กทม. เดินหน้าบังคับใช้กฎหมายอาหารปลอดภัย 5 เขตนำร่องอย่างจริงจัง

ข่าวทั่วไป Friday March 28, 2008 10:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 มี.ค.--กทม.
กรุงเทพมหานครลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามนโยบายการบังคับใช้กฎหมายด้านอาหารปลอดภัยในพื้นที่นำร่องบริเวณ ซ.อารีย์ เขตพญาไท เพื่อควบคุมดูแลการจำหน่ายอาหารในกรุงเทพมหานครให้มีคุณภาพ ปลอดภัย และคุ้มครองผู้บริโภค เล็งเอาผิดทางกฎหมายกับผู้ค้าที่ฝ่าฝืน
เมื่อวานนี้ (27 มี.ค. 51) เวลา 12.00 น. เขตพญาไท กทม. : ดร.วัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามนโยบายการบังคับใช้กฎหมายด้านอาหารปลอดภัยในพื้นที่เขตพญาไท
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การดำเนินงานตามมาตรการดังกล่าวถือเป็นการบังคับใช้กฎหมายด้านอาหารปลอดภัยอย่างจริงจังเพื่อเป็นการควบคุม ดูแลการจำหน่ายอาหารในกรุงเทพมหานครให้มีคุณภาพ ปลอดภัย และเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค โดยได้กำหนดเขตนำร่อง จำนวน 5 เขต ประกอบด้วย เขตพญาไท เขตดุสิต เขตบางซื่อ เขตห้วยขวาง และเขตราษฎร์บูรณะ ทั้งนี้เพื่อหารูปแบบที่สามารถดำเนินการได้จริงและมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อใช้เป็นต้นแบบการดำเนินการขยายผลไปยังทุกสำนักงานเขต คาดว่าเดือนพฤษภาคมจะขยายผลการดำเนินงานประมาณ 12 — 15 เขต ซึ่งจะทำให้กรุงเทพมหานครเป็น “เมืองอาหารปลอดภัย อาหารปลอดโรค ปลอดสารพิษ ประชาชนบริโภคได้อย่างมั่นใจ” และเป็นเมืองน่าอยู่ ประชาชนสุขภาพดี และมีความสุข โดยการดำเนินการในครั้งนี้เน้นตรวจสอบผู้ประกอบการจำหน่ายอาหารทั้งผู้ค้าอาหารริมบาทวิถีและร้านอาหารในบริเวณจุดที่กำหนดของเขตพญาไทให้มีการเตรียม ปรุง ประกอบ และจำหน่ายอาหารที่สะอาด ปลอดภัย โดยจากการตรวจสอบพบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ในการดูแล รักษาความสะอาดในการปรุงอาหาร แต่ยังมีบางส่วนที่จะต้องมีการปรับปรุงในด้านการเปลี่ยนพาชนะที่ใส่เครื่องปรุงอาหารให้มีความสะอาดมากยิ่ง รวมทั้งการดูแลในเรื่องพื้นซึ่งมีคราบน้ำมันหยดเปื้อนซึ่งผู้ประกอบการจำหน่ายอาหารรับจะปรับปรุงให้ได้มาตรฐาน โดยกรุงเทพมหานครมีเป้าหมายดำเนินการในเขตนำร่องให้เห็นผลภายภายในปลายเดือนมีนาคมนี้ ส่วนการดำเนินการที่ผ่านมากองสุขาภิบาลอาหาร สำนักอนามัย ได้ดำเนินการตรวจประเมินสุขลักษณะและคุณภาพอาหาร พร้อมสำรวจความพึงพอใจ และความต้องการของประชาชนที่ใช้บริการในพื้นที่เขตนำร่องทั้ง 5 เขต ครั้งที่ 1 แล้ว ระหว่างวันที่ 22 — 25 มกราคม 2551 และจะดำเนินการครั้งที่ 2 ในวันที่ 1 — 4 เมษายน 2551 เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ประชาชนได้รับความปลอดภัย จากการบริโภคอาหารในพื้นที่ต่างๆ
ดร.วัลลภ ฯ กล่าวอีกว่า สำหรับกฎหมายที่นำมาบังคับใช้ด้านการจำหน่ายอาหารปลอดภัยนั้น ประกอบด้วย พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การจำหน่ายในที่หรือทางสาธารณะ พ.ศ. 2545 ระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะ พ.ศ.2546 กฎกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 4 (2542) ว่าด้วยการตลาด ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการตลาด พ.ศ. 2546 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง สถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร คำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุขต่าง ๆ อาทิ ฉบับที่ 1 / 2546 เรื่องการใช้มาตรการทางกฎหมายสาธารณสุขเพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล และรัฐมนตรีด้านการท่องเที่ยวและความปลอดภัยของอาหาร พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 โดยในการดำเนินการเบื้องต้นนั้นสำนักงานเขตจะรณรงค์ขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการจำหน่ายอาหารให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในการปรุงอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ รวมทั้งดูแลบริเวณโดยรอบพื้นที่ปรุงอาหารให้สะอาด ปลอดภัย ซึ่งหากยังตรวจพบว่ามีการฝ่าฝืนอยู่กรุงเทพมหานครก็จะดำเนินการยึดใบอนุญาตประกอบการอาหาร และเอาผิดทางกฎหมายกับผู้ประกอบการอาหารอย่างเด็ดขาดด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