UBE โดย นางสาวสุรียส โควสุรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ที่ 4 จากขวา) ร่วมเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในงานเสวนา "วิกฤติข้าวสาลีและผลกระทบต่อประเทศไทย : โอกาสและความท้าทายของผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเพื่อทดแทนธัญพืช" ชูฟลาวมันสำปะหลังออร์แกนิค วัตถุดิบทางเลือกที่สามารถนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารหลากหลายรูปแบบ ทดแทนแป้งสาลีในช่วงที่ราคามีความผันผวน ช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุน พร้อมตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพและกลุ่มผู้แพ้กลูเตน งานเสวนาดังกล่าวร่วมด้วยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ดร. วีรวัฒน์ เลิศวนวัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามมอดิฟายด์ สตาร์ช จำกัด และ ผศ.ดร. ณัฐธิญา เบือนสันเทียะ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จัดโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เมื่อวันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม 2565 เวลา 09.00 - 12.00 น. ณ ห้องประชุมออดิทอเรียม ชั้น 7 อาคารเคเอกซ์
นางสาวสุรียส โควสุรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) หรือ UBE ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมันสำปะหลังรายใหญ่ของประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทฯ มองเห็นโอกาสจากแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องของตลาดฟลาวมันสำปะหลังในต่างประเทศ รวมถึงกระแสการตื่นตัวในการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ปลอดสารเคมีหรือสารพิษที่ก่อให้เกิดโรคต่างๆ ประกอบกับความเชี่ยวชาญในการใช้วัตถุดิบมันสำปะหลังที่บริษัทฯ มีเป็นทุนเดิม มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ฟลาวมันสำปะหลังที่มีคุณภาพ โดยให้ความสำคัญตั้งแต่ต้นน้ำ คือ วัตถุดิบที่มีคุณภาพ ด้วยการเข้าไปส่งเสริมเกษตรกรผ่านการดำเนินการแบบบูรณาการอุบลโมเดลร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อช่วยเกษตรกรลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต การปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล ปัจจุบันอุบลโมเดลได้ขยายไปสู่ "อีสานตอนล่าง 2 พลัสนวัตกรรม (จ.อุบลราชธานี จ. ยโสธร จ. อำนาจเจริญ และ จ. ศรีสะเกษ) โดยร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กรมส่งเสริมการเกษตร และ กรมวิชาการเกษตร ในการนำนวัตกรรมการผลิต อาทิ สารชีวภัณฑ์ ปัจจัยการผลิต และเครื่องจักรกล เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ และในอนาคตจะมีการสร้างเครือข่ายนวัตกรรมเกษตรเข้ามาบูรณาการเพิ่มเติม เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลัง
นอกจากนี้ UBE ยังได้นำวัตถุดิบที่แปรรูปจากมันสำปะหลังอินทรีย์ มาพัฒนาต่อยอดผ่านการดำเนินโครงการวิจัยต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตจากมันสำปะหลัง อาทิ โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตฟลาวมันสำปะหลังออร์แกนิค (Organic Cassava Flour) ร่วมกับ สวทช. เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ ซึ่งหน่วยงานวิจัยและพัฒนาของบริษัทฯ จะนำฟลาวมันสำปะหลังดังกล่าว มาพัฒนาต่อยอดเป็นเบเกอรี่สูตรต่างๆ และโครงการวิจัยนำฟลาวจากมันสำปะหลังไปประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น เนื้อสัตว์อาหารแช่แข็ง อาหารเด็ก และขนมขบเคี้ยว กับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
"บริษัท อุบลซันฟลาวเวอร์ จำกัด (UBS) บริษัทในเครือ UBE ถือเป็นผู้ผลิตแป้งมันสำปะหลังออร์แกนิครายใหญ่ของโลก และผู้ผลิตฟลาวมันสำปะหลังออร์แกนิครายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย UBS จะยังคงพัฒนาเรื่องแป้งๆ จากมันสำปะหลังของเกษตรกร ให้เป็นคาร์โบไฮเดรตแห่งอนาคต ที่ตอบโจทย์ลูกค้าทั้ง B2B / B2C ในการนำไปเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้หลากหลายมากขึ้น สามารถเพิ่มมูลค่าให้เป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่ปราศจากสารกลูเตน ให้กับคนรักสุขภาพ อีกทั้งจากข้อจำกัดการนำเข้าสินค้าที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ต้องใช้วัตถุดิบนำเข้าได้รับผลกระทบ ฟลาวมันสำปะหลังจึงเข้ามามีบทบาทที่สามารถทดแทนเป็นส่วนผสมของเบเกอรี่ หรืออาหารที่ต้องการใช้คุณสมบัติของแป้งที่มีความเหนียว ขึ้นรูป ฯลฯ และเพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น UBS ได้ลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพและขยายกำลังการผลิตฟลาว ไลน์ 2 จากเดิม 100 ตัน เป็น 300 ตันต่อวัน หรือ 90,000 ตันต่อปี เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศมากยิ่งขึ้น" นางสาวสุรียส กล่าว
นอกเหนือจากการมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ กลุ่มบริษัท UBE ยังให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจในการบริหารความยั่งยืนตามแนวทาง BCG Model และการสร้างคุณค่าร่วมให้เกิดขึ้นทั้งในด้านเศรษฐกิจ (Profit) สังคม (People) และ สิ่งแวดล้อม (Planet) ซึ่งเป็นแนวนโยบายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทฯ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในทุกมิติ โดยใช้เทคโนโลยีกระบวนการผลิตแบบชีวภาพ มีการหมุนเวียนพลังงานจากของเหลือใช้มาทดแทนการใช้พลังงานจากภายนอก และมีความมุ่งมั่นในการประหยัดพลังงาน โดยมุ่งเป้าในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงมีการบริหารจัดการองค์กรภายใต้หลักบรรษัทภิบาล และการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กรตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้การพัฒนาองค์กรดำรงควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม และสิ่งแวดล้อมต่อไป