เศรษฐกิจสหรัฐฯ ทรุด...กับความท้าทาย

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday March 28, 2008 10:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 มี.ค.--ธนาคารกรุงเทพ
เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจ และมาตรการทางด้านการเงินการคลังที่ออกมาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยากที่จะหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้ในครึ่งแรกของปี 2551 ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 17 มีนาคมศกนี้ ธนาคารกลางสหรัฐประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (Discount rate) เป็นการฉุกเฉินลงร้อยละ 0.25 เหลือร้อยละ 3.25 ต่อมาวันที่ 18 ในเดือนเดียวกัน ได้ปรับลดลงอีกร้อยละ 0.75 เหลือร้อยละ 2.50 และปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Fund Rate) ลงร้อยละ 0.75 จากร้อยละ 3.0 เหลือร้อยละ 2.25
ขณะที่เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจที่สำคัญในเดือนกุมภาพันธ์ แย่กว่าที่คาด ส่งผลให้ตลาดหุ้นดิ่งลงทั่วโลก ซึ่งเครื่องชี้เศรษฐกิจได้บ่งชี้ชัดเจนว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ทรุดหนักกว่าที่ธนาคารกลางสหรัฐคาดไว้มาก โดย
(1) อัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูงเป็นเดือนที่สาม ที่อัตราร้อยละ 4.8 สูงกว่าร้อยละ 4.5 ในเดือนกุมภาพันธ์ของปีที่แล้ว และการขอใช้สิทธิประกันการว่างงานมีจำนวนมากขึ้นนับแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นมา โดย ณ วันที่ 8 มีนาคม มีจำนวน 353,000 ราย
(2) การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคลดลงค่อนข้างชัดเจน โดยการค้าปลีกในเดือนกุมภาพันธ์หดตัวร้อยละ 0.6 เทียบกับเดือนที่แล้ว ประกอบกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนกุมภาพันธ์ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง เหลือ 75.0 จาก 87.3 ในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 15 ปี
(3) การลงทุนของภาคเอกเชนปรับตัวลดลง โดยหดตัวร้อยละ 10.2 ในไตรมาสที่สี่ของปีที่แล้ว และเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐได้ร่วมกับพันธมิตร 3 ประเทศ (ได้แก่ แคนาดา อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์) ประกาศอัดฉีดเงินรอบสองกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องรอบใหม่โดยผ่าน Term Securities Lending Facility (TSLF) โดยให้มีผลในวันที่ 27 มีนาคมนี้ และการที่รัฐบาลสหรัฐฯ มีนโยบายที่จะไม่ช่วยเหลือนักลงทุน ผู้ปล่อยกู้ หรือนักเก็งกำไร จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าจะมีสถาบันการเงินในสหรัฐฯ เป็นจำนวนมากอาจประสบกับภาวะล้มละลาย ขายกิจการ หรือหาผู้ร่วมทุนรายใหม่เพื่อพยุงกิจการ โดยล่าสุดเจ.พี.มอร์แกน เชส แอนด์ โค วาณิชธนกิจรายใหญ่อันดับ 3 ของสหรัฐฯ ได้เข้าซื้อกิจการแบร์สเติร์นส์ วาณิชธนกิจอันดับ 5 เพื่อพยุงฐานะให้พ้นจากการล้มละลาย
วิกฤตความเชื่อมั่น...ฉุดเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า
ถึงแม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่หดตัวติดต่อกันถึงสองไตรมาสตามคำนิยามของการถดถอยทางเศรษฐกิจ แต่เศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีนี้มีแนวโน้มจะขยายตัวต่ำมากหรือไม่เติบโตเลย โดยคาดว่า จะขยายตัวเพียงร้อยละ 0.5 เทียบกับร้อยละ 0.6 ในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว และปีนี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจขยายตัวไม่ถึงร้อยละ 1.0 ส่งผลให้ยุโรปอาจโตไม่ถึงร้อยละ 2.0 และญี่ปุ่นขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 1.0
การถดถอยทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จะเป็นการตกต่ำที่รุนแรงและใช้ระยะเวลานานกว่าวัฎจักรที่ผ่านมา โดยอาจใช้เวลาถึง 2-3 ปี มากกว่าการถดถอยในปี 2534 และ 2544 ซึ่งใช้เวลากว่า 8 เดือน และปี 2524 ใช้เวลาเพียง 16 เดือน เนื่องมาจาก “วิกฤตความเชื่อมั่น” ทำให้เกิดภาวะการชะงักงันในตลาดสินเชื่อทั้งในภาคการเงิน ได้แก่ ธนาคาร ตลาดพันธบัตร กองทุนเฮดจ์ฟันด์ บริษัทประกัน กองทุนรวม การแปลงสินทรัพย์ (Securitization), Leveraged Buyouts และธุรกิจประกันความเสี่ยงด้านสินเชื่อ (Credit Insurance) และลุกลามไปสู่ภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ซึ่งมีความเป็นไปได้ยากที่ความเชื่อมั่นจะปรับฟื้นตัวได้โดยเร็ว เนื่องจาก
