กรุงเทพฯ--28 มี.ค.--นีโอ ทาร์เก็ต
บทความ “สมเด็จฯ ชาวสวน คู่พระทัยพระปกเกล้าฯ”
รศ. ม.ร.ว.พฤทธสาณ ชุมพล กรรมการพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อกล่าวถึงสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ผู้คนส่วนใหญ่คงจะระลึกถึงพระสิริโฉมและพระราชจริยวัตรอันงดงาม ผู้ที่มีความทรงจำมากกว่านั้น อาจนึกถึงผลิตภัณฑ์เสื่อจันทบูร เช่น เสื่อรองจานรองแก้ว กล่องบรรจุกระดาษเช็ดหน้า และกระเป๋าถือสตรี ซึ่งทรงพัฒนาต่อยอดขึ้นจากเสื่อรองนั่งที่ชาวบ้านจันทบุรีทออยู่แล้ว จนเป็นที่นิยมใช้กันทั่วไป แสดงว่าผู้คนในปัจจุบันทราบพระราชประวัติอยู่บ้าง
หากถามต่อไปว่า สมเด็จพระอัครมเหสีพระองค์เดียวในรัชกาลที่ 7 พระองค์นี้กับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดอะไรเหมือนกัน หลายท่านคงจะตอบได้ถูกต้องว่า โปรดการทรงกีฬา เช่น กอล์ฟ และเทนนิส ร่วมกัน เพราะมีพระรูปเป็นประจักษ์พยานอยู่ไม่น้อย แต่หากถามต่อว่า มีอย่างอื่นอีกหรือไม่ คงจะมีผู้ตอบได้น้อยคน
อันที่จริงคำถามนี้เป็นคำถามธรรมดา ๆ ที่เราอาจตั้งเกี่ยวกับคู่สามีภรรยาทั่วไป แต่เราไม่ค่อยถามเกี่ยวกับเจ้านายชั้นผู้ใหญ่
จึงน่าสนใจว่าพิพธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งจัดอยู่ในประเภท “พิพิธภัณฑ์บุคคลสำคัญ” ตอบคำถามทำนองนี้หรือไม่
บังเอิญพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ซึ่งตั้งอยู่ที่ปลายถนนหลานหลวง เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เพิ่งเปิดจัดแสดงนิทรรศการถาวร “สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7” ขึ้นที่ชั้น 1 เพิ่มเติมขึ้นจากนิทรรศการถาวรพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งจัดแสดงที่ชั้น 2 และ 3 มานานแล้ว จึงน่าสนใจไปดูว่าช่วยเราตอบคำถามนี้หรือไม่เพียงใด
เมื่อไปดูมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้เขียนตื่นตาตื่นใจเป็นพิเศษกับโซน “ฉากชีวิตที่แปรเปลี่ยน” ซึ่งมีแปลงดอกไม้ฝรั่งหลากพันธุ์ หลากสี เสมือนขึ้นอยู่อย่างล้อเลียนธรรมชาติแบบสวนบ้านส่วนบุคคลทั่วไปในอังกฤษ มีภาพป่าละเมาะเป็นฉากหลัง ซึ่งทำให้ผู้ชมจินตนาการได้ว่ากำลังเดินอยู่อย่างเพลิดเพลินในชนบทของประเทศอังกฤษ บนฉากมีแผ่นข้อมูลและรูปภาพเกี่ยวกับพระตำหนักที่ประทับของทั้งสองพระองค์ที่นั่น 4 พระตำหนัก สังเกตได้ว่ามีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ ตามระยะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงห่างจากพระราชบัลลังก์ เมื่อทรงสละราชสมบัติแล้วในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2477 นับว่าช่วยให้เราได้ทราบว่า ทั้งสองพระองค์ทรงดำรงพระชนมชีพอยู่อย่างที่เป็นธรรมดาสามัญมากขึ้นเรื่อย ๆ กับ “ครอบครัว” ของพระองค์ ซึ่งก็คือข้าราชบริพารที่ใกล้ชิดจำนวนน้อย
โซนนี้เองกระตุ้นให้ผู้เขียนคิดคำนึงได้ว่า สิ่งที่ทั้งสองพระองค์โปรดเหมือนกัน คือ การทำสวน
แต่จะเป็นเช่นนี้มาตั้งแต่ต้นหรือไม่ จะต้องนำข้อมูลจากโซนอื่น ๆ ของนิทรรศการมาร้อยเรียงกัน ทั้งคงต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมเองด้วย ซึ่งอันที่จริงก็สามารถหาได้ในระดับหนึ่งจากศูนย์ข้อมูลและจดหมายเหตุพระปกเกล้าศึกษาซึ่งพิพิธภัณฑ์ฯจัดให้บริการไว้ที่ชั้น 1 ของอาคารรำไพพรรณี ด้านหลังอาคารอนุรักษ์ สถานที่จัดแสดงนิทรรศการนั่นเอง
ดูเหมือนว่าผู้จัดทำนิทรรศการจะท้าให้ผู้ชมทำเช่นนี้ ผู้เขียนจึงรับคำท้า
วันนี้ แสนสุดยินดี พระจันทร์วันเพ็ญ
ขอเชิญสายใจ เจ้าไปนั่งเล่น ลมพัดเย็นเย็น หอมกลิ่นมาลี
หอมดอกราตรี แม้ไม่สดสี หอมดีน่าดม
เหมือนงามน้ำใจ แม้ไม่ขำคม กิริยาน่าชม สมใจจริงเอย...
ท่อนแรกของบทร้องเพลงราตรีประดับดาว เถา พระราชนิพนธ์เพลงไทยเดิมเพลงแรกในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าไว้เช่นนี้ ความในบทร้องแบบ “ชมธรรมชาติไปพลาง ชมนางไปด้วย” ชวนให้สันนิษฐานกันในภายหลังว่า ทรงแต่งเพลงทำนองไพเราะนี้ขึ้นด้วยพระราชหฤทัยผูกพันในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เพราะบรรยายถึงพระราชจริยวัตรของสมเด็จฯ พระองค์นั้นอย่างเหมาะเจาะยิ่ง
ที่เดากันเช่นนี้ จะถูกต้องหรือไม่ก็ตาม แต่เป็นที่ทราบกันว่า เมื่อทรงอภิเษกสมรสใน พ.ศ. 2461 และเสด็จฯ เข้าประทับ ณ วังศุโขทัย “เรือนหอ” หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี พระชายาในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา โปรดที่จะเสด็จลงที่สวนทรงปลูกต้นไม้ดอกไม้ต่าง ๆ ในบริเวณวัง และทรงเก็บมาแต่งพระตำหนักที่ประทับ และเมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ เสด็จฯ กลับมาจากการทรงงานในหน้าที่ราชการทหาร ก็จะทรงกีฬา เช่น เทนนิส ร่วมกัน
