ครั้งแรกของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกในฐานะเจ้าภาพร่วมจัดงานยิ่งใหญ่ระดับโลกในงาน Global South-South Development Expo 2022 (GSSD Expo 2022) ครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 12 - 14 กันยายน 2565 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ภายใต้หัวข้อหลัก "Advancing South-South and Triangular Cooperation for Sustainable COVID-19 Recovery: Toward a Smart and Resilient Future" เพื่อเป็นเวทีหารือแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีด้านการพัฒนาจากทุกภาคส่วนของนานาประเทศที่ขับเคลื่อนความร่วมมือใต้-ใต้และไตรภาคี (South-South and triangular Cooperation) รวมถึงภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม สถาบันการศึกษาและองค์กรต่าง ๆ ภายใต้สหประชาชาติ โดยมีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับคณะกรรมธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (Economic and Social Commission for Asia and the Pacific-ESCAP) และสำนักงานสหประชาชาติเพื่อความร่วมมือใต้-ใต้ (United Nations Office for South-South Cooperation-UNOSS) เป็นหน่วยงานหลักในการจัดงาน
นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ อธิบายความเป็นมาของการจัดงาน GSSD Expo 2022 ว่า "ประเทศในโลกถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มประเทศที่พัฒนาหรือเรียกว่า ประเทศทางเหนือ (Global North) และกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา หรือประเทศทางใต้ (Global South) ในอดีต Global North เป็นฝ่ายให้ความช่วยเหลือกลุ่ม Global South แต่หลายปีที่ผ่านมากลุ่ม Global North เผชิญความท้าทายต่าง ๆ และปัญหาเศรษฐกิจโดยมีแนวโน้มในการให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่ม Global South ลดลง ขณะที่กลุ่ม Global South ต่างก็ประสบปัญหาต่าง ๆ คล้ายกันควบคู่กับการมีศักยภาพมากขึ้น จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่างประเทศทางใต้ หรือ South-South Cooperation หรือความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน และมีการก่อตั้งหน่วยงานด้านการพัฒนาขึ้นทั่วโลก สหประชาชาติ จึงได้เริ่มจัดงาน Global South-South Development Expo เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวปฏิบัติที่ดี รวมถึงเครื่องมือและนวัตกรรมทางสังคมที่ช่วยแก้ไขปัญหาด้านการพัฒนา"
กล่าวได้ว่า ความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้รับการยอมรับว่าเป็นวาระสำคัญของโลกมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 หรือกว่า 72 ปี จากการประชุมเอเชีย-แอฟริกา ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย โดยเป็นหมุดหมายและพัฒนาการสำคัญของการเมืองระหว่างประเทศเนื่องจากในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่หลากหลายประเทศได้ร่วมกันกำหนดวาระสำคัญต่างๆ ที่ได้ส่งผลต่อภาพความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกำลังพัฒนากับประเทศมหาอำนาจและประเทศพัฒนาแล้วมาจนถึงปัจจุบัน
"ความร่วมมือใต้-ใต้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจความต้องการของประเทศกำลังพัฒนา ในการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันบนหลักการสำคัญ เช่น การเคารพอำนาจอธิปไตย การไม่แทรกแซงกิจการภายใน และการส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกัน นอกจากนี้ ยังมีรูปแบบความร่วมมือที่เรียกว่า ความร่วมมือไตรภาคี หรือความร่วมมือ 3 ฝ่าย ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว เป็นความร่วมมือที่ประเทศกำลังพัฒนาที่มีทรัพยากร ความรู้ และความเชี่ยวชาญ ร่วมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เพื่อให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาอีกประเทศหนี่ง ซึ่งในปัจจุบัน ความร่วมมือใต้-ใต้และไตรภาคี ได้กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ดังนั้น งาน GSSD Expo จึงเป็นเวทีสากลเดียวที่ประเทศต่าง ๆ ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา จะมาแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งจะเป็นประโยชน์การต่อยอดการพัฒนา และเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือใหม่ ๆ ที่จะตอบโจทย์ด้านการพัฒนาของประเทศต่าง ๆ รวมถึงไทยด้วย" นางอุรีรัชต์ฯ กล่าว
