นายธีรเศรษฐ์ พรหมพงษ์ นักกลยุทธ์เศรษฐศาสตร์มหภาค บมจ.หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) สรุปสาระสำคัญจากงานสัมมนาระดับชาติ INVEST ASEAN 2022 ESG Conversations | Sustainable Finance : The Big Shift is Visible (รูปแบบสัมมนาออนไลน์) ในธีม การลงทุนที่ยั่งยืน กับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลกด้าน ESG โดยมีสาระสำคัญดังนี้
- การเปลี่ยนผ่านในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาทั่วโลกตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่โลกเผชิญวิกฤต Covid-19 (มีการล็อคดาวน์กิจกรรมทางเศรษฐกิจ การเดินทาง ส่งผลให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์) อย่างไรก็ตามแม้ว่าทั่วโลกจะเล็งเห็นถึงความสำคัญ และเริ่มปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจไปสู่เป้าหมาย Net Zero แล้วในระดับหนึ่ง แต่คำถามที่ตามมาก็คือ การเปลี่ยนผ่าน (Transition) ทำได้เร็วอย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่
- การสนับสนุนของภาครัฐ สืบเนื่องจากผลกระทบ Covid-19 ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลก จึงเห็นได้ชัดว่ารัฐบาลของแต่ละประเทศให้ความสำคัญในการใช้มาตรการทางการคลังในการแก้ปัญหาดังกล่าวซึ่งมีความเร่งด่วนมากกว่า อย่างไรก็ตามแนวโน้มในช่วงถัดไปการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทั้งการสร้างวัฒนธรรมด้าน ESG ในองค์กรของบริษัทจดทะเบียน และแรงผลักดันจากผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้การเดินหน้าสู่เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
- ความท้าทาย แนวโน้มการใช้เครื่องมือทางการเงิน การระดมทุน ที่เกี่ยวข้องกับ ESG มีมากขึ้นเรื่อยๆ จากแรงขับเคลื่อนทั้ง Demand และ Supply แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีความท้าทายในหลายประเด็น ประกอบด้วย
1) ความสมดุลระหว่างต้นทุนสำหรับการเปลี่ยนผ่าน (Transition Cost) ซึ่งเป็นต้นทุนส่วนเพิ่มที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจปกติ (อาทิ ต้องการปฏิบัติให้ได้ตามมาตรฐานสากล การขอความเห็นจากหน่วยงานอิสระ การเผยแพร่ข้อมูล) และผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ ในมุมมองของผู้ประกอบธุรกิจ
2) การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้ออำนวยต่อการเปลี่ยนผ่าน โดยหน่วยงานภาครัฐฯ ผู้กำกับนโยบาย ตัวกลาง (หนึ่งในวิธีที่สามารถทำได้ในช่วงนี้ คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจที่พ่วงด้วยการสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมไปในตัว สร้างต้นแบบที่ในบริษัทที่มีขนาดใหญ่และเป็นผู้นำของอุตสาหกรรม)
3) สร้างความเข้าใจที่เป็นมาตรฐานเดียวกันของทุกส่วนในสังคม
4) ส่งเสริมให้ธุรกิจขนาดกลาง-เล็ก (ซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย) ให้เปลี่ยนผ่านสู่การดำเนินธุรกิจแบบ ESG ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านอาจต้องใช้เวลา เนื่องจากต้นทุนถือว่าค่อนข้างสูงสำหรับธุรกิจขนาดกลาง-เล็ก อาจต้องอาศัยมาตรการส่งเสริมจากภาครัฐ (เช่น การให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำผ่านสถาบันการเงินของรัฐฯ สำหรับธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม)
5) ตัวกลางในตลาดทุน จำเป็นที่จะต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย การเปิดเผยข้อมูลที่มีความชัดเจน แนวทางการจัดทำรายงานด้านความยั่งยืนที่เหมาะสม และตอบสนองความต้องการของนักลงทุน
โดยสรุป แม้ว่าในระยะสั้นอาจมีปัจจัยภายนอกที่เข้ามาส่งผลกระทบอยู่บ้าง เช่น วิกฤตพลังงานที่ทำให้ทั่วโลกต้องหันกลับไปพึ่งพลังงานจากฟอสซิล หรือ การใช้เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจที่มุ่งแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมหลังเกิด Covid-19 แต่จะเห็นว่าการเปลี่ยนผ่านสู่การดำเนินธุรกิจที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็น Journey ระยะยาวของทุกคนในสังคมที่ต้องร่วมมือกัน และไม่เพียงแต่จะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน แต่ต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการในระหว่างทางด้วยเช่นเดียวกัน
สำหรับทิศทางการลงทุนไทยภายใต้ ESG ในปัจจุบันการลงทุนที่มุ่งเน้นด้านความยั่งยืน ในมิติของตลาดทุนไทย ถือว่าอยู่ในจุดที่ได้รับความสนใจและให้ความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะจากนักลงทุนสถาบันที่เริ่มมีนโยบายเพื่อใช้คัดเลือกหลักทรัพย์ในการลงทุน ซึ่งเป็นแรงผลักดันจากภายนอกที่สำคัญ ส่งผลให้บริษัทต่างๆหันมามุ่งเน้นการพัฒนากลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่เน้นความยั่งยืนและมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนมากขึ้น เช่นเดียวกับในประเทศไทยที่นอกเหนือจากจะมีแรงขับเคลื่อนจากทั้งด้าน Demand (นักลงทุน) และด้าน Supply (การให้ความร่วมมือจากบริษัทจดทะเบียน) หน่วยงานภาครัฐและตัวกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ยังให้การสนับสนุนทั้งในด้านการให้ความรู้ ความเข้าใจที่เป็นมาตรการฐานเดียวกัน รวมทั้งมีการประเมินและคัดเลือกบริษัทที่ดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืน สะท้อนทิศทางที่ดีของประเทศไทยในด้าน ESG
อย่างไรก็ตามหากพิจารณาถึงโครงสร้างของประเทศไทย ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (MSME) มีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 34.6% ของ GDP ณ สิ้นปี 2564 (แบ่งเป็น Micro 2.58%, Small 14.47%, Medium 17.58%) ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงและเป็นตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อการนำไปสู่เศรษฐกิจแบบเน้นความยั่งยืน แต่ในทางกลับ MSME ที่อยู่ในช่วงเริ่มฟื้นตัวหลังจากโดนผลกระทบจาก Covid-19 อย่างหนัก ให้ความสำคัญกับการอยู่รอดทางธรุกิจมากกว่าการต้องมีค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มด้าน ESG ถึงแม้ว่าภาคธุรกิจเองจะเห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับต่อธุรกิจในระยะยาวก็ตาม ความท้าทายดังกล่าวจึงเป็นโจทย์ที่สำคัญของภาครัฐที่ต้องมีแนวทางในทางปฏิบัติที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม (ปัจจุบันประเทศไทยวางเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 - 2580) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมุ่งเน้นการฟื้นตัวของ MSME ไปพร้อมกับสร้างวัฒนธรรมด้านความยั่งยืน
เกี่ยวกับ Invest ASEAN
"ASEAN : Framing A Future" โดย Maybank มีการอภิปรายโดยผู้เชี่ยวชาญชั้นนำเกี่ยวกับโอกาสและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากปัญหาเร่งด่วนที่สุดในปัจจุบันที่ส่งผลกระทบต่อภูมิภาค: แนวโน้มเศรษฐกิจและภูมิศาสตร์การเมืองทั่วโลก ธุรกิจตัวอย่างที่มุ่งเน้น ESG และความหลากหลาย ความเท่าเทียมและการบูรณาการ การซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลของสถาบัน และ การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในด้านการธนาคาร รวมถึงประเด็น Street Beats ในหัวข้อที่น่าสนใจสำหรับแต่ละตลาดในกลุ่มอาเซียน 6 ประเทศ
เกี่ยวกับกลุ่มธนาคารเพื่อการลงทุนเมย์แบงก์ (เมย์แบงก์ ไอบีจี)
Maybank Investment Banking Group (เดิมชื่อ Maybank Kim Eng Group) เป็นธนาคารเพื่อการลงทุนชั้นนำของอาเซียนที่มีความเชี่ยวชาญในด้านวาณิชธนกิจและบริการให้คำปรึกษา นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์รายย่อยและสถาบัน การวิจัย อนุพันธ์และนายหน้าชั้นนำ โดยกลุ่มบริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นขุมพลังในการขับเคลื่อยเพื่อความเจริญรุ่งเรืองที่เท่าเทียมกันผ่านบริการ Humanising Financial Services และตั้งเป้าที่จะเป็นธนาคารเพื่อการลงทุนที่ยั่งยืนอันดับหนึ่งในอาเซียน