กรุงเทพฯ--27 มี.ค.--สยามซีเคียว คอนซัลติ้ง
สยามซีเคียวร์ คอนซัลติ้ง สบโอกาสกับการผลักดัน พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับ คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 พร้อมเปิดตัวการให้บริการด้านการให้คำปรึกษา การดำเนินการ และ พัฒนาบุคคลากรทางด้านความปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Security) อย่างครบวงจร โดยทีมผู้บริหารและทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์กว่าสิบปีในธุรกิจ IT Security ผ่านงานด้านการให้บริการมาอย่างหลากหลาย สร้างกระแสด้วยกิจกรรมการแข่งขันท้าชนแฮกเกอร์ทั่วประเทศ เพื่อเข้ามาทดสอบระบบความปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศของบริษัทฯ พร้อมการพิชิตเงินแสนใน SIAM SECURE AIR RAID 2 HACKING CHALLENG BANGKOK 2008
นาย พรทิวา จันทร์ฉวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามซีเคียว คอนซัลติ้ง จำกัด เปิดเผยว่า “บริษัท สยามซิเคียวร์ คอนซัลติ้ง ก่อตั้งโดยกลุ่มที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญทางด้านความปลอดภัย เทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งสั่งสมประสบการณ์ มาจากการทำงานร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำ มีประกาศนียบัตรรับรอง ทั้งทางด้านทฤษฎี และมาตรฐานการปฏิบัติงานทางเทคนิค การให้บริการงานด้าน IT Security อย่างครบวงจร อาทิเช่น การออกแบบและดำเนินการระบบจัดการ IT Security, การฝึกอบรมทางเทคนิค, การประเมินความเสี่ยงทาง IT Security ของธุรกิจ, ตรวจสอบและประเมินช่องโหว่ทาง IT (Vulnerability assessment) และทดสอบเจาะระบบ (Penetration test) เราเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2550 โดยเริ่มต้นจากการให้บริการ IT Security Outsource และ ศูนย์ปฏิบัติการ IT Security (Security Operation-Centre : SOC) ร่วมกับ บริษัท ผู้ให้บริการ Internet และศูนย์บริการ Data Centre รายใหญ่ของประเทศไทย ให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าตั้งแต่ระบบ SME จนถึง บริษัทขนาดใหญ่ โดยที่การให้บริการนี้เป็นไปอย่างสอดคล้องกับข้อกำหนดของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550”
“ในส่วนของกลยุทธ์การตลาดนั้น เนื่องด้วยแนวการผลักดันของ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับ คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ที่ทำให้ทั้งหน่วยงานของรัฐและเอกชน ต้องมีการสำรวจตรวจสอบ การปฎิบัติงานภายใน องค์กรว่า เป็นไปตามข้อกำหนดของ พ.ร.บ. แล้วหรือไม่ ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ดีและเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ทางบริษัทฯ จะนำเสนอการบริการที่ครบวงจรจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านความปลอดภัยในเทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งในการตรวจสอบปรับปรุงและวางแผนงานด้าน ความปลอดภัย ระบบคอมพิวเตอร์ และสารสนเทศ ที่องค์กร ต่างๆ เหล่านั้น ใช้ในการปฎิบัติงาน ทั้งยังมีความต้องการขยายไปถึงงานด้านเฝ้าระวัง ภัยคุกคามทางไอที และ จัดเก็บบันทึก รายการการใช้งาน ระบบเครือข่ายไอที ซึ่งความต้องการดังกล่าว จะยิ่งเข้มข้นมากขึ้น ตามระยะเวลาที่กำหนดตามกรอบของตัว พ.ร.บ. ซึ่งทางบริษัทฯเล็งเห็นว่าธุรกิจนี้จะมีการขยายวงกว้างมากขึ้น ตามการเปลี่ยนแปลงและวิวัฒนาการของภัยคุกคามทางไอทีที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง”