ความพิเศษของงาน GSSD Expo 2022 ครั้งที่ 11 นี้คือ เป็นครั้งแรกที่จัดในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และสะท้อนเจตนารมณ์ในการร่วมกันขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา และกับประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือไตรภาคี ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อหลังจากโลกได้ประสบสถานการณ์ระบาดของโรค COVID-19 ร่วมกัน เพื่อให้เกิดการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน และสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลง หรือภัยต่าง ๆ อย่างชาญฉลาดด้วยความยืดหยุ่น
ก่อนหน้านี้ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้ปูทางการจัดงาน GSSD Expo 2022 ด้วยการประชาสัมพันธ์และเชิญชวนภาคส่วนต่างๆ ให้มีส่วนร่วมผ่านกิจกรรมการแข่งขัน 3 รายการ ได้แก่ การประกวดคำขวัญ การประกวดภาพถ่ายพร้อมคำบรรยาย และการประกวดวีดิทัศน์สั้น เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมการจัดงานและการเป็นเจ้าภาพของไทยในวาระสำคัญนี้ โดยได้ประกาศผลการประกวดทุกรายการพร้อมกับการเปิดตัวนิทรรศการออนไลน์ด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของไทย (Thailand Virtual Exhibition) เมื่อเดือนมีนาคม 2565 ทั้งนี้ ผลงานที่ชนะการประกวดจะนำมาจัดแสดงในงาน GSSD Expo 2022 พร้อมกับผลงานของประเทศไทยที่ได้รับคัดเลือกจากสหประชาชาติว่าเป็นแนวปฏิบัติที่ดีด้านการพัฒนาด้วย
ในงาน GSSD Expo 2022 ระหว่างวันที่ 12-14 กันยายน ศกนี้ จะมีการกล่าวถ้อยแถลงของผู้แทนระดับรัฐมนตรี ผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานสหประชาชาติและหน่วยงานด้านการพัฒนาของประเทศต่าง ๆ ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ไทยจะได้แสดงวิสัยทัศน์ เน้นย้ำนโยบาย และชูประเด็นที่ไทยมีความโดดเด่นด้านเพื่อสานต่อประเด็นด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ประเทศไทยได้รับหน้าที่เป็นผู้จัดสัมมนาหลักหัวข้อ "การประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy - SEP) เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน" โดยมีวิทยากรจากทั้งไทยและต่างประเทศที่ร่วมดำเนินโครงการและมีความเชี่ยวชาญในด้านนี้มาร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ที่น่าสนใจ นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมงานจะได้รับทราบข้อมูลความร่วมมือและความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา เทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ การขจัดความยากจน ความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน และ ด้านอื่น ๆ เพื่อเป็นแนวทางในการนำไปประยุกต์ใช้รวมทั้งกระชับมาตรการส่งเสริมความร่วมมือและความช่วยเหลือ ที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาและสภาพสังคมของประเทศกำลังพัฒนาในหลากหลายประเด็นและความท้าทายที่แต่ละประเทศเผชิญอยู่ นอกจากนี้ อีกหนึ่งกิจกรรมที่สำคัญในงาน คือ การแข่งขัน Youth4South Entrepreneurship Competition รอบชิงชนะเลิศ ที่ก่อนหน้านี้ ได้เปิดให้เยาวชนและบุคคลทั่วไปที่เป็นผู้ประกอบการจากประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก เข้าร่วมแข่งขันเพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านการประกอบการที่ช่วยขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs) โดยจะมีการประกาศผู้ชนะ 3 รางวัล จากผู้เข้ารอบ 10 คนสุดท้าย คัดเลือกโดยคณะกรรมการร่วมจากประเทศไทย และหน่วยงานอื่น ๆ ของสหประชาชาติ ซึ่งสามารถดูกำหนดการ การจัดงานได้ทาง https://virtual-expo.southsouth-galaxy.org/en/event-programme
กระทรวงการต่างประเทศและสหประชาชาติขอเชิญเจ้าหน้าที่ นักเรียน นิสิต นักศึกษา และพี่น้องประชาชนจากทุกภาคส่วนจากทั้งในไทยและต่างประเทศ เข้าร่วมงาน GSSD Expo 2022 และร่วมเป็นเจ้าภาพ ในงานระดับนานาชาตินี้ โดยผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานแบบตัวต่อตัวที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ จะต้องลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อรับบัตรอนุญาตเข้าศูนย์ประชุมสหประชาชาติได้ที่ https://indico.un.org/event/1000958/ และสำหรับผู้ที่ติดตามงานช่องทางออนไลน์ สามารถเข้าชมการถ่ายทอดสดผ่านทาง Youtube ของ United Nations ESCAP และทาง Facebook:Tica Cooperation ของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลการจัดงานเพิ่มเติมได้ที่ https://virtual-expo.southsouth-galaxy.org/