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ มีพระราชหัตถเลขาเมื่อ พ.ศ. 2467 ทรงเล่าพระราชทานผู้ใกล้ชิดว่า “สนามหญ้าที่หน้าเรือนเวลานี้กำลังงามมาก เขาว่าเป็นดีที่สุดในกรุงเทพในเวลานี้ ใครมาก็ชมทั้งนั้นว่า มีสนามงามจริง” ข้อมูลสองประการนี้ชวนให้เชื่อมากขึ้นว่าทั้งสองพระองค์สนพระราชหฤทัยในการทำสวน ซึ่งในชั้นนี้ คือ สวนในบ้านมีดอกไม้ประดับ
น่าสังเกตต่อไปว่า เมื่อทรงขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. 2468 แล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างพระตำหนักพระราชทานสมเด็จพระอัครมเหสี ที่ชายฝั่งทะเลหัวหิน และพระราชทานนามสถานที่แห่งนั้นว่า “สวนไกลกังวล” ทั้งยังได้ทรงฉายพระฉายาลักษณ์สมเด็จฯ ไว้หลายองค์ ซึ่งบ่อยครั้งมีดอกไม้และสวนเป็นฉาก ตัวอย่างเช่น องค์ที่จัดแสดงไว้เป็นสำคัญในโซน ‘ไกลแต่ไม่ไร้กังวล’ ของนิทรรศการ สมเด็จฯประทับที่พระเฉลียงหน้าพระตำหนักเปี่ยมสุข มีเถาสร้อยอินทนิลดอกสีม่วงย้อยลงมาเป็นฉากหลัง
เมื่อสืบเสาะสอบถามต่อไป ก็มีผู้เล่าว่า เคยเห็นเอกสารที่แสดงว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยมีพระราชดำริจะทรงเลี้ยงโคนมที่สวนไกลกังวล อีกทั้งพบว่าครั้งหนึ่งทั้งสองพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่งไปทอดพระเนตรฟาร์มบางเบิดของหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ผู้ทรงปรับปรุงพันธุ์แตงโมและทรงมุ่งมั่นพัฒนาการเกษตรในสมัยนั้นและโดยต่อเนื่อง งานวิจัยของชูศรี มณีพฤกษ์ เรื่อง นโยบายเศรษฐกิจของพระองค์ ซึ่งสถาบันพระปกเกล้าจัดพิมพ์เมื่อเร็วๆนี้ยังให้ข้อมูลอีกว่าทรงสนับสนุนหม่อมเจ้าสิทธิพรในการเผยแพร่ความรู้ด้านการเกษตรด้วยการรับ กสิกร วารสารซึ่งท่านชายทรงเป็นบรรณาธิการ จำนวน 1,000 ฉบับทุกครั้ง อีกทั้งยังโปรดเกล้าฯ พระราชทานบทความในวารสารที่มีข้อเสนอต่าง ๆ ให้รัฐบาลส่งเสริมการเกษตรแก่สมาชิกคณะอภิรัฐมนตรีทุกท่านด้วยเสมอ ทั้งนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพระราชกรณียกิจที่ทรงสนับสนุนและพระราชทานกำลังใจแก่บุคคลต่าง ๆ ในเรื่องการพัฒนาการเกษตร อีกทั้งยังมีพระราชหฤทัยใส่ในการกระตุ้นการสหกรณ์ มีพระราชดำรัสไว้อย่างลึกซึ้งว่า การสหกรณ์จะช่วยให้เกิด “ความจำเริญทรัพย์และความจำเริญธรรม”
ดังนั้น คำว่า ‘สวน’ ในที่นี้จึงต้องขยายความให้หมายรวมถึงการทำไร่ ทำนา สวนผลไม้ และการเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพด้วย
ครั้นศึกษาจดหมายเหตุเสด็จพระราชดำเนินในต่างประเทศ ก็พบว่า ทั้งสองพระองค์ทรงอุทิศเวลาไม่น้อยในการทอดพระเนตรและทรงศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพรรณไม้ การทำการเกษตรและการปศุสัตว์ เช่น ที่เกาะชวา เมื่อ พ.ศ. 2472 ทรงพระสำราญมากที่สวนพฤกษ์ศาสตร์เมืองบุยเต็นซอร์ก เสด็จไปทอดพระเนตรสวนยางและการหีบยาง สวนต้นชินโคนา ซึ่งนำเปลือกมากลั่นเป็นยาควินิน ไร่ชา ฟาร์มเลี้ยงวัวนมและโรงงานนม ทุกแห่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงอรรถาธิบายไว้โดยละเอียดในพระราชหัตถเลขา ซึ่งพระราชทานมาจากที่นั่น อีกทั้ง การทำนาบนไหล่เขา และสวนกุหลาบ
เมื่อเสด็จฯเยือน 9 ประเทศในยุโรปในช่วงปลายรัชกาล (พ.ศ. 2476-77) ก็ปรากฎว่าโปรดเสด็จประพาสสวนสาธารณะและสวนไม้ดอกเช่นเคย อีกทั้งทอดพระเนตรโรงงานนมวัว เนย และเนยแข็ง และการสหกรณ์ของชาวนาที่ประเทศเดนมาร์ก เรือนกระจกสำหรับปลูกไม้เมืองร้อนที่ประเทศเบลเยี่ยม หมู่บ้านชนบทกับการเพาะปลูกและการปศุสัตว์ของชาวบ้านเชโกสโลวาเกีย การเลี้ยงและผสมพันธุ์สุกร โคนมและม้า ตลอดจนพิพิธภัณฑ์กสิกรรมที่ประเทศฮังการี เป็นต้น ทั้งหมดนี้ ส่วนใหญ่เป็นการเสด็จนอกเหนือจากรายการที่รัฐบาลเจ้าภาพจัดถวายอย่างเป็นทางการ กล่าวคือเป็นไปตามความสนพระราชหฤทัยที่ทรงมีอยู่แล้ว แต่หลายอย่างก็ด้วยมีพระราชประสงค์จะนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่อาณาประชาราษฎรในประเทศ
ความสนพระราชหฤทัยร่วมกันในการ ‘ทำสวน’ จึงนับว่าปรากฏชัดเจนโดยต่อเนื่อง แต่ทั้งสองพระองค์ยังมิได้ทรงมีโอกาส “ลงมือ” ทำสวนอย่างจริงจังจนเมื่อประทับอยู่ในประเทศอังกฤษหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงสละราชสมบัติแล้วในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2477
ม.ร.ว.ปิ่มสาย อัมระนันท์ นัดดาในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ผู้ซึ่งต่อมาเขียนหนังสือเรื่องการทำสวนในกรุงเทพฯ เขียนเล่าความทรงจำของเธอเกี่ยวกับสวนพระตำหนักเกล็น แพมเมิ่นต์ (Glen Pammant) ไว้ว่า จากองค์พระตำหนักมีเนินลาดลงไปยังสนามใหญ่ ไกลออกไปเป็นสนามเทนนิส สวนกุหลาบ สวนผัก สวนครัว และเรือนกระจก ทั้งหมดอุดมสมบูรณ์ด้วยไม้ดอกไม้ผล แล้วจึงถึงป่าละเมาะ พื้นป่าปกคลุมไปด้วยดอกบลูเบลล์ แดฟโฟดิล และพริมโรส ทั้งสองพระองค์จึงทรงสำราญพระอิริยาบถกับการเพาะปลูกตามพระราชนิยม ทั้งนี้เพื่อการบริโภคและการทรงออกกำลังพระวรกาย เธอเล่าเพิ่มเติมว่า ห้องแต่งพระองค์ของสมเด็จฯนั้น “สวย น่ารัก สมกับที่เป็นของสุภาพสตรี ทั้งยังอบอวลไปด้วยกลิ่นหอมเย็น ๆ ของดอกสวีทพี” นิทรรศการไม่อาจจำลองบรรยากาศนี้ได้ แต่ก็ได้นำของสะสมส่วนพระองค์มาจัดแสดงไว้แทน