(1) ราคาสินทรัพย์ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และยังไม่ถึงจุดต่ำสุด ทั้งนี้ ระดับราคาบ้านในปี 2550 ปรับลดลงร้อยละ 10 จากปี 2549 และคาดว่าจะทรุดหนักในปี 2551 โดยการลดลงของราคาบ้านทุกๆ ร้อยละ 10 จะลดความมั่งคั่งของครัวเรือน (Household Wealth) ลงประมาณ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และลดการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคและบริโภคของครัวเรือนลงประมาณ 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งจะทำให้การผิดนัดชำระคืนหนี้เพิ่มสูงขึ้น โดยปัจจุบันยังไม่สามารถคาดการณ์ระดับราคาต่ำสุดได้อย่างชัดเจน จึงเป็นการยากที่จะประเมินค่าความเสียหายที่แท้จริง
(2) สถาบันการเงินยังไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับมูลค่าความสูญเสียที่แท้จริงจากการลงทุนนอกงบดุลอย่างครบถ้วน ทำให้ยากต่อการแก้ไขหรือยับยั้งปัญหา อย่างไรก็ดี ในภาวะที่ตลาดหยุดการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ ประกอบกับมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอย ฉะนั้นการเปิดเผยความเสียหายอาจจะไม่ช่วยดึงความเชื่อมั่นให้กลับดีขึ้นแต่อย่างใด นอกจากนี้การเร่งขายตราสารอนุพันธ์ในระดับราคาที่ต่ำมาก จะยิ่งทำให้สถานะการณ์เลวร้ายลง และอาจเกิดการล้มละลายเป็นจำนวนมากอย่างที่ไม่ควรจะเป็น
แรงกดดันต่อเศรษฐกิจไทย
ในปีนี้เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับความท้าทายที่เป็นแรงกดดันถึง 2 ด้าน คือ ปัจจัยภายใน ได้แก่ ปัญหาทางการเมือง ที่มีทีท่าจะเกิดความวุ่นวายขึ้นได้อีก และปัจจัยภายนอก คือ ปัญหาความชะงักงันทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ทวีความรุนแรงขึ้น และจะส่งผลให้เกิด
1. ภาวะการตึงตัวของสินเชื่อทั่วโลก อาจส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการลงทุนของประเทศ โดยวิกฤตสินเชื่อโลกยืดเยื้อมานานกว่า 7 เดือน มีความเสี่ยงที่จะขยายตัวมากขึ้น และจะลุกลามไปยังสถาบันการเงินขนาดใหญ่ระดับโลก ตัวอย่างเช่น ชินเซอิแบงก์ ธนาคารรายแรกของญี่ปุ่นที่ตกไปอยู่ในครอบครองของนักลงทุนต่างชาติประกาศปรับลดการทำนายผลกำไรตลอดปี เนื่องจากขาดทุนจากการลงทุนในสินเชื่อการเคหะของสหรัฐถึง 100 ล้านดอลลาร์เมื่อไตรมาสที่แล้ว และนอร์เทิร์น ร็อก เป็นสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อการเคหะรายใหญ่ของอังกฤษ ถูกทางการยึดกิจการเป็นการชั่วคราว และคาดว่าธนาคารพาณิชย์ทั่วโลกจะปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ในบัญชีเพิ่มขึ้นอีก ทั้งนี้ UBS ธนาคารยักษ์ใหญ่แห่งสวิตเซอร์แลนด์ ประมาณการว่า บริษัทการเงินทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากปัญหาซับไพร์ม และขาดทุนอย่างน้อย 600,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
2. การเผชิญกับต้นทุนที่พุ่งสูง เนื่องจากแรงกดดันของ 4 ปัจจัยหลักพร้อมๆ กัน คือ
(i) ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐลดลงมาก โดยอ่อนค่าลงต่ำกว่าระดับ 100 เยนเป็นครั้งแรกนับจากปี 2538 และอ่อนค่ามากสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับเงินยูโร ซึ่งเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเงินหลักในตลาดโลก ทำให้สินค้าที่ส่วนใหญ่มีการซื้อ/ขายในรูปดอลลาร์สหรัฐมีราคาสูงขึ้นทันที
(ii) ราคาน้ำมันพุ่งสูงและเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว การปรับขึ้นลงของราคาน้ำมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับกำลังผลิต หรือความต้องการเท่านั้น ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ เช่น เงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่า ความไม่สงบภายในประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่สำคัญ (เช่น อิหร่าน อิรัก เวเนซูเอล่า) และการเก็งกำไรของตลาด โดยราคาน้ำมันดิบล่วงหน้าในตลาดโลกทำสถิติสูงสุดครั้งใหม่ที่ระดับ 111 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับแต่ปี 2526 แม้ว่าจะมีการคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันอาจปรับตัวลดลงในช่วงครึ่งหลังปี เนื่องจากการเก็งกำไรได้อ่อนตัวลง แต่ระดับราคาน้ำมันในปีนี้ก็จะยังคงอยู่ในระดับสูง
(iii) ราคาสินค้าทุนพุ่งสูง เช่น ปิโตรเคมี เหล็ก เป็นต้น ซึ่งเป็นวัตถุดิบขั้นพื้นฐานในการผลิต เนื่องจากมีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะจีน และอินเดีย โดยเร่งพัฒนาทั้งในด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานและการผลิต
(iv) ราคาสินค้าเกษตรอยู่ในช่วงขาขึ้น เนื่องจากที่ดินเพาะปลูกลดลง และประเทศกำลังพัฒนามีความต้องการวัตถุดิบมากขึ้นตามการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้น โดยราคาจะปรับขึ้นสูงมากในกลุ่มสินค้าพืชน้ำมัน เนื่องจากมีการเร่งขยายการผลิตน้ำมันทดแทนทั่วโลก เพื่อลดภาระน้ำมันแพง
ดังนั้น การทำธุรกิจในภาคการผลิตจะมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น จากการเปิดเสรีของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีจำนวนมากขึ้นและขยายวงกว้างขึ้น ทำให้ธุรกิจมีกำไรต่อหน่วยลดลง จึงจำเป็นต้องมีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งนอกจากการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าโดยการปรับคุณภาพและความแตกต่างแล้ว ในระยะสั้นและปานกลางควรมุ่งเน้นในด้านการบริการ เนื่องจากมีต้นทุนต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนที่ใช้ในการผลิต ส่วนในระยะยาวควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยังเป็นจุดอ่อนของประเทศไทยที่ไม่มีนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีของตนเอง และมีการลงทุนในด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) ค่อนข้างต่ำ
3. ความต้องการสินค้าของตลาดโลกชะลอตัวลง ในปีนี้ทั่วโลกจะเผชิญกับแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้ออย่างหนัก (สาเหตุเช่นเดียวกับข้อ 2) ทำให้ตลอดทั้งปีนี้ ราคาสินค้าจะทยานสูงขึ้น ค่าขนส่งแพงขึ้นทำให้สินค้าที่ผลิตและส่งออกจากประเทศที่ห่างไกลจากตลาดสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งผลให้การส่งออกชะลอตัวลง โดยประเทศที่ส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นหลักจะได้รับผลกระทบค่อนข้างสูง และหากการบริโภคภายในประเทศของประเทศส่งออกดังกล่าวอยู่ในภาวะที่อ่อนแอ จะได้รับผลกระทบมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจขาดแรงส่งที่มากพอ
4. ตลาดขั้วใหม่มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยเฉพาะจีน และอินเดีย นอกจากตลาดหลักเดิม (ได้แก่ สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น) จะประสบกับเศรษฐกิจชะลอตัวแล้ว ยังมีการดำเนินมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษีเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศที่พึ่งพาการส่งออกไปตลาดหลักเดิมสูง และผลกระทบดังกล่าวเริ่มปรากฎให้เห็นและจะมีความชัดเจนขึ้นในครึ่งปีหลัง
โดยการส่งออกของจีน ซึ่งมีบทบาทสูงเกือบร้อยละ 40 ของ GDP ของประเทศ ได้ส่งสัญญานอ่อนแรงลง โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปีชะลอตัวลงค่อนข้างมาก ในอัตราร้อยละ 16.8 เทียบกับร้อยละ 24.7 ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
ขณะที่ อินเดียซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเอเชีย กำลังประสบภาวะชะลอตัว โดยรัฐบาลอินเดียคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 8.8 ในปีนี้ เทียบกับระดับร้อยละ 9.6 ในปี 2550 และจะชะลอตัวมากในปีหน้าที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 7 เพราะเศรษฐกิจโลกภายใต้การนำของสหรัฐฯ ตกอยู่ในภาวะซบเซา การควบคุมนโยบายการเงินอย่างเข้มงวด และการแข็งค่าขึ้นอย่างมากของค่าเงินรูปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์
5. ความเสี่ยงทางการเงินสูงขึ้น ภาคการเงินจะยังคงเป็นประเด็นร้อน เนื่องจากค่าเงินในภูมิภาคเอเซียจะแข็งค่ามากขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ที่ทรุดลงมาก นอกจากนี้การตรึงอัตราดอกเบี้ยยังผลให้เกิดการเก็งกำไรค่าเงินในช่วงสั้น และการที่ธนาคารกลางสหรัฐปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องและปรับลดลงเร็ว จะเป็นตัวเร่งให้เงินทุนไหลออกจากสหรัฐฯมากขึ้น โดยบางส่วนจะไหลเข้ามาเก็งกำไรในส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในภูมิภาคเอเซียรวมถึงประเทศไทย เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศหลักที่ยังมีการเติบโตดีในภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงมาก ดังนั้นการบริหารความเสี่ยงทางการเงินจึงเป็นประเด็นความสำคัญ และมีความสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับภาคธุรกิจขนาดกลางและเล็ก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