“ทางบริษัทฯ จึงวางแผนทางการตลาดในการจัดกิจกรรม งานสัมมนา หรือ การจัดอบรม เพื่อให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้รู้จักและเกิดการรับรู้ในแบรนด์ และการบริการของ บริษัท สยามซีเคียว คอนซัลติ้ง จำกัด มากขึ้น โดยกลุ่มเป้าหมายหลักๆ ได้แก่ หน่วยงาน องค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน และกลุ่มเป้าหมายนี้จะถูกกำหนดขึ้นมาจากทิศทางและแนวโน้มที่ภัยคุกคามทางไอทีได้เปลี่ยนสถานการณ์ให้เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อทุกๆ ส่วน”
“กิจกรรมแรกที่ทางบริษัทใช้สร้างกระแสในการเปิดตัวบริษัทฯ คือ การแข่งขันท้าชนแฮกเกอร์ทั่วประเทศใน SIAM SECURE AIR RAID 2 HACKING CHALLENG BANGKOK เป็นการแข่งขันแฮกเกอร์ครั้งแรกที่เปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าร่วมการแข่งขันและชมการแข่งขันได้ โดยจัดขึ้นเพื่อให้เกิดการตระหนักถึงภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้นกับองค์กรทั่วไปที่มีการใช้งานระบบสารสนเทศ และแสดงให้เห็นว่าการป้องกันระบบสารสนเทศขององค์กรเป็นสิ่งจำเป็น การป้องกันทั่วๆไปอาจจะไม่เพียงพอที่จะป้องกันภัยคุมคามจากผู้ไม่ประสงค์ดีที่ตั้งใจจะบุกรุก และยังแสดงให้เห็นว่าในขณะที่ผู้ไม่ประสงค์ดี มีการวางแผนการทำงานในการบุกรุกระบบสารสนเทศ องค์กรเจ้าของระบบ ก็จำเป็นต้องมีการวางแผน ระวังป้องกันอย่างเป็นระบบได้เช่นเดียวกัน มิฉะนั้นอาจจะเกิดความเสียหายได้”
“ขั้นตอนในการแข่งขันครั้งนี้ คือ เราได้รวบรวมแฮกเกอร์ทั่วประเทศไทยมาเป็นทีมๆ ละไม่เกิน 4 คน มาร่วมถูกทดสอบความสามารถในการตามหาเบาะแสและข้อมูล จากหลากหลายที่มา ทำการวิเคราะห์ตรวจสอบ และ เก็บมันมาครอบครองให้เร็วที่สุด ทีมที่ชนะจะมีเพียงหนึ่งเดียว ที่พยายามทุกวิถีทาง (อย่างไม่ผิดกฎหมายและทำร้ายผู้อื่น) เพื่อเป็นผู้ชนะ โดยที่รูปแบบการแข่งขันเป็นการแข่งขันเจาะระบบ (Hacking) ผ่านเครือข่ายไร้สาย กับ ระบบคอมพิวเตอร์ ที่ถูกจัดทำเฉพาะ จำลองระบบคอมพิวเตอร์ขององค์กร ที่ใช้งานได้จริงมีเครือข่ายโยงใย และมีรูปแบบโครงสร้างทางธุรกิจจริง กรรมการจะตัดสินให้คะแนนแก่ทีมผู้แข่งขันจากเวลาและความยากง่ายของอุปสรรคที่แต่ละทีมต้องฝ่าฟันเพื่อเจาะเข้าไปในระบบ ยิ่งสามารถเจาะเข้าสู่ระบบได้เร็วเท่าใดก็จะยิ่งได้คะแนนมากเท่านั้น ทีมผู้เข้าแข่งขันจะพบกับอุปสรรคที่ขวางกั้นไม่ให้สามารถเข้าสู่ระบบภายในและส่วนต่างๆ ที่เก็บข้อมูลสำคัญที่จะสามารถนำมาแลกเป็นคะแนน ผู้เข้าแข่งขันต้องสามารถคิดนอกกรอบเพื่อที่จะหาทางจัดการอุปสรรคต่างๆ มาเป็นทีมชนะเลิศให้ได้”
“รางวัลสำหรับการแข่งขัน ทีมที่สามารถทำคะแนนได้สูงสุดเมื่อหมดเวลาการแข่งขันจะได้รับรางวัลเป็นเงินสด 100,000 บาท ทีมลำดับที่ 2 จะได้รับของรางวัลมูลค่า 50,000 บาท และทีมลำดับที่ 3 จะได้รับของรางวัลมูลค่า 30,000 บาท ซึ่งทางบริษัทหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กิจกรรมนี้จะสร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการไอทีในประเทศไทย รวมถึงพัฒนาประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยในเทคโนโลยีสารสนเทศของไทยให้พัฒนาเทียบเท่าสากล ในอนาคตทางบริษัทยังคงจัดกิจกรรมทางการตลาดอย่างต่อเนื่องทุกปี ได้แก่ การแข่งขัน Hacking Event ประจำปีการจัดสัมมนา IT Security ประจำปี และการอบรม Course Training ทั้งระดับเบื้องต้น สำหรับ ผู้บริหาร ระดับขั้นกลาง สำหรับผู้ดูแล และวางแผน ระดับขั้นสูง สำหรับ ผู้ทดสอบ ระบบความปลอดภัยทาง ไอที” นาย พรทิวา กล่าวสรุปในที่สุด
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ทีมงานประชาสัมพันธ์
กรรณิกา สายพันธ์ (ส้ม) 081-269-7731 และ นวธิดา บัวโชติ (โบว์) 089-107-980