ครั้นทรงย้ายไปประทับที่พระตำหนักเวนคอร์ต (Vane Court) ทั้งสองพระองค์ทรงวางผังปลูกต้นไม้และดอกไม้ด้วยพระองค์เอง ในสวนมีสะพานหินโค้งทอดข้ามสระน้ำที่ทรงเลี้ยงเป็ดเทศและปลาไว้ “ทรงเพลิดเพลินกับการทอดพระเนตรเป็ดน้ำเทศสีสวยงามเหล่านี้ ซึ่งว่ายวนอยู่ระหว่างกอไม้กลางสวนดอกไม้” ในขณะที่สมเด็จฯทรงปลูกดอกไม้ในสวน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงปลูกดอกคาร์เนชั่นไว้ในเรือนกระจกซึ่งมีพระราชหฤทัยใส่ว่ามีอุณหภูมิพอเหมาะเสมอ สมเด็จฯจะได้ทรงมีไว้ปักแจกันประดับพระตำหนักโดยสม่ำเสมอ
หนังสือพิมพ์อังกฤษรายงานว่า ขณะประทับที่พระตำหนัก เวนคอร์ต ทรงพระกรุณาทำหน้าที่ “มูลนาย” ของหมู่บ้าน พระราชทานถ้วยรางวัลในการประกวดดอกไม้และในงานแข่งม้าข้ามเครื่องกีดขวาง ชาวบ้านในหมู่บ้านชื่นชมพระองค์มาก เพราะทรงเป็นกันเองกับทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และคนขายของตามร้าน อย่างถ้วนทั่วเป็นธรรม ชาวบ้านที่นั่นจึงเชื่อว่าโปรดที่จะประทับอย่างเงียบ ๆ ในประเทศอังกฤษมากกว่าที่จะเสด็จฯกลับสู่สยาม
แต่แล้ว ก็ต้องทรงย้ายจากเวนคอร์ต เพราะสงครามโลกครั้งที่สองอุบัติขึ้น และพระตำหนักนั้นซึ่งโปรดมากที่สุดจะถูกเวนคืนไว้ใช้ในราชการทหารอังกฤษ ทรงเช่าพระตำหนักในชนบทใกล้กรุงลอนดอนมากขึ้น แต่ก็เสี่ยงภัยจากการทิ้งระเบิดของเยอรมัน จึงเสด็จฯหลบภัยไปยังที่ซึ่งห่างไกลมาก 2 แห่งอยู่ระยะหนึ่ง จนเมื่อพระโรคพระหทัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯกำเริบหนัก จึงเสด็จฯกลับไปที่พระตำหนักคอมพ์ตัน เฮาส์ (Compton House) เพื่อรักษาพระองค์
“วันนี้ ฉันรู้สึกสบายมาก ไปเก็บดอกไม้จากบ้านมาดูกันบ้างซิ”
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ รับสั่งกับสมเด็จฯ คู่พระหทัยเช่นนี้เมื่อเช้าตรู่วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 สมเด็จฯ จึงเสด็จฯไปยังพระตำหนักเวนคอร์ตเพื่อทรงเก็บของที่เหลือให้พร้อมส่งมอบสถานที่แก่กองทัพอังกฤษ และเพื่อสนองพระราชประสงค์ ... ดอกไม้... สัญลักษณ์แห่งพระราชปฏิพัทธ์
ระหว่างทางเสด็จฯ ที่เมืองเมดสโตน (Maidstone) ตำรวจอังกฤษสกัดรถพระที่นั่งและทูลให้ทรงทราบว่าพระราชสวามีสวรรคตแล้วอย่างสงบ สมเด็จฯได้เสด็จฯกลับทันที เมื่อเสด็จฯถึง รับสั่งเล่าพระราชทานหม่อมเจ้าการวิก จักรพันธ์ ว่า ระหว่างทางหมอกลงหนา พลันทอดพระเนตรเห็นพระเจ้าอยู่หัวทรงยืนขวางหน้ารถอยู่ “เห็นพิลึกแท้” พระราชหฤทัยผูกพันกันโดยแท้
ระหว่างที่สงครามยังคงดำเนินอยู่ต่อไป สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ผู้มีพระชนม์เพียง 37 พรรษา ทรงเสี่ยงภัยจากลูกระเบิด เสด็จฯพร้อมพระญาติสตรีไปบรรจุสิ่งของ เช่น ผ้าพันแผล ลงหีบห่อ ณ สำนักพยาบาลฉุกเฉินแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอน
แม้เมื่อสงครามสงบลงแล้ว ข้าวปลาอาหารยังคงขาดแคลน ต้องใช้ไข่ผงปรุงอาหาร และลูกเดือยหุงแทนข้าว โดยสมเด็จฯทรงร่วมกับพระญาติสนิทในการประกอบพระกระยาหารและในการล้างถ้วยชาม ที่สำคัญทรงทำสวนด้วยพระองค์เองเป็นกิจวัตร แม้เมื่อไฟไหม้ส่วนหนึ่งของพระตำหนักทำให้จำเป็นต้องทรงย้ายออกไปเป็นการชั่วคราวเพื่อให้ช่างซ่อมแซม ก็ได้เสด็จฯไปทรงดูแลสวนที่พระตำหนักแทบไม่เว้นวัน
ดังนั้น จึงไม่แปลกแต่อย่างใดที่ปรากฏว่าเมื่อเสด็จนิวัติประเทศไทยใน พ.ศ. 2492 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 จะต้องพระราชประสงค์ที่จะทรงมีที่ประทับในชนบทท่ามกลางธรรมชาติ และที่จะทรง “มีความเป็นอยู่แบบหญิงไทยสามัญธรรมดา ด้วยการใช้ชีวิตอย่างเรียบ ๆ อยู่กับญาติ” ของพระองค์ ดังที่รับสั่งเมื่อแรกเสด็จฯกลับมา
ทรงเลือกสถานที่เปล่าเปลี่ยวที่เป็นดงหญ้าและกอแขม แต่ที่สำคัญมีคลองบ้านแก้วไหลผ่าน 5 กิโลเมตรจากตัวเมืองจันทบุรี เนื้อที่ประมาณ 700 ไร่ ซึ่งทรงกู้เงินมาซื้อไว้ เสด็จฯไปประทับครั้งแรก ณ เรือนไม้ไผ่ หลังคาจาก ไม่มีทั้งน้ำประปาใช้ ต้องปั่นไฟเอง แล้วสูบน้ำจากคลองบ้านแก้วมาใช้ โปรดเกล้าฯให้แผ้วถางหญ้าคาออกด้วยรถแทรกเตอร์ซึ่งทรงขับเองเป็นบางครั้ง จัดระบบชลประทานให้น้ำไหลลงเนินไปสู่ที่ต่ำ ทำคลองส่งน้ำลดหลั่นลงมาเป็นระยะ ๆ สู่สระเก็บกักน้ำ โดยมีหม่อมเจ้าประดิษฐา จักรพันธ์ ซึ่งทรงลาออกจากกรมชลประทานมาเป็นกำลังสำคัญในการจัดการถวาย สมเด็จฯทรงปลูกถั่วลิสงบำรุงดินและทรงเก็บเองด้วย เมื่อดินพร้อมแล้วโปรดเกล้าฯให้ปลูกพืชผักสวนครัว และไม้ผล เช่น แตงโม แคนตาลูป (โดยหม่อมเจ้าสิทธิพรเสด็จลงไปทรงสอนวิธีดำเนินการ ) ลางสาด มังคุด ลิ้นจี่ และส้มเขียวหวาน ส่วนพริกไทยพืชประจำถิ่นและเงาะนั้น โปรดเกล้าฯให้ปลูกแต่น้อยแต่พอใช้ จะได้ไม่เบียดเบียนราษฎรในการอาชีพ
เท่ากับว่า ทรงถือคติการผลิตแบบพอเพียงแก่การบริโภคภายในที่ประทับ ซึ่งทรงเรียกง่าย ๆ ว่า “สวนบ้านแก้ว” ตามชื่อคลอง
แต่ก็ทรงสำนึกอยู่เสมอว่า เจ้านายในพระราชวงศ์ พึงทำประโยชน์เพื่อประชาชน จึงได้ทรงจัดที่ประทับเป็นสวนทดลองทางการเกษตรด้วย เพื่อที่ว่าหากพบว่าปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ชนิดใดแล้วได้ผล ชาวบ้านในท้องถิ่นจะได้นำไปใช้เป็นแบบอย่างได้ เท่ากับว่า “ทรงแผ้วถางหญ้าคาเป็นสวนทดลอง” เลยทีเดียว ทั้งหมดนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้จ้างชาวบ้านแถบนั้นเป็นคนงาน ทั้งทำสวน และทอเสื่อ ทรงพระเมตตาไม่ถือพระองค์ ช่างทอเสื่อบางคนภายหลังเป็นข้าหลวงห้องพระบรรทม
โปรดเกล้าฯ ให้ทดลองเลี้ยงสัตว์ด้วย มีวัวพันธ์เนื้อประมาณ 100 ตัว แต่ไม่ได้มีไว้เพื่อฆ่าชำแหละ หากปล่อยให้หากินตามธรรมชาติ เพื่อช่วยปราบหญ้าและใช้มูลเป็นปุ๋ย ทรงเลี้ยงไก่ซึ่งเป็นพันธุ์ตัวเล็กกินน้อยแต่ ไข่ดก เสด็จฯลงพระราชทานอาหารในเล้าทุกวัน ดังที่นิทรรศการจำลองพระราชจริยวัตรไว้
จะโดยบังเอิญหรือไม่ ไม่ทราบ แต่มีหลักฐานปรากฏว่า พระอัยกา (ตา) ของสมเด็จฯ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ต้นราชสกุลคัคณางค์ ณ อยุธยา แผ้วถางสถานที่เปล่าเปลี่ยวห่างไกลจากบ้านเรือนราษฎรที่หนองมน ชลบุรี ทดลองทำสวนและเลี้ยงสัตว์เพื่อที่จะได้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎร มาตั้งแต่ช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ด้วยเสด็จในกรมฯ โปรดการกสิกรรมมาก และได้ประทานคติไว้ว่า “ผู้ใดมีที่ดินแม้แต่ผืนน้อย ๆ ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแผ่นดินในผืนที่ดินนั้น” ทรงสั่งเครื่องถอนตอไม้มาจากสหรัฐอเมริกา พันธุ์มะพร้าวจากจังหวัดชุมพร มาปลูกเป็นจำนวนมาก อีกทั้งลูกโคพันธุ์รัสเซียคู่หนึ่ง มีรูปร่างใหญ่โตกว่าโคไทยมาก เพื่อทดลองขยายพันธุ์ หากแต่ไม่สำเร็จเพราะโคเมียได้ตายไปเสียก่อน โคผู้จึงได้ผสมกับโคไทยต่อมา สวนนี้ต่อมาเมื่อเสด็จในกรมฯประชวรหนักและสิ้นพระชนม์ลง หม่อมสุ่น คัคณางค์ ณ อยุธยา จำต้องทอดทิ้งสวนดังกล่าวเพราะมีภารกิจเพิ่มขึ้น
นอกเหนือจากที่ทรงร่วมในกิจกรรมการเกษตรต่างๆรวมทั้งการทอเสื่อและออกแบบผลิตภัณฑ์เสื่อจันทบูรแล้ว สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯทรงมีสวนส่วนพระองค์ใกล้พระตำหนักเทาที่สวนบ้านแก้ว สวนนี้ออกแบบให้คล้ายกับสวนที่พระตำหนักเวนคอร์ตที่อังกฤษ ในแง่ที่มีสวนหินและสระน้อยใหญ่ เหนือลำธารมีสะพานโค้งทำด้วยไม้ ละม้ายคล้ายคลึงกับสะพานหินโค้งที่เวนคอร์ต ทรงสรรหา เพาะชำ ปลูก ใส่ปุ๋ย รดน้ำ พรวนดิน