ ร่วมกับบริษัท จีอีพีพี สะอาดจำกัด หรือ GEPP ในการพัฒนาแพลตฟอร์มการเก็บข้อมูลการเก็บกลับขยะสู่การนำมาใช้ประโยชน์ใหม่ ครอบคลุม 32 แห่ง ทั่วประเทศ ทั้งอ่าวไทยและอันดามัน โดยในช่วงเริ่มต้นสามารถเก็บขยะได้ 8.9 ตัน และในส่วนนี้สามารถนำขยะที่ได้สู่การใช้ประโยชน์ใหม่ 2.6 ตัน เพื่อร่วมฟื้นฟูทรัพยากรและระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งเป็นต้นทางสำคัญของการสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน./