สหภาพยุโรป สถานเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย กรุงเทพมหานคร เทศบาลนครเชียงใหม่ และเครือข่ายกติกาสัญญามิลานว่าด้วยนโยบายอาหารในเมือง (Milan Urban Food Policy Pact - MUFPP) กำลังดำเนินความสัมพันธ์ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างเมืองและภูมิภาคนานาชาติ (International Urban and Regional Cooperation - IURC) ของสหภาพยุโรป ซึ่งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเมืองในระดับรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนและการสร้างนวัตกรรมในยุโรปและเอเชีย โดยภายใต้โครงการดังกล่าว เจ้าหน้าที่จากเมืองมิลานและจากเลขาธิการเครือข่ายกติกาสัญญามิลานว่าด้วยนโยบายอาหารในเมือง ได้เดินทางมาเยือนกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ในช่วงวันที่ 8-11 สิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อสานต่อความร่วมมือให้มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น
"IURC เป็นโครงการที่มีความสำคัญในด้านการพัฒนาเมืองและการดำเนินนโยบายการต่างประเทศของสหภาพยุโรป" ฯพณฯ เดวิด ดาลี เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยกล่าว "โครงการนี้ทำงานร่วมกับเมืองในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน การปรับเปลี่ยนระบบอาหารให้มีความยั่งยืนจะช่วยสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสุขอนามัย สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาเมือง ยุทธศาสตร์ Farm to Fork ของสหภาพยุโรปมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน เป็นเรื่องน่ายินดีที่เมืองในประเทศไทยสนใจที่จะมีความร่วมมือด้านนโยบายอาหารภายใต้โครงการ IURC"
สถานเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทยได้ช่วยผลักดันให้กรุงเทพมหานครลงนามเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ MUFPP เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรป ประเทศอิตาลี และประเทศไทย ผ่านความร่วมมือในโครงการ IURC สะท้อนให้เห็นถึงสปิริตของ "ทีมยุโรป" ที่ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกในการบรรลุเป้าหมายที่ส่งผลกระทบเชิงบวก ซึ่งในกรณีนี้ การร่วมเป็นพันธมิตรกับเมืองในประเทศไทยจะส่งผลให้ระบบอาหารและการเข้าถึงอาหารมีประสิทธิภาพและยั่งยืนยิ่งขึ้น ทั้งยังมีส่วนช่วยความพยายามของรัฐบาลและผู้คนทั่วโลกในการรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
"Milan Urban Food Policy Pact เป็นผลงานที่เกิดจากนิทรรศการโลก Milan Expo 2015 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับ "การเลี้ยงดูโลก และการสร้างพลังงานเพื่อชีวิต" กติกาสัญญามิลานนี้เป็นพิธีสารสากลฉบับแรกที่ให้เมืองแสดงคำมั่นในการพัฒนาระบบอาหารให้มีความยั่งยืน" ฯพณฯ โลเรนโซ กาลันตี เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย กล่าว "ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เมืองสมาชิกของกติกาสัญญาได้นำเสนอแนวคิดใหม่ๆ ในการสร้างอาหารที่ดีมีคุณภาพและสามารถเข้าถึงได้โดยคนทุกคน ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ และจัดการขยะอาหารอย่างเหมาะสม ผมดีใจที่ MUFPP ได้เข้ามาสร้างสายสัมพันธ์กับเมืองในประเทศไทยเพราะวัฒนธรรมอาหารมีความสำคัญอย่างมากต่อประเทศไทยและประเทศอิตาลี"
"มิลานมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้จับคู่กับกรุงเทพมหานครภายใต้โครงการ IURC" นางอันนา สกาวุซโซ รองนายกเทศมนตรีเมืองมิลานที่รับผิดชอบด้านนโยบายอาหาร กล่าว "กรุงเทพฯ เป็นมหานครที่มีศักยภาพในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับระบบอาหารและคุณภาพชีวิตของผู้คนในกรุงเทพฯ รวมถึงเมืองอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกับกรุงเทพฯ ผ่านการผลิต จัดจำหน่าย และบริโภคอาหาร เราต้องขอขอบคุณสหภาพยุโรปที่ให้การสนับสนุนความร่วมมือครั้งนี้กับกรุงเทพฯ และช่วยริเริ่มความสัมพันธ์ระหว่างมิลานและเชียงใหม่ เราหวังว่าสมาชิกใหม่ของ MUFPP ทั้งสองเมืองจะช่วยสร้างความตระหนักรู้ด้านนโยบายอาหารให้กับเมืองอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก"
อาหารเป็นประเด็นสำคัญสำหรับกรุงเทพมหานครมาช้านานเนื่องจากในจำนวน 50 เขตของกรุงเทพฯ มีพื้นที่การเกษตรอยู่ใน 26 เขตด้วยกัน กิจกรรมด้านการเกษตรของกรุงเทพฯ มีทั้งการปลูกข้าว ทำไร่ ปลูกผักผลไม้ เลี้ยงปลา และปศุสัตว์ นอกจากนี้ ขยะจากอาหารยังเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่มีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไข
"ท่านผู้ว่าชัชชาติและทีมงานของท่านได้ร่วมกันสร้างนโยบายพัฒนากรุงเทพฯ 214 ข้อ โดยมีอย่างน้อย 10 ข้อที่เกี่ยวข้องกับอาหาร" นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าว "นโยบายเหล่านี้เป็นเรื่องความมั่นคงทางอาหาร คุณค่าทางโภชนาการ และที่สำคัญขยะที่เกิดจากอาหาร ความร่วมมือระหว่างกรุงเทพฯ กับมิลานและสหภาพยุโรปภายใต้โครงการ IURC และความร่วมมือกับสถานทูตอิตาลี จะมีส่วนช่วยให้ระบบอาหารของกรุงเทพฯ มีความยั่งยืน ยืดหยุ่น และตอบสนองความต้องการของทุกคนให้ดียิ่งขึ้น พวกเราพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีกับเมืองในเครือข่ายของ IURC และ MUFPP"
เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เชียงใหม่ได้เป็นเมืองที่สองในประเทศไทยที่เข้าร่วมเป็นสมาชิก MUFPP ถึงแม้ว่าภายใต้โครงการ IURC เทศบาลนครเชียงใหม่จะมีความร่วมมือหลักกับเมืองกรานาดา ประเทศสเปน ในหัวข้อเมืองอัจฉริยะ แต่ว่าเทศบาลฯ ก็มีความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืนในหลายๆ ด้าน
"ผมได้เห็นว่า MUFPP ได้มีส่วนช่วยให้เมืองต่างๆ พัฒนาระบบอาหารของตนให้มีความยั่งยืนยิ่งขึ้น" นายอัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ กล่าว "เชียงใหม่เองอยากที่จะพัฒนาระบบอาหารและคุณภาพชีวิตของคนในเมืองให้ดียิ่งขึ้นด้วย รวมทั้งสร้างประสบการณ์ที่ดีสำหรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศที่มาเยือนเชียงใหม่ การทำเกษตรในเมืองเป็นโครงการหนึ่งที่เรากำลังดำเนินงานอยู่ และคิดว่าน่าจะมีความรู้ในด้านนี้ไปแบ่งปันกับเมืองในเครือข่ายของ IURC และ MUFPP"
การมาเยือนไทยเป็นระยะ 4 วันนี้จะช่วยให้เจ้าหน้าที่จากมิลานมีความเข้านโยบายด้านอาหารของกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ดียิ่งขึ้น และจะนำไปสู่การพัฒนาและดำเนินโครงการนำร่องในอนาคตเพื่อความยั่งยืนของระบบอาหารของทั้งสองเมือง สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรมนี้ โปรดดูกำหนดการการมาเยือนที่แนบมาด้วย และสามารถโหลดรูปภาพและคำบรรยายรูปได้ที่นี่ https://cloud.iurc.eu/index.php/s/9HzHGW7F7KDKY4J