ประเทศไทยยังมีเด็กและเยาวชนจำนวนมากที่ยังขาดโอกาสเข้าไม่ถึงบริการพื้นฐานทางการศึกษา สังคม และสุขภาพเด็กและเยาวชนเหล่านี้มีหลายรูปแบบ ทั้งเด็กที่ "หลุด" จากระบบการศึกษา เด็กจากครอบครัวยากจน ไม่พร้อม รวมทั้ง"เด็กหลังห้อง" ในโรงเรียนน้อยใหญ่ทั้งหลาย ที่กำลังเสี่ยงต่อการตกไปอยู่ในวัฏจักรอันดำมืด ซึ่งมาพร้อมกับปัญหายาเสพติด เพศ อาชญากรรม ความรุนแรง เป็นต้น
เด็กที่ถูกเรียกว่า "เด็กชายขอบ" ซึ่งมีความเปราะบางเหล่านี้ยังคงมีชีวิต หายใจร่วมโลกใบเดียวกับผู้คนที่อยู่รายล้อมแต่มักจะถูกมองข้าม และถูกตำหนิ ชี้นิ้วว่าเป็น "เหตุแห่งปัญหาของสังคม" และแม้จะมีหลายฝ่ายพยายามให้ความช่วยเหลือ แต่ดูเหมือนมาตรการทั้งหลาย ล้วน "เข้าไม่ถึง" แก่นแกนของปัญหา เพราะมักเป็น "การทำงานกับปัจจัยภายนอก" ขาดการเน้นลึกไปที่ "มิติด้านในจิตใจ" ของเด็กและผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง อันเป็น "รากเหง้า" ที่แท้จริงของปัญหาเหล่านี้ โดยเฉพาะในหลายกรณี ด้วยการเข้าไปดูแลฟื้นฟู จิตใจที่บอบช้ำ สิ้นหวัง และบาดเจ็บเหล่านั้น ให้เกิดการเยียวยาและกลับฟื้นคืนพลัง
ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหน่วยงานที่ทำงานขับเคลื่อนสังคมด้วยการนำเอา "กระบวนการพัฒนามิติด้านใน" เน้นการ "ตื่นรู้" "สร้างพื้นที่ปลอดภัย" และ "การรับฟัง" ให้กับผู้คนกลุ่มต่างๆ ซึ่งรวมถึงการร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ ในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนชายขอบ/เปราะบาง ด้วยแนวคิดเพื่อการแก้ไขปัญหาที่ลงลึกไปถึงการพัฒนา "มิติด้านในของมนุษย์" ซึ่งจะช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหายากๆ ในสังคมได้อย่างแท้จริง และยั่งยืน
รองศาสตราจารย์ ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง ผู้อำนวยการศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึงผลการทำงานกับเด็กชายขอบ/เปราะบาง(marginalized/vulnerable children) ในประเทศไทยว่ายังคงมีสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลังการระบาดหนักของ COVID-19 พบว่ามีเด็กจำนวนไม่น้อยกลับมาพร้อมกับปัญหาการติดสารเสพติด การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสม และการถูกปฏิเสธกลับเข้าสู่ระบบโรงเรียน ฯลฯ
ที่ผ่านมา ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ใช้กลวิธีในการทำงานกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ในการขับเคลื่อนจิตตปัญญาให้เป็น "เครื่องมือ" ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษา" ตั้งแต่เด็กนักเรียน "เสี่ยงหลุดหลังห้อง" จนถึงเด็กที่ปฏิเสธระบบการศึกษา และเด็กที่ตกอยู่ใน "กับดักวงจรความดำมืดของชีวิต" ทั้งหลาย
บทเรียนสำคัญประการหนึ่ง คือ การใช้จิตตปัญญาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง "ห้องเรียนที่มีความทุกข์" เปลี่ยน "เด็กหลังห้อง" ที่สิ้นหวัง ให้เป็น "พลังแห่งอนาคต" ของแผ่นดิน ด้วยการทำงานเพื่อ "ติดอาวุธทางจิตตปัญญา" ให้กับคุณครูทั้งหลาย
"ห้องเรียนแห่งอำนาจ" แบบเดิม ที่ใช้วิธีการสอนแบบสั่งการครูมีอำนาจเหนือนักเรียน คอยควบคุม ชี้ผิดถูก นั้นไม่ใช่คำตอบ หากต้องเปลี่ยนเป็น "พื้นที่แห่งการรับฟัง" ด้วยความเข้าใจ ให้โอกาส ทำให้เด็กๆ ได้ "ตระหนักรู้" ถึง "คุณค่าที่อยู่ภายในตัวเอง"
ครูจะต้องสร้าง "พื้นที่ปลอดภัย" ให้เกิดขึ้น ใช้การรับฟัง ให้โอกาส แทนการใช้อำนาจ จะสามารถเปลี่ยนเด็กนักเรียนที่มีปัญหา สู่การเป็นเด็กที่สามารถพัฒนาต่อไปได้" รองศาสตราจารย์ ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง กล่าว
สิ่งมหัศจรรย์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกจำนวนไม่น้อยมีที่มาจาก"เด็กหลังห้อง" ไม่ว่าจะเป็น "ไอน์สไตน์" อัจฉริยะแห่งโลกวิทยาศาสตร์ ผู้คิดค้น "ทฤษฎีสัมพัทธภาพ" ซึ่งสามารถจุดประกายสู่การพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่างๆ ให้กับโลกในเวลาต่อมาอีกมากมาย ทั้งๆ ที่ในสมัยเด็กเคยสอบตกแทบทุกวิชา หรือ "บีโธเฟน" อัจฉริยะแห่งโลกดนตรีคลาสสิกผู้สามารถประพันธ์ดนตรีอมตะ ทั้งๆ ที่หูไม่ได้ยินเสียง เป็นต้น
ร่วมเปิดมุมมองสู่การค้นพบตัวตนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นคนใหม่ที่ไม่หวั่นในทุกสถานการณ์ชีวิต ผ่านการศึกษาแนวคิดจิตตปัญญาด้วยตัวเองได้ที่ www.ce.mahidol.ac.th Facebook: ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล