นายแพทย์พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย เภสัชกรหญิงศิริวรรณ ชัยสมบูรณ์พันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสมุนไพร ประชุมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยมีผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนร่วมให้ข้อคิดเห็น เพื่อพัฒนาการวิจัยที่เป็นประโยชน์และตอบสนองความต้องการของประชาชนผู้บริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพร ณ ห้องประชุม 110 ชั้น 1 อาคาร 100 ปีการสาธารณสุขไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี
นายแพทย์พิเชฐ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมว่า ภารกิจหลักของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นอกจากงานตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการแล้ว ยังมีภารกิจที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยและพัฒนา องค์ความรู้ นวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ และผลงานจากวิจัยและพัฒนา นวัตกรรมและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นหนึ่งในงานที่ได้การยอมรับในระดับสากล และเป็นนโยบายมุ่งเน้นของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ให้มีศักยภาพ โดยมุ่งเป้าให้เป็น ยา เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์อาหารหรือเสริมอาหาร เพื่อให้เกิดการแปรรูปสมุนไพรให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ยกระดับให้ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง
นายแพทย์พิเชฐ กล่าวต่ออีกว่า ปัจจัยนำเข้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของการวิจัยและพัฒนา นวัตกรรมและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร คือ การรับฟังและเรียนรู้ความต้องการของตลาด ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือผู้นำเอาองค์ความรู้และนวัตกรรมสมุนไพรที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์คิดค้นไปต่อยอดและทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในระดับอุตสาหกรรม หรือ Mass Production หรืออีกนัยหนึ่งก็คือผู้รับบริการงานวิจัย ด้านสมุนไพรของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์นั้นเอง สิ่งนี้ทำให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สถาบันวิจัยสมุนไพรเห็นถึงความสำคัญจัดประชุม เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขึ้นโดยนำข้อคิดเห็น ประเด็นปัญหา อุปสรรค ความต้องการ และข้อเสนอแนะต่างๆ ของผู้เข้าร่วมการประชุม ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในการกำหนดทิศทางและพัฒนางานวิจัยสมุนไพร รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ประกอบการ ก่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างและตอบโจทย์ประชาชนผู้บริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพร จากงานวิจัยของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามประชาชนหรือผู้ประกอบการสามารถให้ข้อเสนอแนะในด้านการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพิ่มเติมได้ที่สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทางอีเมล mpri_dmsc@dmsc.mail.go.th หรือ Facebook : สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์