ต้นไม้ดอกไม้ต่าง ๆด้วยพระองค์เองโดยสม่ำเสมอ นอกเหนือจากไม้ยืนต้นที่ผลัดกันออกดอกตามฤดูกาล และไม้ผล เช่นลิ้นจี่ มังคุด มะยงชิด มะปราง และ เงาะบางยี่ขัน แล้ว ยังมีไม้เสริมสีสันและส่งกลิ่นหอม เช่น ลั่นทม (ลีลาวดี) แก้ว ดอนย่า และไฮเดรนเจีย เป็นต้น และเถาไม้เลื้อย เช่น สายหยุด พุทธชาด พวงคราม พวงโกเมน และพวกหยก ซึ่งอย่างหลังนี้โปรดมากและหายาก ตามสนามทรงปลูกไม้ประเภทหัวในดิน เช่น ว่านสี่ทิศ และบัวสวรรค์ เพื่อให้คล้ายกับทุ่งดอกแดฟโฟดิล และดอกทิวลิปที่อังกฤษ
ครั้นเมื่อพระชนมายุ 64 พรรษา สมเด็จฯได้เสด็จฯจากสวนบ้านแก้วมาประทับที่วังศุโขทัยเป็นการถาวร เพราะ “เศรษฐกิจบังคับใจ” ให้ต้องทรงขาย “บ้านที่ให้ความสุขมาเกือบหนึ่งในสาม” ของพระชนมชีพแก่กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อใช้เป็นสถานที่ตั้งของ วิทยาลัยครู ซึ่งปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จังหวัดจันทบุรี มหาวิทยาลัยดังกล่าวยังคงอนุรักษ์พระตำหนักและบริเวณโดยรอบไว้ เปิดให้ประชาชนชม
ณ วังศุโขทัย สมเด็จฯยังคงทรงดูแลต้นไม้ด้วยพระองค์เองในเรือนเพาะชำหลังพระตำหนักใหญ่เป็นกิจวัตร ภายในเรือนนี้ทรงเพาะดอกไม้ฝรั่ง ทรงเลี้ยงแคคตัสเล็ก ๆ และกล้วยไม้ไว้เป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น ภายในบริเวณวังมีไม้ยืนต้น ไม้ดอก ไม้ประดับนานาพันธุ์ เช่น ตะเคียนทอง กะเบา ตะโก แคฝรั่ง ยางนา มะลิลา มะลิวัลย์ และ พวงแส เป็นต้น “บ้าน” ของพระองค์แห่งแรกและแห่งสุดท้ายนี้ “จึงน่าชื่นชมด้วยธรรมชาติงดงามเฉกเช่นน้ำพระทัย...”
“เหมือนน้ำใจดี ปรานีปราศรัย ผูกจิตสนิทได้ ให้รักจริงเอย ...”
ดังในอีกท่อนหนึ่งของบทร้องเพลงพระราชนิพนธ์ราตรีประดับดาว เถา
“สมเด็จฯ ชาวสวน” คู่พระราชหฤทัยพระปกเกล้าฯ เสด็จสวรรคต ณ วังศุโขทัย เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 สิริพระชนมพรรษาร่วม 80 พรรษา ตามเสด็จพระราชสวามี “ทูลกระหม่อมฟ้าน้อย ที่รักยิ่ง” ไปเมื่อ 43 ปีให้หลัง บัดนี้ทั้งสองพระองค์คงจะสถิตอยู่เคียงกันอยู่เป็นสุขสำราญยิ่งในสวนแห่งสวรรค์เป็นแน่
ส่วนที่ว่าจะทรงสถิตเป็นนิรันดร์ในใจราษฎร์หรือไม่และอย่างไรนั้น พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวน่าจะตระหนักดีว่าตนมีบทบาทสำคัญในการนี้ ในฐานะที่เป็น “แหล่งเรียนรู้” เกี่ยวกับ “บุคคลสำคัญ” สองพระองค์นี้ พิพิธภัณฑ์เปิดเวลา 9.00 — 16.00 น. ทุกวัน เว้นวันจันทร์ โทร. 02-2803413-4