ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ชี้ธุรกิจแนวหน้าด้าน ESG ใช้การซื้อขายคาร์บอนเครดิตและใบรับรองพลังงานหมุนเวียน เป็นเครื่องมือสำคัญในการก้าวสู่ Net Zero Emission และเป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% คาดแนวโน้มตลาดโลกและไทยเติบโตสูง แนะผู้ประกอบการเร่งเตรียมความพร้อม ส่วนภาครัฐควรมีมาตรการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า การมีตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต และใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ประเทศและภาคธุรกิจมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) และเป้าหมายการใช้พลังงานสะอาด อีกทั้งเป็นแต้มต่อในการดึงดูดลูกค้าและนักลงทุนที่ให้ความสำคัญด้าน ESG ตลอดจนเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับผู้พัฒนาโครงการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขายคาร์บอนเครดิต และผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากการขาย REC และยังเป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางและพัฒนานวัตกรรมในการซื้อขาย
"หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องส่งเสริมเครื่องมือเหล่านี้ คือ ความตื่นตัวของบริษัทชั้นนำของโลกที่ตั้งเป้าหมาย Net zero emission รวมถึงเป้าหมายการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 100% (RE100) ดังจะเห็นได้จากมีบริษัทที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม RE100 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากปี 2562 ที่มีเพียง 261 ราย ขยับสูงเป็น 378 รายในปัจจุบัน หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 13% โดยพบว่าเป็นบริษัทข้ามชาติที่ดำเนินธุรกิจในไทยไม่ต่ำกว่า 50 บริษัท ซึ่งจะทำให้มีความต้องการ REC ในไทยเพิ่มขึ้นตามไปด้วย"
นายณัฐพร ศรีทอง นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตของโลกจะเติบโตสูงถึง 15 เท่าตัวในช่วง 10 ปีข้างหน้า และ 100 เท่าตัวเมื่อมองไปถึงปี 2593 โดยตลาดมี 2 รูปแบบ คือ 1) ภาคบังคับ หรือรู้จักในชื่อ "Emission Trading Scheme (ETS)" 2) ภาคสมัครใจ โดยผู้ประกอบการที่ต้องการลดก๊าซเรือนกระจกจะซื้อคาร์บอนเครดิตทดแทนการลดก๊าซเรือนกระจกด้วยตัวเอง ส่วนผู้ขายจะเป็นองค์กรอื่นที่ดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกได้ตามมาตรฐาน เช่น Verified Carbon Standard (VCS/VERRA) และ Gold Standard ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับโลก หรือมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction: T-VER) ทั้งนี้ ราคาคาร์บอนเครดิตในแต่ละตลาดหรือแต่ละมาตรฐานจะมีความแตกต่างกัน ปัจจุบันราคาคาร์บอนเครดิตโลกอยู่ที่ประมาณ 25 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตันคาร์บอนฯ ขณะที่ราคาคาร์บอนเครดิตไทยเฉลี่ยล่าสุดปี 2565 อยู่ที่ 107 บาท หรือประมาณ 3 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตันคาร์บอนฯ
ดร.ชัยสิทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวเสริมว่า การซื้อขายใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (REC) เป็นเครื่องมือหนึ่งที่เติบโตควบคู่กับการซื้อขายคาร์บอนเครดิต โดยผู้ขาย คือผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนประเภทต่างๆ อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานชีวมวล ที่ได้การรับรองมาตรฐาน ส่วนผู้ซื้อสามารถอ้างสิทธิ์ในการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน จึงเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการกลุ่ม RE100 บรรลุเป้าหมายการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมาพบว่า การซื้อขาย REC ในระดับโลกเติบโตอย่างก้าวกระโดด เช่น ใบรับรองภายใต้มาตรฐานของ The International REC Standard (I-REC) ที่นิยมใช้กันมากกว่า 30 ประเทศทั่วโลกรวมถึงไทย มีการอ้างสิทธิ์เพิ่มขึ้นถึง 103% สำหรับในไทยเติบโตสูงถึง 135% และคาดว่าจะขยายตัวได้อีกมากในอนาคต
"ผู้ประกอบการควรเตรียมพร้อมและศึกษาทำความเข้าใจการซื้อขายคาร์บอนเครดิตและ REC ไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะผู้ที่ส่งออกสินค้าไปยัง EU และสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มจะใช้มาตรการเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน (CBAM) และมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ตลอดจนผู้ประกอบการที่ต้องการนำผลการดำเนินงานเหล่านี้ไปแสดงในรายงานความยั่งยืน เช่น One Report และประกอบการรับประเมินดัชนี Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) ขณะที่ภาครัฐควรสนับสนุนโครงการที่นำไปสู่คาร์บอนเครดิตที่มีคุณภาพสูง เป็นมาตรฐานสากล เนื่องจากโครงการแต่ละประเภทจะได้รับการยอมรับต่างกันหรือคาร์บอนเครดิตที่ได้ก็จะมีมูลค่าไม่เท่ากัน รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาแพลตฟอร์มในการซื้อขาย เช่น การนำเทคโนโลยี Blockchain มาประยุกต์ใช้ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านการเชื่อมโยงข้อมูลอย่างครบถ้วน"